เพชรบุรี-ชาวบ้านตำบลบางจาน จ.เพชรบุรี สืบสานประเพณีถวายกระจาด

เพชรบุรี-ชาวบ้านตำบลบางจาน จ.เพชรบุรี สืบสานประเพณีถวายกระจาด

เพชรบุรี-ชาวบ้านตำบลบางจาน จ.เพชรบุรี สืบสานประเพณีถวายกระจาด

ภาพ/ข่าว:สุรพล นาคนคร
ช่วงเช้าของวันที่ 25 กรกฎาคม 2566 บริเวณถนนคันคลองชลประทาน สายบางจาน – ดอนผิงแดด ช่วงตั้งแต่วัดโพธิ์ทัยมณี ถึงวัดปากน้ำ ต.บางจาน อ.เมือง จ.เพชรบุรี ประชาชนชาวตำบลบางจานได้จัดงานประเพณีถวายกระจาด ที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นเวลาหลายร้อยปี ซึ่งจะเวียนมาบรรจบครบในปีอธิกมาส คือปีที่มีเดือน 8 สองหน ในวันพระขึ้น 8 ค่ำ เดือน 8 หนหลัง ประกอบพิธีถวายกระจาด อันเป็นที่ตั้งของศาลคุณพ่อบ้านน้อย โดยมี นางวันเพ็ญ มังศรี รอง ผวจ.เพชรบุรี นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ส.ส.เพชรบุรี เขต 1 นางสาวคนึง ไข่ลือนาม วัฒนธรรมจังหวัดเพชรบุรี ให้เกียรติมาร่วมงาน โดยในปีนี้มีชาวบ้านนำกระจาดมาร่วมงาน จำนวน 139 ลูกกระจาด
             นายเสถียร นิลทะสิน นายก อบต.บางจาน กล่าวว่า งานประเพณีถวายกระจาย หรืองานกระจานของตำบลบางจานที่ปฏิบัติกันมาเป็นร้อยปี เนื่องจากเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ในยุคพระมหาธรรมราชาต่อเนื่องสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ตามพงศาวดารบันทึกไว้ว่า พระยาละแวก แม่ทัพเขมรได้ยกกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาหลายครั้ง ครั้งหนึ่งได้ยกกองทัพเรือข้ามทะเลอ่าวไทยมาขึ้นฝั่งที่เมืองเพชรบุรี ราวปี พ.ศ. 2115 เดินทัพเลียบฝั่งคลองบางจานเข้ามาตีเมืองเพชรบุรี เส้นทางดังกล่าวต้องผ่านหมู่บ้านบางจานที่มีผู้คนอยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านส่วนหนึ่งต่อสู้ข้าศึกศัตรู ส่วนหนึ่งพากันหลบหนีไปซ่อนในป่าห่างจากหมู่บ้าน พร้อมทั้งได้บนบานสานกล่าวต่อเจ้าทุ่งเจ้าป่า เจ้าเขา และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายให้คุ้มครองปกปักรักษา เมื่อทัพของพระยาละแวกผ่านไป ชาวบ้านที่รอดชีวิตจึงได้แก้สินบนด้วยการถวายอาหารคาวหวาน ขนม ผลไม้ต่าง ๆ ที่บรรจุอยู่ในลูกกระจาดเป็นการบวงสรวง จัดต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีที่เป็นปีอธิกมาส คือปีที่มีเดือน 8 สองหน กำหนดในวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 8 หนหลัง เดิมจัดชาวบ้านใช้พื้นที่บริเวณทุ่งนาใกล้วัดนอกทุ่ง ซึ่งเป็นวัดร้างใช้เป็นสถานที่จัดงาน ต่อมาได้ย้ายมาจัดบริเวณถนนคันคลองชลประทาน โดยทางเจ้าของกระจาดจะทำการนิมนต์พระภิกษุสงฆ์มารับการถวายกระจาด
              ครอบครัวที่รับงานกระจาด จะต้องจัดเตรียมสิ่งของอาคารคาว หวาน ขนม ผลไม้ต่าง ๆ ใส่ไว้ในกระจาดเพื่อนำถวายพระสงฆ์ ลูกกระจาดเป็นภาชนะจักสานด้วยไม้ไผ่ ขอบปากกว้าง ที่ก้นกระจาดติดด้วยไม้คานจำนวน 2 อัน มีไว้สำหรับแบกหามกระจาด นอกจากนี้ยังต้องเตรียมสำหรับอาหารใส่พานเพื่อเซ่นไหว้คุณพ่อบ้านน้อย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่น ๆ ที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือ   สำหรับอาหารที่ใช้ในกระจาด ประกอบด้วย อาหารคาว ได้แก่ อาหารทะเลต้มสุก แมงดาทะเล ปูทะเล กุ้ง หอย ไข่ต้ม หมูแถบ โดยเฉพาะ แมงดาทะเล และปูทะเล เป็นอาหารสำคัญที่นิยมใส่พานเครื่องเซ่นไหว้เจ้าพ่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ตามความเชื่อที่ว่า แมงดาทะเลเป็นเจ้าสมุทร เช่นเดียวกับปูทะเลที่มีก้ามคู่หน้าใหญ่แข็งแรงแสดงความทรงพลัง   อาหารหวาน เป็นขนมแบบโบราณ ได้แก่ ข้าวเหนียวแดง กาละแม ข้าวตอก หัวโขน ขนมพิมพ์ ข้าวตู สองเกลอ สามเกลอ สี่เกลอ ขนมกงเกวียน ข้าวพอง ขนมโตนดทอด สาเกเชื่อม ขนมทองหยิบ ขนมทองหยอด ขนมหม้อแกง ขนมลูกชุบ ขนมฝอยทอง ฯลฯ ผัก เช่น ฟักทอง บวบ แตงกวา มะระ หอมหัวใหญ่ มะเขือ ขิง ผลไม้ตามฤดูกาล เช่น ทุเรียน เงาะ มังคุด ลำไย ลิ้นจี่ ส้มเขียวหวาน ส้มโอ ลองกอง กล้วยไข่ กล้วยหอม เป็นต้น รวมถึงเครื่องครัว เช่น กะปิ น้ำปลา พริก กระเทียม หัวหอม น้ำตาล เกลือ เป็นต้น รวมถึงมีบุหรี่ สุรา ดอกไม้ธูปเทียนใช้ในการเซ่นไหว้  นอกจากนี้ยังเจ้าของกระจาดยังจัดเตรียมภัตตาหารเช้าสำหรับถวายพระภิกษุสงฆ์ที่มารับกระจาด โดยนิมนต์พระสงฆ์ 1 รูปต่อกระจาด 1 ลูก ปัจจุบันมีนางสาหร่าย ขวัญอ่อน อายุ 75 ปี ผู้ประกอบพิธีบวงสรวงอันเชิญเทพเจ้าต่าง ๆ รับของเซ่นไหว้บวงสรวง จากการสอบถามเจ้าของกระจาดทำให้ทราบว่า ค่าใช้จ่ายในงานกระจาดอยู่ที่ประมาณ 1 หมื่นกว่าบาทต่อกระจาด 1 ลูก โดยในปีนี้มีชาวบ้านนำลูกกระจาดเข้าร่วมประกอบพิธีจำนวน 139 ลูก

CATEGORIES
TAGS
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!