องคมนตรีลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการก่อสร้างอาคารศูนย์ฝนหลวงภาคเหนือจ.ตากพร้อมติดตามสถานการณ์น้ำเขื่อนภูมิพล

องคมนตรีลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการก่อสร้างอาคารศูนย์ฝนหลวงภาคเหนือจ.ตากพร้อมติดตามสถานการณ์น้ำเขื่อนภูมิพล

ภาพ/ข่าว:ชวลิต วิกุลชัยกิจ

            องคมนตรีลงพื้นที่ตรวจติดตามความก้าวหน้าการก่อสร้างอาคารศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือจังหวัดตากพร้อมติดตามสถานการณ์น้ำเขื่อนภูมิพล ด้านอธิบดีกรมฝนหลวงเผยผลการปฏิบัติการฝนหลวงประจำปี 65 บินปฏิบัติการฝนหลวงทั้งสิ้น 145 วัน 1,702 เที่ยวบิน มีฝนตกคิดเป็นร้อยละ 97.5 พื้นที่ที่ได้รับประโยชน์ 174.3 ล้านไร่ มีฝนตกในพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนและอ่างเก็บน้ำรวม 58 แห่ง ปริมาณน้ำทั้งสิ้นรวม 142.9 ล้าน ลบ.ม.

      วันที่ 14 กันยายน 2565 เวลา 09.30 น. พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ลงพื้นที่ตรวจติดตามความก้าวหน้าการก่อสร้างอาคารศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือจังหวัดตาก ณ ตำบลน้ำรึม อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก พร้อมรับฟังสรุปผลการปฏิบัติการฝนหลวงประจำปี 2565 โดยมีนายสำเริง แสงภู่วงค์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตรเป็นผู้รายงานฯ ซึ่งอาคารศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือจังหวัดตากสร้างขึ้นเพื่อเป็นศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งและบรรเทาภัยพิบัติ ใน 7 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ตาก แม่ฮ่องสอน พะเยา ลำปาง และ ลำพูน การทำฝนเพื่อเติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ ได้แก่ เขื่อนภูมิพล จ.ตาก เขื่อนแม่กวงอุดมธารา และเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล จ.เชียงใหม่ เขื่อนกิ่วลม เขื่อนกิ่วคอหมา และเขื่อนแม่มอก จ.ลำปาง โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ขอใช้พื้นที่ราชพัสดุจากกรมธนารักษ์จัดสร้างศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือจังหวัดตาก มีกำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2565

     นายสำเริง แสงภู่วงค์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า ขณะนี้การก่อสร้างอาคารศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือจังหวัดตาก มีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 96% เหลือเพียงงานระบายน้ำบ่อพัก งานถนนคอนกรีตงานอาคารสำนักงานที่อยู่ระหว่างงานปรับภูมิทัศน์งานไฟฟ้าส่องสว่าง คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2565 โดยศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือจังหวัดตาก จะเป็นศูนย์ปฏิบัติการฯ ทดแทนศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากท่าอากาศยานตาก ตั้งอยู่ในพื้นทีที่ไม่ขัดขวางเส้นทางการบินพาณิชย์ สามารถรองรับภารกิจของกรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความพร้อมในด้านอาคารสถานที่และโครงสร้างพื้นที่ ความยาวทางวิ่งของสนามบินมีระยะทางที่เหมาะสมในการ ขึ้น-ลง ของเครื่องบินกรมฝนหลวงและการบินเกษตร และในอนาคตพื้นที่ดังกล่าวยังสามารถสร้างโรงเก็บและซ่อมบำรุงอากาศยานเพื่อรองรับเครื่องบินของกรมฝนหลวงและการบินเกษตรที่มีในปัจจุบันและในอนาคต นอกจากนี้ยังเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับเป็นศูนย์การบินดัดแปรสภาพอากาศระดับสากลในอนาคตต่อไป     นายสำเริง กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผลการปฏิบัติการฝนหลวงประจำปี 2565 นับตั้งแต่เริ่มเปิดหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ เป็นต้นมา มีการขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงทั้งสิ้น 145 วัน จำนวนเที่ยวบินรวม 1,702 เที่ยวบิน พบว่ามีฝนตกจากการปฏิบัติการ คิดเป็นร้อยละ 97.5 พื้นที่ที่ได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติการฝนหลวง 174.3 ล้านไร่ มีฝนตกในพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนและอ่างเก็บน้ำรวม 58 แห่ง ปริมาณน้ำทั้งสิ้นรวม 142.9 ล้าน ลบ.ม. จึงเห็นได้ว่าจากการปฏิบัติการฝนหลวงดังกล่าว สามารถบรรเทาปัญหาภัยแล้งให้แก่พี่น้องประชาชนในห้วงระยะเวลาที่ผ่านมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ด้วยสถานการณ์ในปัจจุบันมีฝนตกชุกหนาแน่นและมีพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมขัง กรมฝนหลวงและการบินเกษตร
ดังนั้น จึงได้ทำการปิดหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงทั้งหมดเร็วขึ้น ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2565 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ แต่เพื่อให้การปฏิบัติการฝนหลวงซึ่งต้องอาศัยปัจจัยความชื้นสัมพัทธ์เป็นสิ่งสำคัญและให้การปฏิบัติการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จะยังคงหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็วไว้ จำนวน 2 ชุด ณ สนามบินนครสวรรค์ ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2565 โดยใช้เครื่องบิน Casa จำนวน 2 ลำ และเครื่องบิน Caravan จำนวน 2 ลำ ให้มีความพร้อมในการปฏิบัติการฝนหลวงเพิ่มปริมาณน้ำเหนือเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ ซึ่งแม้ขณะนี้ฝนจะตกชุกหนาแน่น แต่ปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพล หรือเขื่อนอื่นๆ ยังมีปริมาณไม่มากนัก เพื่อสำหรับเก็บกักไว้ให้รองรับกับความต้องการใช้น้ำของประชาชนในการอุปโภคบริโภคและทำการเกษตรในช่วงฤดูแล้งที่จะมาถึงหลังจากสิ้นสุดฤดูฝนในปีนี้ ด้านสถานการณ์น้ำเขื่อนภูมิพล มีความจุ13, 462ล้านลบ.ม. ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ56% แต่เป็นปริมาณน้ำที่ใช้การได้เพียง 39%

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!