ปทุมธานี-บทความการตลาดสหกรณ์

ปทุมธานี-บทความการตลาดสหกรณ์

ภาพ/ข่าว:อนันต์  วิจิตรประชา
ขอบคุณข้อมูล:นงค์นุช พุ่มประดล  นักวิชาการสหกรณ์ชำนาญการพิเศษ  สำนักงานสหกรณ์จังหวัดปทุมธานี

บทความการตลาดสหกรณ์

                   จากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบันของการดำเนินธุรกิจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจที่ขายสินค้า หรือบริการ สิ่งที่จะนำพาให้การดำเนินธุรกิจประสบความสำเร็จ มีปัจจัยที่สำคัญหลายประการ หนึ่งในนั้น ที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าปัจจัยด้านอื่น คือการทำการตลาดนั่นเอง โดยที่เมื่อเราพิจารณาถึงนิยามของการตลาดจะเห็นถึงหน้าที่ของการตลาดที่สำคัญไม่น้อยเลย กล่าวคือ การตลาดคือการกระทำกิจกรรมต่างๆ ในธุรกิจที่ทำให้เกิดการนำสินค้าหรือบริการจากผู้ผลิตไปสู่ผู้บริโภค หรือผู้ใช้บริการนั้นๆ โดยได้รับความพอใจ ขณะเดียวกันก็บรรลุวัตถุประสงค์ของกิจการ ซึ่งองค์ประกอบของการตลาด หลักๆ มี 3 ประการ คือ ผู้ขาย ผู้ซื้อ และตลาดที่ทำการซื้อขายกันรวมถึงข้อตกลงหรือเงื่อนไขในการซื้อขายกัน ซึ่งองค์ประกอบทั้ง 3 ส่วนนี้เองที่เป็นปัจจัยพื้นฐานของการทำหน้าที่ด้านการตลาดของแต่ละองค์กรธุรกิจ ไม่เว้นแม้กระทั่งสหกรณ์ ซึ่งเป็นสถาบันเกษตรกรที่ได้จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นเป็นนิติบุคคล ตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 โดยมีวัตถุประสงค์แตกต่างกันไปตาม แต่ละประเภทของสหกรณ์นั้นๆ แต่จุดประสงค์หลักๆคือสหกรณ์จัดตั้งขึ้นและร่วมกันดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของสมาชิก โดยการช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
                   ในที่นี้ผู้เขียนจะขอกล่าวถึงลักษณะของแต่ละตลาดที่สหกรณ์ได้ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ให้ผู้อ่านได้เข้าใจอย่างครบถ้วน ซึ่งแยกได้เป็น 3 ลักษณะ กล่าวคือ การตลาดกับสมาชิกสหกรณ์ การตลาดระหว่างสหกรณ์ด้วยกันเอง และการตลาดกับหน่วยงานภายนอกทั้งภาคราชการและเอกชน ซึ่งการตลาดของสหกรณ์ ทั้ง 3 ลักษณะนั้น จะเห็นได้ว่าการตลาดของสหกรณ์ให้ความสำคัญกับการทำการตลาดกับสมาชิกสหกรณ์เป็นลำดับต้นๆ และให้ความสำคัญกับการทำการตลาดระหว่างสหกรณ์ด้วยกันเองเป็นลำดับถัดมา เริ่มที่การตลาดของสหกรณ์ในลักษณะที่หนึ่งคือการทำการตลาดกับสมาชิกสหกรณ์ โดยที่สหกรณ์แต่ละแห่งที่จัดตั้งขึ้นมาจะต้องมีวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งเพื่อตอบสนอง หรือเพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของบรรดาสมาชิก โดยวิธีช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามหลักสหกรณ์ ซึ่งการตลาดของสหกรณ์นั้นๆย่อมต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งเป็นสหกรณ์ประเภทนั้นด้วย ยกตัวอย่างเช่น สหกรณ์การเกษตรพอเพียง จำกัด ตั้งขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์ (1) จัดหาวัสดุการเกษตรและเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นมาจำหน่ายแก่สมาชิก (2) รวบรวมผลิตผลการเกษตร ผลิตภัณฑ์และบริการของสมาชิกมาจัดการขายหรือ แปรรูปออกขายโดยซื้อหรือรวบรวมผลิตผลจากสมาชิก (3) จัดให้มีเงินกู้หรือสินเชื่อแก่สมาชิก เพื่อการประกอบอาชีพและการดำรงชีพ (4) ส่งเสริมการออมทรัพย์ของสมาชิก ฯลฯ ในกรณีนี้การตลาดหรือธุรกิจของสหกรณ์ก็ต้องให้สอดคล้องกันเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว ทั้งนี้สหกรณ์จะดำเนินธุรกิจที่อยู่ภายใต้กรอบวัตถุประสงค์เท่านั้น เช่น ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่ายแก่สมาชิก การตลาดของธุรกิจนี้สหกรณ์ต้องจัดให้มีการสำรวจความต้องการสินค้าที่สมาชิกต้องการมาจำหน่าย เช่น วัสดุทางการเกษตร ปัจจัยการผลิตต่างๆ รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพ เมื่อสำรวจความต้องการของสมาขิกแต่ละรายแล้ว สหกรณ์จึงจะรวบรวมความต้องการนั้นสั่งซื้อสินค้าในคราวเดียวกันหรือรอบการสั่งซื้อเดียวกัน ทั้งนี้เพื่อก่อให้เกิดการประหยัดต่อขนาด (Economy of scale) ทำให้สหกรณ์มีต้นทุนในการดำเนินงานต่ำกว่า และสามารถทำการตลาดกับสมาชิกได้ในต้นทุนที่ต่ำลงด้วยเช่นกัน ทำให้สมาชิกได้รับการบริการและสินค้าตามความต้องการที่ถูกกว่าเกษตรกรทั่วไป
                      ส่วนการตลาดของสหกรณ์ในลักษณะที่สอง คือการตลาดที่สหกรณ์ทำกับสหกรณ์ด้วยกันเอง กล่าวคือ เป็นการทำการตลาดระหว่างสหกรณ์ด้วยกันเอง หรือที่เรามักได้ยินกันอยู่บ่อยๆว่าการสร้างเครือข่ายสหกรณ์ หรือการเชื่อมโยงธุรกิจระหว่างสหกรณ์นั่นเอง โดยการตลาดลักษณะนี้เป็นการติดต่อค้าขายสินค้าที่สหกรณ์แห่งหนึ่งๆเป็นผู้ผลิตได้หรือมีความเชี่ยวชาญในการผลิตในที่นี้เรียกสหกรณ์ผู้ผลิต ส่งขายให้แก่สหกรณ์ที่มีกำลังซื้อหรือเรียกว่าสหกรณ์ผู้บริโภค นอกจากนั้นการเชื่อมโยงธุรกิจระหว่างสหกรณ์ด้วยกันมีทั้งมิติที่เป็นไปในลักษณะการเชื่อมโยงด้านการเงิน กล่าวคือ สหกรณ์มีการทำธุรกรรมระหว่างกัน โดยแยกประเภทธุรกรรมได้แก่ การกู้ยืมเงินกันระหว่างกัน การนำเงินไปฝาก การรับฝากเงิน การรับตั๋วสัญญาใช้เงิน การออกตั๋วสัญญาใช้เงิน เป็นต้น อาจกล่าวได้ว่าในการทำการตลาดระหว่างสหกรณ์กับสหกรณ์ด้วยกันแบบนี้ ถือเป็นการดำเนินการตามหลักการสหกรณ์ในข้อที่ 6 คือความร่วมมือระหว่างสหกรณ์ทั้งปวงนั่นเอง ซึ่งความร่วมมือมีทั้งแนวดิ่ง และแนวนอน กล่าวคือ การร่วมมือกันในแนวดิ่ง โดยความร่วมมือกันระหว่างสหกรณ์นั้นจะใช้หลักการเดียวกันกับการร่วมมือของมวลสมาชิก เพื่ออำนวยผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมแก่สมาชิกอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ขบวนการสหกรณ์ โดยที่ประโยชน์ของการร่วมมือกันระหว่างสหกรณ์ก่อให้เกิดความเข้มแข็งของขบวนการสหกรณ์ มีการรวมตัวกันของสหกรณ์ระดับท้องถิ่นเพื่อทำกิจกรรมหรือทำธุรกิจระหว่างกัน แต่ไม่ใช่เป็นการแข่งขันกับสหกรณ์ด้วยกันเอง จากนั้นให้มีการรวมตัวกันของสหกรณ์ในแนวดิ่งขึ้นเป็นระดับชาติ ระดับภูมิภาคต่างๆ เช่นชุมนุมสหกรณ์ต่างๆ เป็นต้น การร่วมมือกันระหว่างสหกรณ์เป็นการสร้างความเข้มแข็งของขบวนการสหกรณ์ให้เป็นเอกภาพ เพื่อเผยแพร่หลักการ วิธีการ และอุดมการณ์สหกรณ์ คือ การช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยที่ความร่วมมือกันระหว่างสหกรณ์นี้เป็นช่องทางหนึ่งของการตลาดในระบบสหกรณ์
การตลาดในลักษณะที่สามเป็นการตลาดระหว่างสหกรณ์กับหน่วยงานภายนอกทั้งกับส่วนราชการหรือเอกชน ซึ่งการทำการตลาดในลักษณะนี้สหกรณ์จะต้องจัดทำข้อตกลงหรือสัญญาการทำธุรกรรมระหว่างกันให้ชัดเจน โดยเฉพาะการทำการตลาดกับส่วนราชการสหกรณ์จะต้องมีหนังสือรับรองร้านสหกรณ์ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับรอง ให้เป็นไปตามประกาศกรมส่งเสริมสหกรณ์ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการออกหนังสือรับรองเป็นร้านสหกรณ์หรือสถาบันเกษตรกรที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับรอง พ.ศ. 2564 ประกาศ ณ วันที่ 7 มกราคม 2564 ที่สำนักงานสหกรณ์จังหวัดออกให้เพื่อใช้เป็นหลักฐานสำคัญในการทำการตลาดกับส่วนราชการ โดยเฉพาะสินค้าประเภทวัสดุการเกษตรที่เป็นพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ วัสดุการเกษตรและเครื่องมือเครื่องใช้ในการเกษตร พัสดุส่งเสริมวิสาหกิจและการประกอบอาชีพ ที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับผลิตผล ชิ้นงาน หรือบริการที่ผลิตหรือจัดทำขึ้น และสินค้าที่เป็นวัสดุสำนักงาน
                     จะเห็นได้ว่าการตลาดของสหกรณ์นับเป็นหัวใจสำคัญในการที่จะทำให้สหกรณ์แต่ละแห่ง แต่ละประเภทประสบผลสำเร็จในการดำเนินงาน และตอบสนองความต้องการของสมาชิกได้อย่างทั่วถึง เนื่องจากการตลาดนี้ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการรับสารและส่งสารความต้องการด้านการบริการ ตลอดจนสินค้า และบริการอื่นๆจากสมาชิกสหกรณ์ไปยังสหกรณ์ที่ตัวเองเป็นทั้งเจ้าของ ผู้ใช้บริการหรือผู้อุดหนุน เพื่อให้สมาชิกได้รับการบริการที่มีประสิทธิภาพ อันจะส่งผลให้สหกรณ์แห่งนั้นๆ ประสบความเจริญก้าวหน้า มีผลการดำเนินงานเป็น ที่น่าพอใจแก่บรรดามวลสมาชิก สามารถจ่ายผลตอบแทนทั้งในรูปเงินปันผล เงินเฉลี่ยคืน และสามารถจัดสวัสดิการที่ดีคืนกลับไปสู่สมาชิกได้อย่างทั่วถึง และเป็นธรรม ส่งผลให้สมาชิกมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น นำไปสู่การกินดี อยู่ดี มีความเป็นธรรมและสันติสุขในสังคมซึ่งเป็นไปตามอุดมการณ์สหกรณ์นั่นเอง

สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/

CATEGORIES
TAGS
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!