ตาก-นายอำเภออุ้มผางเปิดงานผูกข้อมือเรียกขวัญลาขุ (บายศรีสู่ขวัญ)
ภาพ-ข่าว:ชวลิต วิกุลชัยกิจ
เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานจากพื้นที่สุดเขตประเทศไทย บ้านเปิ่งเคลิ่ง ชายแดนบ้านเปิ่งเคลิ้ง ตำบลแม่จันอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก นายธันย์ปวัฒน์ ภูริวัฒนเมธา นายอำเภออุ้มผาง เป็นประธานเปิดงานผูกข้อมือเรียกขวัญลาขุ ( บายศรีสู่ขวัญ) ประจำปี พ.ศ.2566 ณ.บริเวณสนาม วัดเก่า บ้านเปิ่งเคลิ่ง หมู่ที่ 9 ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก โดยมี นายรัตนกุล สังขะศิลา ปลัดอำเภออุ้มผาง นายไพรัตน์ การะเกดธารา นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลเเม่จัน สมาชิกสภาเทศบาล นางสาวอรกรต บุญสม ปลัดเทศบาลตำบลแม่จัน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลแม่จัน หัวหน้าส่วนราชการทหาร ตำรวจ ตชด. กำนันผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และพี่น้องประชาชน เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว กว่า 1,000 คน เข้าร่วมงานผูกข้อมือเรียกขวัญลาขุ ขึ้น15ค่ำเดือนเก้าหรือเรียกขวัญเดือนเก้าชาวไทยเชื้อสายกระเหรี่ยง
เทศบาลตำบลแม่จัน ได้จัดงานผูกข้อมือเรียกขวัญลาขุ ( บายศรีสู่ขวัญ) ประจำปี พ.ศ.2566 ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก มีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมและอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมภูมปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่สืบต่อไป เพื่อให้ประชาชนและเยาวชนเห็นคุณค่าของประเพณีวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อปลูกจิตสำนึกให้เยาวชนรักและหวงแหนประเพณีวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อเผยแพร่แก่ผู้ที่สนใจได้ศึกษาค้นคว้าประเพณีวัฒนธรรม ในการจัดงานครั้งนี้ เทศบาลตำบลแม่จัน ร่วมกับสภาวัฒนธรรมตำบลแม่จัน และหน่วยงานราช การในพื้นที่ ได้จัดขึ้น ณ บริเวณสนาม วัดเก่า บ้านเปิ่งเคลิ่ง หมู่ที่ 9 ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก เพื่อเป็นการสืบสานงานประเพณีท้องถิ่น และอนุรักษ์วัฒนธรรมพื้นบ้านให้คงอยู่สืบไป ซึ่งกิจกรรมจะประกอบไปด้วยการประกวดร้องเพลงพื้นเมืองของกลุ่มชาวบ้าน พิธีกรรมผูกข้อมือเรียกขวัญลาขุ ( บายศรีสู่ขวัญ) เป็นต้น
ขึ้น15 ค่ำ เดือน 9 งานผูกข้อมือเรียกขวัญเดือนเก้า (ลาขุ) ซึ่งเป็นประเพณีที่จัดขึ้นประจำปีทุกปี เพื่อเสริมสิริมงคลประจำเผ่าของชาวกะเหรี่ยง ที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณทุกๆ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 9 ของทุกปี การผูกข้อมือเรียกขวัญเดือนเก้าจะจัดขึ้นเฉพาะเดือนสิงหาคมเท่านั้น ปีนี้ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2566 ขึ้น 15 ค่ำ เดือนเก้า (9) ปีเถาะประเพณีผูกข้อมือเดือนเก้าขึ้นทุกปี จัดขึ้นเพื่อธำรงรักษาประเพณีของชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมส่งเสริมประเพณีท้องถิ่นในการผูกข้อมือจะมีบายศรีสู่ขวัญซึ่งประกอบด้วย ข้าวเหนียว ข้าวต้ม ขนม ผลไม้ และด้ายผูกข้อมือ จากนั้นผู้ใหญ่ในหมู่ลบ้านจะมารวมตัวกัน (มักจัดกิจกรรมภายในวัด) เด็ก เยาวชน และคนในชุมชนจะมาร่วมงานผูกข้อมือ รับศีลรับพรจากพระสงฆ์และทำพิธีการผูกข้อมือ อีกทั้งยังมีการแสดงพื้นเมืองกะเหรี่ยง การละเล่นพื้นบ้านต่างๆและร่วมรับประทานอาหารร่วมกัน มีการพบปะพูดคุยกันสร้างความผูกพันและความสามัคคีแก่คนในชุมชน
ชาวกะเหรี่ยงมีความเชื่อว่าทุกชีวิตมี “ขวัญ” เป็นส่วนประกอบสำคัญทางจิตวิญญาณ แต่การที่ต้องจากบ้านมาไกลเพื่อทำงาน การประสบโรคภัยไข้เจ็บ ความคิดถึงญาติพี่น้อง หรืออะไรต่างๆ ที่เกิดขึ้น อาจทำให้ขวัญที่มีนั้นหายไป จึงต้องมีการทำพิธีเพื่อเรียกขวัญและกำลังใจให้กลับคืนมา แต่เดิมพิธีจัดภายในหมู่บ้านกะเหรี่ยงกลางป่า แต่ด้วยสภาพสังคมและชีวิตในปัจจุบันที่ต้องระหกระเหินจากบ้านและภูมิลำเนาทำให้ไม่สามารถกระทำได้ นี่คือสาเหตุที่ต้องจัดพิธีผูกข้อมือเรียกขวัญ เพื่อให้เป็นสถานที่พบปะเพื่อนฝูง ได้พูดคุยภาษาเดียวกัน ช่วยให้หายคิดถึงบ้าน ได้รับรู้ถึงการมีตัวตน