อยุธยา-โครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในพระราชานุเคราะห์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ

อยุธยา-โครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในพระราชานุเคราะห์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ

ภาพ – ข่าว นราเอก ตันศิริ : นพดล บำเพ็ญสัตย์

เกษตรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จัดงานโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในพระราชานุเคราะห์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร ประจำปี 2566

             เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566 ที่องค์การบริหารส่วนตำบลพระขาว ตำบลพระขาว อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้เป็นประธาน เปิดโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในพระราชานุเคราะห์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร ประจำปี 2566 พร้อมด้วย นายกกชัย ฉายรัศมี รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรี อยุธยา พล.ต.อภิชัย วิไลเนตร ผบ.มทบ.18 นายรณกรณ์ เผ่าวิจารย์ นายอำเภอบางบาล นางรัตนาหวังเทพอนุเคราะห์ สจ.พระนครศรีอยุธยา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และเกษตรกรในอำเภอบางบาล เข้าร่วมโครงการโดยมี ดร.รุจีพัชร บุญจริง เกษตรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นผู้กล่าวรายงาน
              โครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ มีวัตถุประสงค์ในการ ให้บริการแก่เกษตรกร ในการแก้ไข ปัญหาการผลิต ด้านการเกษตร ได้อย่างรวดเร็ว อย่างทั่วถึง และสอดคล้อง กับความต้องการของเกษตรกร ซึ่งมีการบูรณาการ ความร่วมมือกัน ระหว่างหน่วยงานวิชาการ หน่วยงานส่งเสริม และหน่วยงานอื่น ๆที่เกี่ยวข้อง ร่วมพัฒนาฟื้นฟูเกษตรกร ให้สามารถทำการผลิตทางการเกษตร ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยั่งยืน โดยเป็นการปฏิบัติงานในเชิงรุกที่ทำให้เกษตรกรในพื้นที่เป้าหมาย ที่มีปัญหาให้ได้รับบริการทางการเกษตร เช่น การวิเคราะห์ดิน การวินิจฉัยโรคพืช โรคสัตว์ โรคสัตว์น้ำ รวมถึง การถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านเกษตร
                  นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชหฤทัยอันมุ่งมั่นในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงดำเนินตามรอยเบื้องพระยุคลบาท ในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจ การพัฒนางานด้านต่างๆ ทรงทุ่มเทพระวรกาย พระวิริยะอุตสาหะ เพื่อช่วยเหลือแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎรในทุกด้านอย่างต่อเนื่อง เช่น ด้าน การเกษตร การศึกษา การบริหารจัดการน้ำ และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น เหนือสิ่งอื่นใด นั่นคือ ความทุ่มเทพระราชหฤทัยในการทรงงานเพื่อประชาชน พระองค์ทรงเสียสละเพื่อประชาชนโดยเสมอมา และด้วยพระวิสัยทัศน์ อันกว้างไกล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักและเล็งเห็นในคุณค่า แนวพระราชดำริ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน พระองค์ทรงยึดมั่นที่จะ สืบสาน รักษา และต่อยอด แนวพระราชดำริต่างๆ เพื่อเป็นแสงสว่างนำทางตามรอยพระราชปณิธานไปสู่ความผาสุก แก่ประชาชนและประเทศชาติ
                   ซึ่งโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ เป็นรูปแบบหนึ่งของการแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรในพื้นที่ พร้อมกับถ่ายทอดความรู้ให้แก่เกษตรกรไปในคราวเดียวกัน เป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรเป็นอย่างยิ่ง เพราะเกษตรกรจะได้รับบริการแบบครบวงจรในทุกๆ ด้าน ซึ่งเป็นการนำบุคลากร อุปกรณ์ เครื่องมือ และองค์ความรู้ ด้านการเกษตรมาให้บริการแก่พี่น้องเกษตรกร ถึงในพื้นที่ พ่อแม่พี่น้องเกษตรกร ที่มาร่วมงานในวันนี้ ขอให้ใช้โอกาสนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ตัวท่านเอง โดยเข้ารับบริการหรือปรึกษาเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ในส่วนของข้าราชการเจ้าหน้าที่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมาปฏิบัติงานในครั้งนี้ ขอให้ท่านดำเนินงานอย่างเสียสละ มีจิตอาสา ให้บริการแก่พี่น้องเกษตรกรอย่างเต็มใจ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่พี่น้องเกษตรกรด้วยความภาคภูมิใจ
                  ทางด้าน ดร.รุจีพัชร บุญจริง เกษตรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า กิจกรรมในการจัดงานครั้งนี้ ประกอบด้วย การให้บริการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่จากหน่วยงานภาครัฐ และภาคีภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง จำนวน 14 หน่วยงาน โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มที่ 1 คลินิกแก้ปัญหาในพื้นที่ ประกอบด้วย คลินิกดิน ให้คำปรึกษา ตรวจวิเคราะห์ดิน วินิจฉัยและให้บริการด้านวิเคราะห์ตรวจสอบดินและปุ๋ย คลินิกพืชและการอารักขาพืช ให้คำปรึกษาด้านการผลิต การเก็บเกี่ยว โรคพืช แมลงศัตรูพืช และการป้องกันกำจัด กลุ่มที่ 2 คลินิกด้านวิชาการเกษตร ประกอบด้วย คลินิกปศุสัตว์ คลินิกประมง คลินิกชลประทาน คลินิกสหกรณ์ คลินิกบัญชี คลินิกกฎหมาย คลินิกข้าว คลินิกเครื่องจักรกลทางการเกษตร คลินิกฝนหลวง กลุ่มที่ 3 คลินิกการให้บริการ ประกอบด้วย การจำหน่ายสินค้าจากกลุ่มแม่บ้านและวิสาหกิจชุมชน ร้านธงฟ้าราคาประหยัดการให้บริการพันธุ์พืชพันธุ์ดี พันธุ์ปลาน้ำจืด และปัจจัยการผลิตเกษตร สารชีวภัณฑ์ ทางการเกษตร ผู้เข้ารับบริการคลินิกในครั้งนี้ ประกอบด้วย เกษตรกรในพื้นที่ อำเภอบางบาล ประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร และผู้สนใจทั่วไป จำนวนไม่น้อยกว่า 160 คน

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!