กาญจนบุรี-สธ.เร่งสร้างความรู้ความเข้าใจ เรื่อง กัญชาทางการแพทย์

กาญจนบุรี-สธ.เร่งสร้างความรู้ความเข้าใจ เรื่อง กัญชาทางการแพทย์

ภาพ-ข่าว:ต๊ะ เมืองกาญจน์

               สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรีเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจ เรื่อง กัญชาทางการแพทย์ พร้อมเตือนการนำกัญชาไปใช้ในทางที่ผิด ระวังผลต่อสุขภาพ เสี่ยงเกิดอาการทางจิต พร้อมแนะนำผู้ปกครองหมั่นสังเกตพฤติกรรมบุตรหลานหรือคนใกล้ชิด หากพบมีพฤติกรรมเสี่ยงต้องรีบพูดคุย หากมีอาการหลังจากใช้กัญชาให้รีบปรึกษาแพทย์ในโรงพยาบาลใกล้บ้าน

                วันที่ 16 พฤศจิกายน 2565 นายแพทย์ชาติชาย กิติยานันท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุขสนับสนุนการใช้กัญชาทางการแพทย์และเพื่อสุขภาพ ไม่สนับสนุนการใช้ที่ไม่เหมาะสม เช่น การสูบ การเสพ และสันทนาการ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัย การใช้กัญชาทางการแพทย์ในการดูแลรักษาผู้ป่วย เป็นการใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และสุขภาพเท่านั้น โดยมีการออกข้อกฎหมายต่างๆ เพื่อเฝ้าระวังและป้องกันการนำไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม หรือป้องกันการเข้าถึงในกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กและเยาวชน สตรีมีครรภ์และให้นมบุตร รวมทั้งจัดระบบติดตามเฝ้าระวังทั้งในส่วนของโรงพยาบาล คือ พิษจากกัญชาและปัญหาจิตประสาท และการเฝ้าระวังในชุมชน
                 นายแพทย์ชาติชาย กล่าวต่อไปว่า กระทรวงสาธารณสุขได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ.2565 ลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2565 มีเนื้อหาดังนี้ โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม(กัญชา) ลงวันที่ 16 มิ.ย. อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542 ที่ได้ประกาศให้กัญชาเป็นสมุนไพรควบคุมที่มีค่าต่อการศึกษาหรือวิจัย ซึ่งในช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่านดังกล่าว ควรมีการควบคุมไม่ให้นำกัญชาเฉพาะส่วนที่เป็นช่อดอกไปใช้ในทางที่ผิดวัตถุประสงค์ของการคุ้มครองและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากสมุนไพร ผู้ที่ประสงค์จะศึกษาวิจัย ส่งออก จำหน่าย หรือแปรรูป สมุนไพรควบคุมเพื่อการค้าจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตตามมาตรา 46 และผู้รับใบอนุญาตจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข ดังนี้ 1. ผู้รับใบอนุญาตจะต้องทำแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งที่มา การนำไปใช้และจำนวนที่เก็บไว้ ณ สถานประกอบการและให้รายงานข้อมูลต่อนายทะเบียนตามแบบที่อธิบดีประกาศกำหนด 2. ผู้รับอนุญาตให้ส่งออกสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้าต้องแจ้งรายละเอียดการส่งออกต่อผู้อนุญาตเป็นรายครั้ง 3. ห้ามจำหน่ายสมุนไพรควบคุมหรือแปรรูปสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้าให้กับผู้ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์และให้นมบุตร 4. ห้ามจำหน่ายสมุนไพรควบคุมหรือแปรรูปสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้าให้กับนักเรียน นิสิตหรือนักศึกษา 5. ห้ามจำหน่ายสมุนไพรควบคุมเพื่อการสูบในสถานประกอบการ เว้นแต่การจำหน่ายโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามกฏหมายว่าด้วยวิชาชีพเวชกรรม 6. ห้ามจำหน่ายสมุนไพรควบคุมหรือสินค้าที่แปรรูปจากสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้าผ่านเครื่องจำหน่ายอัตโนมัติ ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์หรือเครือข่ายคอมพิวเตอร์ 7. ห้ามโฆษณาสมุนไพรควบคุมทุกช่องทางเพื่อการค้า และ 8. ห้ามจำหน่ายสมุนไพรควบคุมหรือสินค้าที่แปรรูปจากสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้าในวัด หอพักตามกฎหมาย สวนสาธารณะ สวนสัตว์และสวนสนุก ทั้งนี้ ประกาศฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดไปจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
                “กระทรวงสาธารณสุขส่งเสริมให้ประชาชนใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และสุขภาพอย่างถูกต้องเหมาะสม โดยสื่อสารสร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชน ให้ทำความเข้าใจผลดีผลเสียการใช้กัญชาทั้งในคนทั่วไปและกลุ่มเสี่ยง เนื่องจากกัญชามีสารออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ดังนั้นควรใช้อย่างเหมาะสม โดยทางการแพทย์จะมีคลินิกกัญชาทางการแพทย์ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยด้วยยากัญชา ทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทย ซึ่งหากใช้ภายใต้การดูแลของผู้ประกอบวิชาชีพจะมีความปลอดภัย บุคลากรทางการแพทย์จะต้องผ่านการอบรมและได้รับใบอนุญาตในการจ่ายยากัญชา โดยกรมการแพทย์ได้มีการจัดทำคำแนะนำการใช้กัญชาทางการแพทย์เพื่อเป็นแนวทางมาตรฐานในการใช้กัญชาดูแลผู้ป่วยอย่างเหมาะสมและเกิดประโยชน์มากที่สุด พร้อมเตือนการนำกัญชาไปใช้ในทางที่ผิด ระวังผลต่อสุขภาพ เสี่ยงเกิดอาการทางจิต พร้อมแนะนำผู้ปกครองหมั่นสังเกตพฤติกรรมบุตรหลานหรือคนใกล้ชิด หากพบมีพฤติกรรมเสี่ยงต้องรีบพูดคุย หากมีอาการหลังจากใช้กัญชาให้รีบปรึกษาแพทย์ในโรงพยาบาลใกล้บ้าน นอกจากนี้ยังมีสายด่วนกรมสุขภาพจิต 1667 ให้คำปรึกษาในการใช้กัญชาทางการแพทย์อย่างปลอดภัย ไม่เสพติด ไม่เจ็บป่วยทางจิต เพื่อส่งเสริมความเข้าใจพร้อมห่วงใยประชาชนในการใช้กัญชาทางการแพทย์อย่างถูกวิธี” นายแพทย์ชาติชาย กล่าวในที่สุด

CATEGORIES
TAGS
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!