ประจวบคีรีขันธ์-สส.ยันโบสถ์วัดไชยราช ประกอบพิธีสงฆ์ไม่ได้เหตุสร้างในพื้นที่ป่าไม้

ประจวบคีรีขันธ์-สส.ยันโบสถ์วัดไชยราช ประกอบพิธีสงฆ์ไม่ได้เหตุสร้างในพื้นที่ป่าไม้

ภาพ-ข่าว:พิสิษฐ์ รื่นเกษม

สส.ประจวบฯยันโบสถ์วัดไชยราชใช้งบ 25 ล้านสร้างเสร็จนาน 13 ปี ใช้ประกอบพิธีสงฆ์ไม่ได้พบสาเหตุสร้างในพื้นที่ป่าไม้

           วันที่ 23 มกราคม นายประมวล พงศ์ถาวราเดช สส. พรรคประชาธิปัตย์ เขต 3 จ.ประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า กรณีชาวบ้าน ต.ไชยราช อ.บางสะพานน้อย ร้องเรียนหน่วยงานรัฐ ขอให้แก้ไขปัญหากรณีวัดไชยราช ในเขต ต.เขาไชยราช อ.ปะทิว จ.ชุมพรสร้างพระอุโบสถใช้งบประมาณกว่า 25 ล้านบาท สร้างเสร็จนานกว่า 13 ปี แต่ไม่ได้ขอพระราชทานวิสุงคามสีมา ทำให้ไม่สามารถประกอบพิธีกรรมทางศาสนาได้ เนื่องจากพื้นที่วัดตั้งอยู่ในเขต อ.ปะทิว แต่จุดที่สร้างโบสถ์อยู่ในพื้นที่ อ.บางสะพานน้อย จากการหารือสำนักงานพุทธศาสนาทั้ง 2 จังหวัด เบื้องต้นพื้นที่สร้างโบสถ์อยู่ในพื้นที่ป่าไม้ จึงทำหนังสือถึงสำนักงานป่าไม้เขต 10 จ.เพชรบุรี และ เขต 11 จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อให้รังวัดแนวเขตจุดที่สร้างโบสถ์

           “หากพบว่าโบสถ์อยู่ในพื้นที่ของกรมป่าไม้เขตใด หรือรังวัดแล้วพบว่าโบสถ์สร้างในเขตป่าไม้ของ จ.ประจวบคีรีขันธ์ วัดไชยราชต้องทำหนังสือถึงสำนักพุทธศาสนาจังหวัด จากนั้นสำนักพุทธฯจะทำหนังสือถึงป่าไม้เขตเพื่อขออนุญาตใช้พื้นที่ต่อไป หากอธิบดีกรมป่าไม้อนุญาตแล้วสำนักพุทธฯประจวบฯ จะทำหนังสือถึงสำนักพุทธฯชุมพรเพื่อขอพระราชทานวิสุงคามสีมาเพื่อให้โบสถ์สามารถใช้ประกอบพิธีทางศาสนาได้เร็วๆนี้ โดยขยายพื้นที่เดิมของวัด 6 ไร่ กับพื้นที่ในเขตป่าไม้อีกประมาณ 10 ไร่ ในจุดที่สร้างโบสถ์บริเวณเนินภูเขา “นายประมวล กล่าว
          นายประมวล กล่าวอีกว่า สำหรับสาเหตุที่ผ่านมามีการแก้ไขปัญหาล่าช้า หลังจากตัวแทนวัดและชาวบ้านได้ร้องเรียนนานหลายปี พบว่าสาเหตุมาจากไม่มีหน่วยงานใดรับเป็นเจ้าภาพในการบริหารจัดการเขตแดนเพื่อให้มีข้อยุติ ขณะเดียวกันยังมีปัญหาเขตแดนทับซ้อนมีข้อพิพาทระหว่างหน่วยงาน 2 จังหวัดในพื้นที่ ต.ทรายทอง อ.บางสะพานน้อยกับ ต.ปากคลอง อ.ปะทิว ที่ยืดมานานกว่า 20 ปี ล่าสุดผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 2 จังหวัดรับทราบปัญหาแล้ว

          “ในอนาคตจะต้องใช้หลักกฎหมาย การตรวจสอบระวางแผนที่ การตรวจสอบแนวเขตที่แบ่งตามธรรมชาติเช่น แนวคลองหรือเขตภูเขา สอบถามจากผู้สูงอายุ และทราบว่าการจัดทำแนวเขตของ จ.ประจวบคีรีขันธ์ดำเนินการเมื่อปี 2539 ส่วน จ.ชุมพรดำเนินการเมื่อปี 2542 ดังนั้นจึงหาข้อยุติได้ยากจากแนวเขตในแผนที่ทหารกับเขตปกครองท้องที่ของแต่ละจังหวัด จึงทำให้ทะเบียนบ้านของประชาชนบางส่วนอยู่ใน จ.ประจวบฯ แต่เขตแดนอยู่ใน จ.ชุมพรหรืออาจสลับกัน ดังนั้นกระทรวงมหาดไทยต้องพิสูจน์ให้ชัดเจนโดยเร็ว ที่สำคัญทั้ง 2 จังหวัดต้องเร่งรัดหน่วยงานในสังกัดรีบดำเนินการโดยเร่งด่วน เพื่อรายงานให้กรมการปกครองทราบ” นายประมวล กล่าว

CATEGORIES
TAGS
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!