ประจวบคีรีขันธ์-รพ.ประจวบฯ ติวเข้มแพทย์-พยาบาลด้านอุบัติเหตุฉุกเฉิน

ประจวบคีรีขันธ์-รพ.ประจวบฯ ติวเข้มแพทย์-พยาบาลด้านอุบัติเหตุฉุกเฉิน

ภาพ/ข่าว:เอกภพ วงษ์ประเสริฐ(นักข่าวบ้านนอก) 

          รพ.ประจวบฯ ติวเข้มแพทย์-พยาบาลด้านอุบัติเหตุฉุกเฉิน มั่นใจรักษาผู้ป่วยเบื้องต้นอย่างถูกต้อง

            เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ห้องประชุมคีรีขันธ์ ชั้น 5 อาคารผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์ นพ.สุริยะ คูหะรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดประจวบฯ เป็นประธานเปิดการอบรม โครงการพัฒนาสู่ความเชี่ยวชาญทางด้านอุบัติเหตุและฉุกเฉิน 2563 เพื่อพัฒนาระบบ Advance Trauma Life Support : ATLS และPrehospital Trauma Life Support :PHTLS จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รุ่นที่ 2 โดยมี นพ.ศุภชัย ศุภพฤกษ์สกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์ กล่าวรายงาน มี นพ.วัชรพงษ์ เหลืองไพรัตน์ รอง ผอ.รพ.ประจวบคีรีขันธ์ พญ.ธวัลรัตน์ ดุรงค์ธรรม หัวหน้ากลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉินและนิติเวช นางนฤมล วัลลภวรกิจ หัวหน้ากลุ่มงานการพยาบาลผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉิน นางศรีไพร ทัพพะรังสี หัวหน้าศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉินและสั่งการ 1669จังหวัด เข้าร่วม และมีผู้เข้ารับการอบรมเป็น แพทย์ พยาบาล Paramedic/ AEMT/ EMR จำนวน 60 คน จากโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 8 โรงพยาบาล และโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงกลาโหม ได้แก่ โรงพยาบาลค่ายธนะรัชต์ (กองทัพบก) และโรงพยาบาลกองบิน 5 (กองทัพอากาศ) โดยมีวิทยากรเป็นอาจารย์จากคณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช ประกอบด้วย ผศ.พญ.อุษาพรรณ สุรเบญจวงศ์ , พญ.ภัทรพร เมฆาวุฒิกุล
             นพ.ศุภชัย ศุภพฤกษ์สกุล ผอ.รพ.ประจวบฯ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวจัดขึ้นทั้งหมด 2 รุ่น รุ่นแรกระหว่างวันที่ 3 – 4 ก.พ. และ รุ่น 2 ระหว่าง 5 – 6 ก.พ.2563 ครั้งนี้เป็นรุ่นที่ 2 โดยกิจกรรมมีการบรรยาย และการฝึกปฏิบัติ ซึ่งทั้งนี้ หัวใจสำคัญในการดูแลรักษาผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุ คือ การได้รับการประเมินและการรักษาเบื้องต้นที่ถูกต้อง เหมะสม และรวดเร็ว เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว มักจะมีอาการหนักและ อาจเกิดภาวะคุกคามต่อชีวิตได้ หากไม่สามารถวินิจฉัยหรือให้การดูแลที่ไม่เหมาะสม อาจทำให้ผู้บาดเจ็บเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ผู้ป่วยที่มีภาวะช็อก โดยเฉพาะจากการเสียเลือด นอกจากควรได้รับการดูแลเบื้องต้นที่เหมาะสมแล้ว ผู้ป่วยควรได้รับการผ่าตัดในเวลาที่รวดเร็ว เพื่อลดอัตราการเสียชีวิต การดูแลเบื้องต้น เริ่มตั้งแต่ที่เกิดเหตุ เจ้าหน้าที่หรือบุคลากรทางการแพทย์ ควรมีความรู้และทักษะที่จำเป็นในการดูแลผู้ป่วยเบื้องต้นสามารถดูแลป่วยส่งโรงพยาบาลในระบบ EMS และการดูแลก่อนส่งต่อได้อย่างปลอดภัย

               ด้าน นพ.สุริยะ คูหะรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด กล่าวว่า การช่วยเหลือผู้ป่วย-ผู้บาดเจ็บ การบาดเจ็บหลายระบบและมีภาวะช็อก มีอัตราการเสียชีวิตเป็นอันดับหนึ่งเช่นกัน การดูแลผู้ป่วยการบาดเจ็บค่อนข้างสลับซับซ้อน การบาดเจ็บมักเกิดขึ้นกับหลายระบบในร่างกาย การประเมินสภาพและการวินิจฉัยค่อนข้างยาก อาการและอาการแสดงบางครั้งไม่ชัดเจน ทำให้การดูแลรักษาล่าช้า การดูแลรักษาตามหลัก ATLS การวินิจฉัยผู้ป่วยและให้การรักษาอย่างรวดเร็ว จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยจำกัดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของผู้ป่วย ญาติ โรงพยาบาล และประเทศชาติได้

สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!