ประจวบคีรีขันธ์ – อว.ระดมความคิดเห็นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลใช้พัฒนาการศึกษาและวิจัยของประเทศ

ประจวบคีรีขันธ์ – อว.ระดมความคิดเห็นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลใช้พัฒนาการศึกษาและวิจัยของประเทศ

ภาพ/ข่าว:กูลเสวก เสวกวรรณกร

 อว.ระดมความคิดเห็นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลใช้พัฒนาการศึกษาและวิจัยของประเทศ

             เมื่อวันที่ 3 ส.ค.ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตวังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการการดำเนินกิจกรรมบนระบบเครือข่ายสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา ครั้งที่ 41 โดยมี นายพรหมพิริยะ กิจนุสนธิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายเอกพงศ์ มุสิกะเจริญ รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา รองศาสตราจารย์ ดร.อุดมวิทย์ ไชยสกุลเกียรติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ผู้บริหาร คณาจารย์ และผู้ร่วมประชุมจากหน่วยงานต่างๆร่วมพิธี โดยการจัดการประชุมในครั้งนี้มีการเชิญผู้เชี่ยวชาญ คณาจารย์ นักวิจัยจากสถาบันการศึกษา และภาคเอกชน จำนวนกว่า 100 คน มาร่วมเป็นวิทยากรให้ความรู้ 23 หัวข้อ และจัดฝึกอบรมจำนวน 9 หลักสูตร เช่น การบริหารจัดการเทเลเมดดิซิน (Telemedicine) การให้บริการเพื่อนำไปสู่ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น ของสถาบันการศึกษา รองรับนโยบายการเรียนรู้ตลอดชีวิต และที่สำคัญคือมีการจัดประชุมผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูง หรือ CIO ของสถาบันการศึกษาภายหลังการจัดตั้งกระทรวง อว. เพื่อร่วมกันระดมความคิดเห็นในการกำหนดแนวทางการดำเนินงานในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษาและวิจัยของประเทศ โดยมีผู้บริหารหน่วยงาน ผู้ดูแลระบบเครือข่ายสารสนเทศ ผู้รับผิดชอบงานด้านเครือข่ายห้องสมุดอุดมศึกษา คณาจารย์ นักวิจัย หน่วยงานราชการ หน่วยวิจัย และภาคเอกชนเข้าร่วมการประชุมกว่า 600 คน ระหว่างวันที่ 3-5 ส.ค.65

            ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล กล่าวว่า วิสัยทัศน์ของกระทรวง อว. คือเป็นองค์กรนำเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมไปสู่มาตรฐานระดับสากลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติภายในปี 2580 ตลอดจนการพัฒนาคนไทยให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และก้าวสู่เศรษฐกิจ BCG ตามนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งระบบเทคโนโลยีดิจิทัลถือว่ามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนางานทุกด้าน ดังนั้นการเพิ่มศักยภาพเครือข่ายสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษาให้รองรับการใช้งานด้านการศึกษาได้อย่างเต็มประสิทธิภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้เกิดการบูรณาการและใช้ประโยชน์ร่วมกัน ลดความซ้ำซ้อนและประหยัดงบประมาณ รวมถึงเป็นเครื่องมือสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลในด้านต่างๆ.

 

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!