นครสวรรค์-นักวิชาการอสัมภาษณ์นายก อบจ. ร่วมสนับสนุนทางวิชาการในการศึกษาวิจัย

นครสวรรค์-นักวิชาการอสัมภาษณ์นายก อบจ. ร่วมสนับสนุนทางวิชาการในการศึกษาวิจัย

ภาพ/ข่าว:ชาติชาย  เกียรติพิริยะ

                             นักวิชาการ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น ขอสัมภาษณ์นายก อบจ. ร่วมสนับสนุนทางวิชาการในการ ศึกษา วิจัย “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจและแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชน”

                   พลตำรวจเอกสมศักดิ์ จันทะพิงค์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์ เปิดเผยว่า ตนเองได้รับหนังสือเชิญจาก รองศาสตราจารย์ ดร.พีรสิทธิ์ คำนวณศิลป์ คณบดีวิทยาลัยการปกครอง ปฏิบัติการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้เข้าร่วมประชุม Video Conference กับ อาจารย์ ดร.ปานปั้น รองหานาม ตัวแทนจากคณะทีมวิจัย วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น
                   สาระในการประชุมมีวาระหลักที่สำคัญคือ การวิจัยและพัฒนานโยบายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจและแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชน ดังเช่นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในนานาอารยประเทศได้ดำเนินการมาแล้วจนประสบความสำเร็จ และได้รับการยอมรับว่าเป็นรูปแบบที่มีความมั่นคง ยั่งยืน และส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศได้เป็นอย่างดี  ซึ่งทางท้องถิ่นได้นำนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจไปสู่การปฏิบัติ

                    เรื่องนี้นายกอบจ. กล่าวว่า สำหรับนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจ ปัจจุบัน อปท.ยังอยู่ในโครงสร้างเก่า โครงสร้างการกระจายอำนาจในท้องถิ่นที่ล่าช้า ประกอบกับ อบจ.ยังไม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบทางด้านเศรษฐกิจโดยตรง อบจ.มีกองการศึกษาฯที่สามารถทำองค์ความรู้ทางด้านเศรษฐกิจได้ และนำเทคโนโลยีเข้าไปประยุกต์ใช้ มีกองสวัสดิการและคุณภาพชีวิต คอยดูแลส่งเสริมด้านอาชีพ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดฝึกอบรมอาชีพ และมีกองกิจการพาณิชย์ซึ่งจะเปลี่ยนเป็นกองการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อทำแม่เหล็กในด้านการท่องเที่ยว เป็นแรงดึงดูดให้คนเข้ามาใช้จ่ายในนครสวรรค์

                  นายก อบจ.กล่าวว่า ในภาพรวมเรามีปัญหาทางระบบโครงสร้าง เพราะไม่มีกองเศรษฐกิจ อบจ. มีเพียงกองที่ยังรับผิดชอบไม่ครอบคลุม ยังไม่มีกองที่รับผิดชอบในเรื่องเศรษฐกิจโดยตรง ตอนนี้เราอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนเมือง ซึ่งจะเกิดความเหลื่อมล้ำเป็นอย่างสูง แต่อบจ.ได้คำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงโลกภายใน 5-10 ปี เพราะตอนนี้เทคโนโลยีด้าน AI เข้ามามีบทบาท ซึ่งเรายังไม่สามารถตามเทคโนโลยีได้ทัน แต่เราเตรียมการในเรื่องการประยุกต์ใช้ ซึ่งนครสวรรค์เป็นเมืองอู่ข้าว อู่น้ำ จะมีความชำนาญใน 3 ด้าน คือ การเกษตร ประมง และปศุสัตว์ จะประยุกต์เทคโนโลยีที่กำลังจะเข้ามาเพื่อในการลดต้นทุนการผลิต สร้างคุณค่าของผลผลิต คนที่มาซื้อสินค้า ซึ่งสินค้าของเราต้องคุณภาพดี ราคาถูก เพราะตลาดโลกเปลี่ยนไป ตลาดโลกในหลายพื้นที่มีกำลังซื้อต่ำ ถ้าเรายังผลิตสินค้าในราคาแพง จะไม่สามารถแข่งกับตลาดที่มีกำลังซื้อต่ำได้ อย่างเช่น ประเทศอินเดีย ประเทศบราซิล และประเทศจีน เราจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเพื่อการลดต้นทุน โดยอันดับแรกต้องทำให้เกิดความกระตือรือร้นทางสังคม
                    พลตำรวจเอกสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า “การจัดงบประมาณปี 2565 อบจ.ให้การสนับสนุนทางด้านการศึกษา ซึ่งอบจ.มีโรงเรียนอยู่ในความดูแล 1 โรงเรียนคือโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย(จิรประวัติ) โดย อบจ.ได้มอบหมายให้ทำกิจกรรม 5 ด้าน ได้แก่1.ด้านการเกษตร 2.ด้านประมง 3.ด้านปศุสัตว์ 4.ด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ และ 5.ด้านการพัฒนาป่าไม้ อีกทั้ง การที่ให้นักเรียนได้เข้ามีส่วนร่วม เพื่อให้นักเรียนทุกคนได้เรียนรู้และนำไปใช้ในชีวิตจริง ตามแนวคิด “นักเรียน 1 คน 1 ความสามารถ 1 อาชีพ” เพื่อเป็นการศึกษาทดลอง หากแบบไหนไม่สำเร็จจะเก็บไว้เป็นองค์ความรู้ และต่อยอดจนกว่าจะสำเร็จ ส่วนแบบที่ทดลองแล้วสำเร็จ จะลงมือปฏิบัติจริงในปีงบประมาณ 2566 ที่ศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง บ้านทุ่งแว่น ตำบลทับกฤช อำเภอชุมแสง ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 3,500 ไร่ เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้แก่ประชาชนที่สนใจเข้ามาเรียนรู้เรื่องสมาร์ทฟาร์ม (Smart farm) และวางรากฐาน AI ที่จะนำเข้ามาใช้ เพื่อจะประยุกต์ใช้ เป็นการลดต้นทุน เพิ่มคุณภาพ เราจะสามารถเข้าสู่ตลาดที่มีกำลังซื้อต่ำได้ โดยบางประเทศได้ปรับนำ AI เข้ามาใช้ เพื่อลดต้นทุนแล้ว”  อีกประเด็นของการศึกษา วิจัย คือหากมีนโยบายที่จะให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทมากขึ้นในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ จะทำอย่างไร

                     พลตำรวจเอกสมศักดิ์ ตอบว่า ที่ผ่านมา อบจ.นครสวรรค์ ได้รับรายได้จากภาษี 4 อย่างคือ 1. ภาษีโรงแรม 2. ภาษีน้ำมัน 3.ภาษียาสูบ และ 4. ภาษีล้อเลื่อน ส่วนที่เราดำเนินการเองคือแหล่งท่องเที่ยวบึงบอระเพ็ด ซึ่งที่ผ่านมาแหล่งท่องเที่ยวบึงบอระเพ็ด การประกอบการขาดทุน แต่ยังคงสามารถดึงดูดคนเข้ามาเที่ยวได้ ผู้มีอำนาจต้องเร่งปรับปรุงโครงสร้าง อปท. ซึ่งโครงสร้างปัจจุบันนี้ยังเป็นแบบเก่า อบจ.ไม่สามารถทำเองได้

                     ดร.ปานปั้นถามต่อว่า ท่านคิดว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ท่านบริหารนี้ มีความพร้อมที่จะรับบทบาทหน้าที่นี้หรือไม่ อย่างไร

                   นายก อบจ.ตอบว่า อบจ.มีความพร้อม ทุกวันนี้อบจ.เอาความต้องการของชาวบ้านเป็นหลัก เพราะทุกโครงการที่ อบจ.ดำเนินการต้องเข้าถึงชาวบ้าน ถูกใจชาวบ้านและตรงตามความต้องการ เพราะที่ผ่านมาอบจ.ได้รับการถ่ายโอนงานเข้ามาเพิ่ม แต่ไม่ได้งบประมาณในการสนับสนุนและพัฒนา ถ้าจะให้ดีกว่าเดิม อบจ.ต้องมีกองพัฒนาเศรษฐกิจ รัฐต้องพร้อมที่จะให้การสนับสนุนทางเศรษฐกิจด้วย เพื่อความสะดวกในการบริหารจัดการ

                   สำหรับพื้นที่เชิงพาณิชย์ อบจ.มีแหล่งท่องเที่ยวบึงบอระเพ็ด เรากำลังดำเนินการปิดเพื่อปรับปรุง ซึ่งถ้าเปิดเราจะทำเป็นการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำ โดยมีรถไฟฟ้า มีศูนย์การเรียนรู้ โดยทุกคนในครอบครัวจะสามารถเที่ยวภายในแหล่งท่องเที่ยวบึงบอระเพ็ด เพื่อตอบโจทย์คนต่างวัยได้ ถ้าเรามีกองเศรษฐกิจ เราจะทำอะไรได้อีกมาก ตอนนี้เรามีกองช่างที่ทำได้บางส่วน โดยจะเห็นว่าถ่ายโอนถนนชนบทมาให้อบจ. 200 เส้น เราไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ จึงต้องทำเรื่องร้องขอในการพัฒนาถนน ซึ่งได้งบประมาณกลับมาไม่เพียงพอ
                  นายก อบจ. กล่าวต่อว่า สำหรับจังหวัดนครสวรรค์ สภาพปัจจุบันยังไม่เอื้อต่อการลงทุนด้านอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ พื้นที่จังหวัด 70 % จะทำด้านการเกษตร ประมง และปศุสัตว์ ซึ่งจำเป็นต้องใช้น้ำ แต่ตอนนี้แทบทุกพื้นที่ประสพภาวะภัยแล้งต่อเนื่องมายาวนาน ตอนนี้งบประมาณส่วนใหญ่เราจึงต้องดำเนินการด้านน้ำ เกี่ยวกับการลอกคลอง ขุดสระ ทำฝาย แก้มลิง และประตูน้ำ เพราะประชาชนไม่มีน้ำทำการเกษตร ประชาชนไม่มีรายได้ ทำให้เศรษฐกิจซบเซา ไม่มีการจับจ่ายใช้สอยในตลาด ถ้าแก้ปัญหาเรื่องน้ำได้ จะทำให้เศรษฐกิจโดยรวมกลับมาดีขึ้น และนครสวรรค์ก็ยังเป็นชัยภูมิปากทางในเส้นทางขึ้นสู่ภาคเหนือและอีสาน ซึ่งอาจจะสามารถประกอบการด้านโลจิสติกส์ได้อีกทางหนึ่ง

                 นายก อบจ. กล่าวย้ำว่า สุดท้ายต้องเชื่อว่าปัจจุบันนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีคุณภาพ สามารถรับความต้องการของชาวบ้านได้ เพราะเราใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด เราทราบความต้องการ ความเดือดร้อนของประชาชน อบจ.จึงสามารถที่จะร่วมมือกับประชาชนดำเนินการกำหนดทิศทางของท้องถิ่นนั้นๆได้อย่างชัดเจน และขอฝากไปยังผู้ใหญ่ว่า ขอให้เชื่อในความสามารถของ อปท. และควรให้การสนับสนุนด้านงบประมาณให้ อปท. มากกว่านี้ เพื่อช่วยกันแบ่งเบาภาระของประเทศในการดูแลท้องถิ่นและความเป็นอยู่ของประชาชน

สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/

CATEGORIES
TAGS
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!