ประจวบคีรีขันธ์-ฝ่ายปกครองเมินทำลายบีทีสารพิษอันตรายใจกลางเมืองหลังศาลมีคำสั่ง

ประจวบคีรีขันธ์-ฝ่ายปกครองเมินทำลายบีทีสารพิษอันตรายใจกลางเมืองหลังศาลมีคำสั่ง

ภาพ/ข่าว: เอกภพ วงษ์ประเสริฐ

               วันที่ 1 เม.ย.66 จ่าอากาศเอกเสกสรร จันทร แกนนำเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า ปัญหาการเก็บสาร บีที สารพิษอันตรายไว้ในหอประชุมที่ว่าการอำเภอเมือง ในพื้นที่ใจกลางเมืองประจวบฯซึ่งใกล้กับตลาดโต้รุ่ง บ้านพักรองผู้ว่าราชการจังหวัด และโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัด ตั้งแต่นายธนนท์ พรรพีภาส ทำหน้าที่นายอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ เมื่อเดือนมีนาคม2565 ปัจจุบันนายธนนท์ ย้ายไปเป็นปลัดจังหวัดชุมพร ล่าสุดสาร บีที ของเอกชนที่เก็บไว้ในสถานที่ราชการนานกว่า 10 ปี ยังไม่ถูกนำไปทำลายทิ้งตามหลักวิชาการ
              จ่าอากาศเอกเสกสรร กล่าวว่า ที่ผ่านมาเครือข่ายฯ ได้เร่งรัดติดตามปัญหาการจัดซื้อสารบีที อ้างว่าใช้กำจัดหนอนหัวดำมะพร้าว ปัจจุบันมีการเก็บสารบีที มูลค่า 32.8 ล้านบาท ที่หอประชุมอำเภอเมืองประจวบฯ และสารบีที มูลค่า 24.7 ล้านบาท ในอาคารใกล้เมรุร้าง วัดนาหูกวาง อ.ทับสะแก ในสภาพหมดอายุการใช้งาน มีกลิ่นเหม็น หลังจากฝ่ายปกครองทั้ง 2 อำเภอ จัดซื้อเพื่อกำจัดแมลงศัตรูมะพร้าว เมื่อเดือนสิงหาคม 2555 แต่ถูกทักท้วงจากกรมวิชาการเกษตรว่าเป็นสินค้าที่ไม่มีการขึ้นทะเบียน ฝ่ายปกครองจึงไม่ลงนามจัดซื้อ ขณะที่บริษัทเอกชนได้นำสาร บีที มาเก็บไว้ในสถานที่ราชการล่วงหน้า เมื่อทางราชการไม่ซื้อ บริษัทจึงร้องต่อศาลปกครอง ต่อมามาศาลได้มีคำสั่งถึงที่สุดให้ทางราชการชนะคดี แต่พบว่าบริษัทเจ้าของสาร บีที ประกาศล้มเลิกกิจการ
              “ สาร บีที ที่เก็บไว้ในหอประชุมอำเภอ ศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้มีคำพิพากษาตั้งแต่เดือนกันยายน 2562 ให้เจ้าของบริษัทนำสารพิษไปทิ้ง ภายหลังคณะกรรมการแก้ปัญหาระดับจังหวัด แจ้งให้นายอำเภอเมืองไปแจ้งความดำเนินคดี แต่หลังจากนั้น ผู้เกี่ยวข้องในอำเภอเมือง ไม่ได้ติดตามคดีให้ถึงที่สุด เมื่อนายธนนท์ ติดตามปัญหา จึงสั่งการให้ขอคัดคำพิพากษา พร้อมประสานไปยังหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องเพื่อหาวิธีทำลาย แต่ทราบว่าทั้งสำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดปฏิเสธ ไม่เคยมีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดซื้อ ไม่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายเกี่ยวข้องกับการใช้งบประมาณทำลายสาร บีที ของบริษัทเอกชน และหากจะต้องจ้างเอกชนนำไปบำบัดทางราชการจะต้องใช้งบมากกว่า 2 ล้านบาท “ จ่าอากาศเอกเสกสรร กล่าว
              แกนนำเครือข่าย ฯ กล่าวอีกว่า ก่อนที่ฝ่ายปกครอง อ.เมือง และ อ.ทับสะแก จะถูกทักท้วงเมื่อเดือนสิงหาคม 2555 ก่อนหน้านี้จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้ขอยืมงบทดลองจ่ายจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือ ปภ.จัดซื้อจากการประกาศเขตภัยพิบัติฉุกเฉินแมลงศัตรูมะพร้าวตั้งแต่ปี 2553 หลายอำเภอมีการจัดซื้อสาร บีที เป็นเงินกว่า 180 ล้านบาท ขณะที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)ได้ตรวจสอบเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2560 ระบุว่า สาร บีที ทั้ง 2 แห่งเป็นวัตถุอันตรายประเภท 2 เป็นขยะพิษ จากนั้นขอให้จังหวัดเร่งพิจารณาดำเนินการเคลื่อนย้ายโดยเร็ว แต่สารเคมีดังกล่าวยังไม่ได้เคลื่อนย้ายออกไปในปี 2560 ตามที่ สตง.ทักท้วง
              จ่าอากาศเอกเสกสรร กล่าวว่า สำหรับการจัดซื้อสาร บีที ที่ผ่านมามีการแอบอ้างมีมหาวิทยาลัยของรัฐบางแห่ง ให้การรับรองจากผลวิจัยการใช้สาร บีที จึงมีการร้องเรียนให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ทำการไต่สวนข้าราชการที่เกี่ยวข้องในระบบบริหารราชการส่วนภูมิภาค ทั้งการละเว้นฯไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ตั้งแต่เดือนกันยายน 2562 ผู้มีอำนาจประกาศเขตภัยพิบัติในการจัดซื้อ ไม่ได้ยืนยันว่าการจัดซื้อเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในการประกาศเขตภัยพิบัติหรือไม่ เหตุใดหลังจากกรมวิชาการเกษตรทักท้วงเมือเดือนสิงหาคม 2555 จึงยุติการจัดซื้อทันที สำหรับ ปภ. ขณะนี้ยังมีปัญหากับสำนักงบประมาณ กรณีใช้งบทดรองราชการจัดซื้อสาร บีที. 180 ล้านบาท

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!