เพชรบุรี-แกนนำชาวบ้านท่าแลงเผย การแบ่งกลุ่มพื้นที่กำจัดขยะ มีเจตนาเอื้อผลประโยชน์เอกชนชัดเจน

เพชรบุรี-แกนนำชาวบ้านท่าแลงเผย การแบ่งกลุ่มพื้นที่กำจัดขยะ มีเจตนาเอื้อผลประโยชน์เอกชนชัดเจน

ภาพ/ข่าว:สุรพล นาคนคร

แกนนำชาวบ้านท่าแลงเผย การแบ่งกลุ่มพื้นที่กำจัดขยะมูลฝอยที่เพชรบุรี มีเจตนาเอื้อผลประโยชน์ให้เอกชนชัดเจน หน่วยงานรัฐทำสัญญาจ้างเหมาแล้วทั้งๆที่โรงงานยังก่อสร้างไม่เสร็จ ใช้รถราชการขนขยะออกนอกเขตไปกองในพื้นที่โรงงาน ทั้งนกและแมลง กลิ่นและน้ำเสีย ทำชาวบ้านสุดทน

        ความคืบหน้ากรณีชาวบ้านตำบลท่าแลง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ยื่นหนังสือร้องเรียนให้ปปช.เพชรบุรี เอาผิด ผวจ.เพชรบุรี ฐานละเว้นไม่กำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของนายกเทศมนตรีตำบลท่าแลง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรีให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับของทางราชการและยังให้เอาผิดนายกอปท.อีก 7 แห่ง ทำกิจการนอกเขตฯโดยการทำสัญญาจ้างเหมาให้เอกชนกำจัดขยะมูลฝอยโดยใช้รถขนขยะของตัวเองไปส่งให้เอกชนนอกเขตทำการของตนเองอีกด้วย ซึ่งเป็นการทำสัญญาเอื้อเอกชนโดยไม่ผ่านสภาท้องถิ่นให้ความเห็นชอบก่อน
         ล่าสุดวันนี้ 11 มิ.ย.62 นายอนุวัต เวชสว่าง แกนนำชาวบ้านตำบลท่าแลงเผยว่า เรื่องการที่อปท.ในจังหวัดเพชรบุรี นำขยะเข้ามากำจัดในพื้นที่ตำบลท่าแลง ซึ่งไม่ใช่ศูนย์กำจัดขยะของส่วนราชการแต่เป็นของเอกชนที่ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา 19 แห่งพรบ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 ไม่ใช่เป็นการร่วมมือกันของอปท.ที่สามารถรวมกลุ่มกันดำเนินการกำจัดขยะกันได้ เพราะเอกชน ได้รับใบอนุญาตให้ เก็บ ขน และกำจัดขยะมูลฝอยโดยได้รับค่าตอบแทน และใบอนุญาตที่ออกให้ก็ระบุไว้ในกฎหมายชัดเจนว่า ให้ใช้ได้เพียงในเขตอำนาจของราชการส่วนท้องถิ่นที่เป็นผู้ออกใบอนุญาตนั้น
          แปลความได้ว่าเอกชนที่ได้รับใบอนุญาตนั้นจึงมีสิทธิแค่เก็บ ขน และกำจัดขยะมูลฝอยในเขตท้องถิ่นนั้น ไม่สามารถไปนำขยะมูลฝอยจากนอกเขตมากำจัดได้ อีกทั้งอปท.อื่นๆ จะนำขยะเข้ามากำจัดนอกเขตก็ถือเป็นการทำกิจการนอกเขตที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาท้องถิ่นของตนเองและสภาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง เพราะสภาท้องถิ่นปลายทางที่เอาขยะมากำจัดมีหน้าที่ต้องคำนึงถึงผลกระทบเรื่องสิ่งแวดล้อมและความเดือดร้อนรำคาญที่มีผลต่อประชาชนในพื้นที่ของตน โดยเป็นการคุ้มครองดูแลอำนวยความผาสุกแก่ราษฏรของตนเอง และต้องให้ความยินยอมตามบทบัญญัติของกฏหมายในเรื่องการทำกิจการนอกเขต ซึ่งก่อนหน้านี้นายเฉลา สุวรรณชาติ กำนันตำบลท่าแลงก็เคยทำหนังสือแจ้งไปยังนายธีรศักดิ์ พานิขวิทย์ ประธานชมรมนายกอบต.จังหวัดเพชรบุรี แล้วว่า ชาวบ้านได้รับผลกระทบจากกลิ่นและน้ำเสียรวมทั้งความเดือดร้อนรำคาญ ที่เอกชนเอาขยะเข้ามากองทิ้งนับแสนตัน โดยไม่มีหลังคาปกคลุมและยังไม่สามารถกำจัดขยะมูลฝอยได้เพราะยังก่อสร้างโรงงานไม่แล้วเสร็จ อันเป็นการดำเนินการที่ผิดหลักวิชาการและไม่ถูกสุขอนามัย ทั้งจากสัตว์และแมลงที่เป็นพาหะของโรคอีกด้วย ซึ่งเป็นเวลาหลายปีแล้วที่ดำเนินการอย่างนี้
            ชาวบ้านร้องเรียนไปต่อเนื่องในทุกระดับแล้ว หลายปีแล้วแต่เพิกเฉยปล่อยให้ชาวบ้านต่อสู้ด้วยตัวเอง อีกทั้งยังถูกเอกชนกลั่นแกล้งฟ้องร้องคดีอาญา ทั้งผู้นำชุมชน และชาวบ้านที่เดือดร้อนเรียกค่าเสียหาย 150 ล้านบาท ทั้งๆที่ตัวเองทำผิดมาตั้งแต่ต้น แจ้งดำเนินคดีไปก็ถูกเตะถ่วงดำเนินการล่าช้า นายกเทศมนตรีเอง ออกใบอนุญาตไปแล้วก็ไม่กำกับดูแล พอชาวบ้านร้องก็แค่ทำหนังสือแจ้งให้แก้ไข แต่ไม่เคยติดตามตรวจสอบหรือมีคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาต ตามอำนาจหน้าที่ที่มี กลับข่มขู่และท้าทายชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนเป็นปฏิปักษ์กับชาวบ้านที่เลือกตัวเองมาทำหน้าที่เสียอีก
            เอกชนที่ดำเนินการก็อ้างสิทธว่าเป็นผู้ได้รับสิทธิในการกำจัดขยะ มีหนังสือส่งไปถึงอปท.ทั้งจังหวัดให้นำขยะมากำจัดที่นี่ โดยอ้างมติครม.และหนังสือเวียนของมหาดไทยและกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นและหนังสือของจังหวัดเพชรบุรี ทั้งที่ไม่ได้เป็นผู้ได้รับสัปทานแต่อย่างใด ผวจ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ทราบดีแต่ไม่ออกมาทำความกระจ่างให้เกิดขึ้นจนอปท.ในพื้นที่ กลัวความผิดจึงต้องนำขยะมูลฝอยมากำจัดของเอกชน โดยไม่ทำตามขั้นตอนของข้อบังคับ ระเบียบและกฎหมาย อันเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อเอกชน เพราะจังหวัดเพชรบุรี มี 8 อำเภอ แต่จังหวัดเพชรบุรี แบ่งพื้นที่ในการกำจัดขยะออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกมี 2 อำเภอ กลุ่มที่ 2 ให้ทต.ท่าแลงเป็นหน่วยหลักทั้งๆที่ไม่มีศูนย์กำจัดขยะเป็นของตนเอง มีแต่ของเอกชน กลับกำหนดพื้นที่นี้ให้มี 5 อำเภอ ส่วนกลุ่มที่ 3 ให้มีแค่อำเภอเดียว จึงแสดงให้เห็นว่าการแบ่งพื้นที่เช่นนี้ เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนอย่างชัดเจน อีกทั้งประธานชมรมนายกอบต.จังหวัดเพชรบุรี ก็ได้ทำหนังสือค้านไว้แล้วว่า ไม่เหมาะสมและมีชาวบ้านต่อต้านเนื่องจากการดำเนินการที่ไม่ถูกวิธีและไม่เหมาะสม แต่ก็ยังปล่อยให้มีการดำเนินการ เราจะคัดค้านและเดินหน้าเอาผิดตัวการทั้งหมดที่ก่อให้เกิดความไม่โปร่งใสในเรื่องการแบ่งพื้นที่กำจัดขยะที่แอบแฝงผลประโยชน์ให้เอกชนอย่างถึงที่สุด.

             ทั้งนี้จังหวัดเพชรบุรี ดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการบริการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน “จังหวัดเพชรบุรีสะอาด” ประจำปี พ.ศ.2561 และได้กำหนดแนวทางในการดำเนินการรวมกลุ่มพื้นที่ในการจัดการขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภายในจังหวัดเพชรบุรี ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดังนี้
กลุ่มที่ 1 เทศบาลตำบลเขาย้อยเจ้าภาพหลัก จำนวน อปท.ทั้งหมด 11 แห่ง ประกอบด้วย อปท.ในเขตอำเภอเขาย้อยและอำเภอหนองหญ้าปล้อง
กลุ่มที่ 2 เทศบาลตำบลท่าแลง เจ้าภาพหลัก จำนวนอปท.ทั้งหมด 66 แห่ง ประกอบด้วย อปท.ในเขตอำเภอบ้านลาด อำเภอท่ายาง อำเภอแก่งกระจาน อำเภอเมือง และอำเภอบ้านแหลม
กลุ่มที่ 3 เทศบาลเมืองชะอำ เจ้าภาพหลัก จำนวน อปท.ทั้งหมด 7 แห่ง ประกอบด้วย อปท.ในเขตอำเภอชะอำ

สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/

CATEGORIES
TAGS
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!