นครปฐม-มหิดลอาสาทำความดี ครบรอบ 50 ปีวันพระราชทานนามฯ

นครปฐม-มหิดลอาสาทำความดี ครบรอบ 50 ปีวันพระราชทานนามฯ

รวมพลังนักศึกษาร่วมทำกิจกรรมจิตอาสาเพื่อประโยชน์สังคมและชุมชน

ภาพ/ข่าว:อริย์ธัช พรอัศวโยธิน

     องค์การนักศึกษาและสภานักศึกษาบัณฑิตวิทยาลัย ม.มหิดล รวมพลังนักศึกษาร่วมทำกิจกรรมจิตอาสาเพื่อประโยชน์สังคมและชุมชนในโครงการ “มหิดลอาสาทำความดี ครบรอบ 50 ปีวันพระราชทานนาม 131 ปีมหาวิทยาลัยมหิดล”

        พระราชปณิธานของ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ที่ว่า “ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง ลาภทรัพย์และเกียรติยศจะตกมาแก่ท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งวิชาชีพไว้ให้บริสุทธิ์” นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลทุกคนได้น้อมรับนำมาเป็นแบบอย่างในการดำรงชีวิต และระลึกอยู่เสมอว่าต้องทำประโยชน์ให้กับแผ่นดินเห็นประโยชน์ส่วนรวมมาก่อนประโยชน์ส่วนตน
       ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่า การที่นักศึกษาจะประสบความสำเร็จในชีวิตการทำงาน และชีวิตส่วนตัวนั้น นักศึกษาจำเป็นต้องมีมากกว่าความรู้ที่ได้รับจากการเรียนในห้องเรียน การพัฒนาทักษะที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน และการใช้ชีวิตในสังคม ที่เรียกกันว่า Soft skills ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน โดย บัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กำหนดทักษะพื้นฐานที่นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ควรจะมีได้แก่ 1. ทักษะด้านภาษาและการสื่อสาร (Communication and  Language skills) 2. ทักษะด้านการเป็นผู้นำ (Leaderships and management skills) 3. ทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม (Creative and innovation skills) และ 4. ทักษะทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information technology skills) ซึ่งการที่จะทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมได้นั้นไม่จำเป็นต้องทำในขณะที่อยู่ในวัยทำงาน หรือช่วงเวลาหลังจบการศึกษา เพราะการที่จะหล่อหลอม และปลูกฝังให้บัณฑิตของมหาวิทยาลัยมหิดลเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ได้นั้น ต้องเริ่มทำตั้งแต่กำลังศึกษาอยู่ภายในรั้วมหาวิทยาลัย
       ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2561 – พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา องค์การนักศึกษาและสภานักศึกษาบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ริเริ่มจัดกิจกรรมโครงการ “มหิดลอาสาทำความดี ครบรอบ 50 ปีวันพระราชทานนาม 131 ปีมหาวิทยาลัยมหิดล” ขึ้นเป็นปีแรก โดยได้รับความร่วมมือจาก ฝ่ายพันธกิจสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในการสนับสนุนข้อมูล และติดต่อพื้นที่เป้าหมาย เพื่อหารูปแบบกิจกรรมจิตอาสา และหาตัวแทนนักศึกษาจากคณะต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัยฯ ที่สนใจมาร่วมทำกิจกรรมจิตอาสากับโครงการฯ เพื่อให้นักศึกษาได้ฝึก Soft skills ด้านทักษะการเป็นผู้นำ (Leaderships and management skills) โดยได้มาร่วมวางรูปแบบกิจกรรมจิตอาสาร่วมกัน
       นายอภิรักษ์ บำยุทธ นายกองค์การนักศึกษาบัณฑิตวิทยาลัยและประธานโครงการฯ เล่าถึงที่มาของโครงการว่า เกิดจากปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดลที่ว่า เราจะเป็นปัญญาของแผ่นดิน ซึ่งตัวเองมองว่า คือ เราน่าจะมีการนำความรู้ของนักศึกษาไปทำประโยชน์เพื่อแผ่นดินของเรา เนื่องจากเป็นกิจกรรมนักศึกษา จึงได้เลือกที่จะกำหนดขอบเขตคำว่าแผ่นดินให้เล็กลง ให้เหลือเพียงพื้นที่ที่อยู่ใกล้เคียงกับมหาวิทยาลัยของเรา ซึ่งได้แก่ โรงเรียนวัดสุวรรณาราม ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม โดยคิดว่าเราน่าจะมีกิจกรรมจิตอาสาที่สามารถนำความรู้ของพวกเราไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์กับพื้นที่นั้นได้จริงๆ และเป็นสิ่งที่เรารู้จริงด้วย ซึ่งตามปกติของงานอาสาทั่วไปจะเป็นงานที่ใช้ระยะเวลาในการทำเพียงช่วงหนึ่ง เช่น 3 วัน 5 วัน หรือ 15 วัน โดยรูปแบบกิจกรรมจะเป็นกิจกรรมที่ทุกๆ คณะสามารถทำร่วมกันได้ เช่น บริจาคสิ่งของ ปรับปรุงภูมิทัศน์ หรือ ก่อสร้าง เป็นต้น

แต่ภายในโครงการฯ ของพวกเราในครั้งนี้จะมีความแตกต่างกับกิจกรรมจิตอาสาทั่วไปคือต้องมีการประเมินก่อนว่า ทางโรงเรียนมีกิจกรรม หรือประเด็นอะไรที่ต้องการให้พวกเราเข้าไปทำกิจกรรมบ้าง โดยพวกเราจะหาคนที่มีความเชี่ยวชาญ หรือเรียนมาเฉพาะด้านมาร่วมด้วย และมีการติดตามประเมินผลเพื่อพัฒนากิจกรรม เนื่องจากพวกเราเป็นนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา จึงไม่มีเวลามากพอที่จะรวมตัวกันทำกิจกรรมในพื้นที่เป็นระยะเวลานานได้ พวกเราจึงเลือกที่จะใช้ระยะเวลาดำเนินกิจกรรมในพื้นที่ให้น้อย แต่เน้นในการเตรียมงานเบื้องหลังให้มาก ไม่ว่าจะเป็นงานการเตรียมรายละเอียดงาน และการวางแผนระยะยาวให้กับโรงเรียน ซึ่งเป็นข้อแตกต่างจากกิจกรรมจิตอาสาที่เคยทำมาในระดับปริญญาตรี
        โดยกิจกรรมที่โครงการฯ ได้ดำเนินการจัด ณ โรงเรียนวัดสุวรรณาราม ได้แก่ กิจกรรมสอนภาษาอังกฤษ กิจกรรมการคัดแยะขยะ กิจกรรมส่งเสริมคุณภาพน้ำดื่มของโรงเรียน กิจกรรมปรับปรุงภูมิทัศน์โรงเรียน กิจกรรม Big Cleaning Day กิจกรรมแผนที่ท่องเที่ยว และ กิจกรรมส่งเสริมความปลอดภัยในโรงเรียน โดยแบ่งการดำเนินกิจกรรมออกเป็น 3 ช่วงเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบไปด้วยช่วงเตรียมการ (ระยะที่ 1) เพื่อลงพื้นที่ศึกษาชุมชน หารูปแบบกิจกรรมจิตอาสาและคณะฯ ที่จะเข้าร่วมในโครงการฯ และช่วงดำเนินการ (ระยะที่ 2) เพื่อนำรูปแบบกิจกรรมที่ร่วมกันออกแบบในช่วงเตรียมการไปทำกิจกรรมจิตอาสา และสุดท้ายช่วงประเมินผล (ระยะที่ 3) เพื่อประเมินความสำเร็จของโครงการ และทำการสรุปข้อมูลเพื่อนำไปพัฒนาและต่อยอดโครงการฯ ในปีถัดไป
      ทั้งนี้ พวกเราได้มีการเตรียมข้อมูลของชุมชน และการประชุมวางแผนร่วมกันเป็นระยะๆ เพื่อให้การทำกิจกรรมเกิดประโยชน์กับส่วนรวมมากที่สุด โดยมีนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษามาร่วมทำกิจกรรมจากหลากหลายคณะ/สถาบัน อาทิ คณะสาธารณสุขศาสตร์ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาลัยราชสุดา สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ และ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว
       ในส่วนของกิจกรรมส่งเสริมคุณภาพน้ำดื่มของโรงเรียน ได้ดำเนินการโดยนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย นายคณุตม์ ทองพันชั่ง นักศึกษาปริญญาโท วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (อนามัยสิ่งแวดล้อม) มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในอาสาสมัครผู้ทำกิจกรรมอาสาของโครงการฯ เล่าว่า “พวกเรามาทำความดี โดยมาดูในเรื่องของคุณภาพน้ำดื่ม โดยเก็บตัวอย่างน้ำ ก่อนที่จะเข้าเครื่องกรองน้ำ และหลังการกรอง นำไปวิเคราะห์ผลในห้องปฏิบัติการทางด้านเคมี กายภาพ และชีวภาพ เพื่อดูว่าน้ำที่น้องๆ ใช้ดื่มกันมีการปนเปื้อนที่เกินมาตรฐานน้ำบริโภคหรือเปล่า ถ้าน้ำดื่มมีการปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐาน อาจทำให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้
       ทางหน่วยงานรัฐจึงได้กำหนดค่ามาตรฐานขึ้นมาว่าไม่ควรจะเกินเท่าไหร่ ค่าตัวเลขที่ได้มา หากเกินค่ามาตรฐานจะดูย้อนกลับไปว่าเกิดจากสาเหตุอะไร มีวิธีการปรับปรุง แก้ไขอย่างไรได้บ้าง ซึ่งทางโครงการฯ อยากให้โรงเรียนได้ตระหนักถึงสุขภาพของเด็ก โดยดูว่าคุณภาพน้ำดื่มได้มาตรฐานหรือเปล่า ซึ่งเราจะมาช่วยให้ความรู้เพิ่มเติมกับโรงเรียนว่า น้ำนั้นมีความสำคัญอย่างไร น้ำดิบที่นำมาใช้อาจก่อให้เกิดผลกระทบอะไรได้บ้าง และแนะนำต่อไปว่า ถ้ามีปัญหาควรจะจัดการอย่างไร เช่น การปรับปรุงคุณภาพน้ำ หรือเปลี่ยนวิธีการกรอง”
        นอกจากนี้ ในส่วนของการสอนภาษาอังกฤษ ทางโครงการฯ ได้จัดให้นักศึกษา Brand Ambassador ของบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มาเป็นผู้ดำเนินกิจกรรม โดย นางสาวตรีรัตษ์ชญากร แก้วปัญญา เล่าว่า “มหาวิทยาลัยมหิดลมีศาสตร์มากมาย และเราจะสามารถนำศาสตร์ที่หลากหลายของมหาวิทยาลัยมาผนึกรวมกันให้เป็นก้อนพลังเดียวในการขับเคลื่อนได้อย่างไรนั้นเป็นเรื่องที่น่าท้าทาย โดยเราจะได้รู้ว่าจริงๆ แล้ว ตัวเองถนัดด้านไหน แล้วนำความถนัดนั้นมาทำให้เกิดประโยชน์ได้มากที่สุด ซึ่งการที่เราเป็นผู้ให้ไม่ได้ต้องการอะไรตอบแทนเลย จากการที่ตัวเองได้เป็นจิตอาสาสอนภาษาอังกฤษ ถามว่าเตรียมตัวเหนื่อยไหม ตอบเลยว่าเหนื่อยมากๆ แต่รู้ไหมว่าความเหนื่อยหายไปเลย เพียงแค่น้องๆ เรียก “พี่เชอรี่” แล้วกอด แค่ครั้งเดียวทุกคนยิ้มและปรบมือให้ ทำเอาเราหายเหนื่อยไปเลย”
        โครงการ “มหิดลอาสาทำความดี“ ครบรอบ 50 ปีวันพระราชทานนาม 131 ปีมหาวิทยาลัยมหิดล” ได้เสร็จสิ้นแล้ว และมีการสรุปผลไปเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา โดย นายธนพล รักงาม นักศึกษาระดับปริญญาโท สาขาการศึกษาสำหรับบุคคลที่มีความต้องการพิเศษ วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในอาสาสมัครโครงการฯ กล่าวว่า การทำกิจกรรมมหาวิทยาลัยเป็นพื้นฐานที่จำเป็นต้องใช้ประสบการณ์ที่มีความหลากหลายในการนำความรู้ไปสอนน้องๆ โดยได้รับการสอนงานจากพี่ๆ ที่มีประสบการณ์ การจัดการเรียนการสอนไม่ใช่เอาคะแนนอย่างเดียว เอาชั่วโมงกิจกรรมอย่างเดียว แต่ว่าเราเอาประสบการณ์ไปปรับใช้ในการทำงานได้ด้วย
        นายอภิรักษ์ บำยุทธ นายกองค์การนักศึกษาบัณฑิตวิทยาลัยและประธานโครงการฯ กล่าวสรุปว่า ผลที่ได้จากการทำกิจกรรมจิตอาสาครั้งนี้ จะเป็นต้นแบบที่ทำให้นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษารุ่นหลังนำไปต่อยอดและพัฒนากิจกรรมจิตอาสาที่นำความรู้ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและชุมชนได้ต่อไป

CATEGORIES
TAGS
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!