การวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่นแต่ทรัพย์นั้นมีราคาน้อย จะปรับบทลงโทษอย่างไร ??

การวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่นแต่ทรัพย์นั้นมีราคาน้อย จะปรับบทลงโทษอย่างไร ??

คอลัมน์:ทนายท้องถิ่นเล่ากฏหมาย
พิจารณาศึกษาจากคำพิพากษาฎีกาที่ 10647/2554
ป.อ. มาตรา 217, 223

“จำเลยจุดไฟเผาร้านของผู้เสียหายทำให้เกิดเพลิงลุกไหม้เป็นเหตุให้โต๊ะเก้าอี้ อุปกรณ์เคลือบบัตร ไม้ และกระเบื้องของร้านเสียหาย รวมราคาทรัพย์ที่ถูกเพลิงไหม้ทั้งสิ้นประมาณ 15,500 บาท ร้านของผู้เสียหายดังกล่าวมีลักษณะเป็นเพลิงไม้ชั้นเดียว ยกพื้นสูงเป็นห้องโล่ง ปลูกอยู่ริมถนนเหนือคูน้ำไม่มีผู้ใดพักอาศัย รอบๆ ไม่มีบ้านเรือนบุคคลอื่นอยู่ ดังนี้ จึงต้องถือว่า ร้านของผู้เสียหายและทรัพย์สินถูกเพลิงไหม้มีราคาน้อยทั้งขณะเกิดเหตุไม่มีบุคคลอยู่อาศัยย่อมไม่น่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 223
ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลย ตาม ป.อ. มาตรา 217 ให้จำคุก 2 ปี และศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืนโดยไม่ได้แก้ไขจึงเป็นการไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้จำเลยจะมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขปรับบทลงโทษจำเลยให้ถูกต้องได้ ประกอบกับในชั้นฎีกาจำเลยวางเงินชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหาย 15,500 บาท ต่อศาลชั้นต้น ถือได้ว่าเป็นการบรรเทาผลร้ายที่เกิดขึ้นจึงเห็นควรกำหนดโทษให้เหมาะสมด้วย  ศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 223 จำคุก 1 ปี”
หมายเหตุ
1. ป.อ. มาตรา 217 บัญญัติว่า “ผู้ใดวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 1,000 บาท ถึง 14,000 บาท……..”
2. ป.อ. มาตรา 223 บัญญัติว่า “ความผิดดังกล่าวในมาตรา 217 มาตรา 218 มาตรา 220, มาตรา 221 หรือมาตรา 222 นั้น ถ้าทรัพย์ที่เป็นอันตรายหรือที่น่าจะเป็นอันตรายเป็นทรัพย์ที่มีราคาน้อยและการกระทำนั้นไม่น่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 6,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ…..”
3. ป.อ. มาตรา 223 เป็นกรณีวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่นแล้วผู้กระทำได้รับโทษน้อยลง การปรับบทลงโทษน่าจะเป็นว่า “จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 217 ประกอบด้วยมาตรา 223” หรือไม่ ให้พิจารณาศึกษาเปรียบเทียบกับคำพิพากษาฎีกาต่อไปนี้

ในประเด็นการปรับบท
คำพิพากษาฎีกาที่ 722/2545
ป.อ. มาตรา 218, 223
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยบุกรุกเข้าไปในบ้านอันเป็นเคหสถานที่อยู่อาศัยของนายวิลัย สร้อยไข และนางกองสี สร้อยไข ผู้เสียหายทั้งสอง โดยไม่มีเหตุสมควรโดยไม่ได้รับอนุญาต และขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย จากนั้นจำเลยได้วางเพลิงเผาบ้านอันเป็นโรงเรือนที่ผู้เสียหายทั้งสองอยู่อาศัยโดยใช้น้ำมันเบนซินราดที่ประตูบ้านแล้วจุดไฟเผา เป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้ แต่ผู้เสียหายดับไฟทันก่อนที่จะลุกไหม้รุนแรงต่อไป จึงเพียงแต่เป็นเหตุให้ประตูบ้านซึ่งทำด้วยไม้มะค่าและต้นไม้ประดับถูกเพลิงไหม้เสียหายคิดเป็นเงินประมาณ5,000 บาท เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมกระป๋องบรรจุน้ำมันเบนซิน1 กระป๋องและไฟแช็กแก๊ส 1 อัน ซึ่งเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเลยใช้ในการวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้เสียหาย เป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 218, 364, 365 และริบของกลาง จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 218(1) ให้จำคุก 5 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก 2 ปี 6 เดือน ริบของกลาง ฟ้องโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์  ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 223 หรือไม่ เห็นว่า ทรัพย์ที่เป็นอันตรายจากการวางเพลิงของจำเลยเป็นเพียงประตูบ้าน ซึ่งทำด้วยไม้มะค่าและต้นไม้ประดับคิดเป็นเงินประมาณ5,000 บาท ซึ่งถือได้ว่าเป็นทรัพย์ที่มีราคาน้อย และขณะเกิดเหตุผู้เสียหายทั้งสองก็อยู่ในเกิดเหตุและสามารถดับไฟได้ทัน การกระทำของจำเลยจึงไม่น่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 218(1) ประกอบด้วยมาตรา 223 ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น…”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 218(1) ประกอบด้วยมาตรา 223 ให้จำคุก 2 ปี และปรับ 6,000 บาทจำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปีและปรับ 3,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี และคุมความประพฤติจำเลยไว้ 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติปีละ 3 ครั้ง ตามเงื่อนไขและกำหนดระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรกำหนด ให้จำเลยละเว้นการประพฤติใดอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิดทำนองนี้อีก กับให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรมีกำหนด 30 ชั่วโมงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!