นครสวรรค์-นายก อบจ.ร่วมเวทีสร้างความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระบบสุขภาพ ระหว่าง กขป.เขต 3 และ กขป.เขต 4

นครสวรรค์-นายก อบจ.ร่วมเวทีสร้างความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระบบสุขภาพ ระหว่าง กขป.เขต 3 และ กขป.เขต 4

ภาพ-ข่าว:ชาติชาย เกียรติพิริยะ

                   เมื่อเวลา 08:30 น. วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566 พล.ต.อ.สมศักดิ์ จันทะพิงค์ นายก อบจ.นครสวรรค์ ในฐานะประธานคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) เขตพื้นที่ 3 ร่วมเสวนาเวทีสร้างความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระบบสุขภาพ ระหว่าง กขป.เขต 3 และ กขป.เขต 4 ร่วมกับ นพ.วีระวัฒน์ พันธ์ครุฑ ประธาน กขป.พื้นที่เขต 4 พร้อมด้วย ดร.วิสุทธิ บุญญะโสภิต และ ดร.ชำนาญ วัฒนศิริ รองประธาน กขป.พื้นที่เขต 3 ดร.นเรศ คงโต เลขานุการ กขป.พื้นที่เขต 3 ดร.วิสุทธิ สุกรินทร์ เลขานุการ กขป.พื้นที่เขต 4 และ นพ.สมพงษ์ ยูงทอง อนุกรรมการยุทธศาสตร์ กขป.พื้นที่เขต 3 ณ ห้องประชุมเสือพ่นน้ำ แหล่งท่องเที่ยวบึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์
                 โดยประเด็นหลักที่มีการนำเสนอกรอบความคิดการขับเคลื่อนงานซึ่ง ในส่วนเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เขตพื้นที่ 3 นั้นได้ดำเนินงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 3 ประเด็นได้แก่ ด้านเกษตรสุขภาวะ สุขแท้ที่บ้านเกิด ด้านระบบบริการสุขภาพเขตเมือง โดยเน้นเรื่องการพัฒนางานรพ.สต.(ที่ถ่ายโอนให้ อบจ.นครสวรรค์) เรื่องการพัฒนาระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ และด้านชุมชนเข้มแข็ง ซึ่งกรอบความคิดหลักในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิของเขต 3 นั้น เพื่อปลุกจิตวิญญาณวิชาชีพและวิชาการ ตามแนวคิด สร้างนำซ่อม การสร้างสุขภาพองค์รวมที่ตำบล(หมออนามัยถือธงนำ) และการรวมพลังในชุมชน โดยมี รพ.สต.เป็นจุดเชื่อมโยงร่วมด้วย เพื่อพัฒนาระดับจังหวัด ประกอบด้วย งานสาธารณสุขมูลฐาน งานการแพทย์แผนไทย งานการแพทย์ฉุกเฉินและการส่งต่อ งานฟื้นฟูสมรรถภาพและกายอุปกรณ์ งานพัฒนาบุคลากร (วิชาการ วิชาชีพ) และงานพัฒนาระบบสารสนเทศ โดยมีการทำงานร่วมกับ ภาคีเครือข่ายหลายภาคส่วนที่ร่วมกัน เพื่อพัฒนานำไปสู่ชุมชนเข้มแข็งเกิดประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด
                   โดยพลตำรวจเอกสมศักดิ์ จันทะพิงค์ กล่าวว่า “ขอขอบคุณที่ได้มาร่วมเวทีในวันนี้ ซึ่งเหมือนมีมิตรสหายมาเยือน เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน อบจ.นครสวรรค์โชคดีมาก เนื่องจากเริ่มแรกมีการรับโอน รพ.สต.เข้ามาสังกัด ท้องถิ่นยังขาดความรู้ด้านวิชาการและทฤษฎี ซึ่งการทำงานร่วมกับ กขป.เขต 3 จึงเสมือนมีผู้รู้ร่วมศึกษาปัญหาร่วมกัน และมีภาควิชาการภาคีเครือข่าย ร่วมแลกเปลี่ยน ระดมความคิด และตกผลึกเป็นแผนงาน ซึ่งมีการวางแผน มีชุมชนที่เป็นภูมิปัญญา มีปราชญ์ชาวบ้านที่ชาญฉลาด และหลายฝ่ายก็มีแนวคิด มีความชำนาญในหลายๆด้าน ประกอบกับทางอบจ.นครสวรรค์ มีรพ.สต.ที่ถ่ายโอนมาทำให้มีพื้นที่ด้านสุขภาวะ แต่ทุกการทำงานนั้นต้องอยู่ในแนวทางและตามกรอบของระเบียบแบบแผน โดยมีรพ.สต.ขับเคลื่อนการทำงานร่วมกับสปสช. มีการกำหนดทิศทาง วางรากฐานวางแนวทางที่ดี เพื่อเป้าหมายสุขภาวะทิศทางเดียวกันทั่วประเทศ แต่บางพื้นที่อาจจะมีความแตกต่างกันบ้างตามสภาพพื้นถิ่นของชุมชน การดำเนินงานของ กขป.เขต 3 จึงมีการทำงานแบบวางรากฐาน มีต้นแบบโดยธรรมนูญชุมชนและสอดคล้องกับการทำงานของท้องถิ่น และจะนำร่องโมเดล ในอ.แม่วงก์ อ.เก้าเลี้ยว ก่อนเพื่อวางรากฐานและขยายผลในแต่ละพื้นที่ต่อไป”
                 จากนั้น มีการนำเสนอแนวทางการขับเคลื่อนระบบสุขภาพในเขต 4 ประกอบด้วยจังหวัด ลพบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา นครนายก นนทบุรี ปทุมธานี สระบุรี ซึ่งโดยรวมแล้วมีรูปแบบคล้ายคลึงกัน แต่จะมีบริบทที่แตกต่างในส่วนของพื้นที่ เนื่องจาก กขป.เขต 3 นั้นส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ด้านการเกษตร แต่กขป. เขต 4 จะมีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นด้านอุตสาหกรรม จึงได้มีการแลกเปลี่ยนมุมมองร่วมกันในครั้งนี้

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!