ปทุมธานี-การออมและการลดหนี้สินของสมาชิกสหกรณ์

ปทุมธานี-การออมและการลดหนี้สินของสมาชิกสหกรณ์

—————-พื้นที่ประชาสัมพันธ์——————

ภาพ/ข่าว:อนันต์ วิจิตรประชา

การออมและการลดหนี้สินของสมาชิกสหกรณ์

            หลายๆท่านคงเคยได้ยินได้รับฟังสำนวน คำคม แบบไทยๆที่มักมีการพูดถึงกันอยู่บ่อยๆ ไม่ว่า จะเป็นสำนวนที่ว่า ออมในวันนี้เป็นเศรษฐีในวันหน้า หรือ ความไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ หรือการออมนั้นสำคัญไฉน ด้วยแนวคิดหรือคำกล่าวเชิงสร้างสรรค์ทั้งหลายเหล่านี้ผู้เขียนขอยกมาเป็นหัวข้อในการสนทนากันกับท่านผู้อ่านและสมาชิกสหกรณ์ รวมถึงสหกรณ์ซึ่งเป็นต้นสังกัดของสมาชิกสหกรณ์ด้วย โดยจะแนะนำแนวทางตามประเภทของสหกรณ์แต่ละประเภท เนื่องจากบริบทของสหกรณ์แต่ละประเภทมีความแตกต่างกันนั่นเอง
             เรามาเริ่มกันที่สหกรณ์ภาคการเกษตร ซึ่งได้แก่ สหกรณ์การเกษตร สหกรณ์นิคม สหกรณ์ประมง แนวทางการส่งเสริมการออมและการลดหนี้ของสมาชิกสหกรณ์มีดังนี้ 1. สหกรณ์ต้องจัดทำกิจกรรมส่งเสริมการออม ได้แก่ การให้เงินกู้ควรให้สมาชิกถือหุ้นเพิ่ม การระดมเงินค่าหุ้นโดยจัดทำโครงการพิเศษเนื่องในวาระสำคัญต่างๆ การระดมเงินออมโดยการให้ดอกเบี้ยพิเศษ การจัดสัปดาห์แห่งการออมในฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตเพื่อให้สมาชิกนำเงินที่ได้จากการจำหน่ายผลผลิตมาฝาก และให้อัตราดอกเบี้ยพิเศษ หรือมอบของขวัญหรือประสานสาธารณสุขเพื่อตรวจสอบสุขภาพเบื้องต้น ให้ฟรี การจัดคลินิกแก้จน หรือจัดสัปดาห์หรือจัดเป็นประจำทุกวันที่สหกรณ์กำหนดเพื่อให้ความรู้ด้านการออม การวางแผนทางการเงิน การแก้ปัญหาหนี้สิน โดยตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกับเจ้าหน้าที่สหกรณ์มาให้ความรู้แก่สมาชิกสหกรณ์ การสร้างทีมเฉพาะกิจเคลื่อนที่ ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์และคณะกรรมการสหกรณ์เพื่อพบปะเยี่ยมสมาชิกที่บ้าน ให้ความรู้ ให้คำปรึกษาแนวทางการเงิน การออม การแก้ปัญหาหนี้สิน ตลอดจนส่งเสริมการทำบัญชีครัวเรือน ฯลฯ 2. สหกรณ์สนับสนุนการประกอบอาชีพของสมาชิก สร้างรายได้ ได้แก่ จัดตลาดนัดปัจจัยการผลิตโดยนำปัจจัยการผลิตมาจำหน่ายในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด การพัฒนาประสิทธิภาพและคุณภาพในการผลิตของสมาชิก รวมถึงรับซื้อในราคายุติธรรม และหาช่องทางการตลาดอื่นๆ ให้สมาชิก ส่งเสริมให้สมาชิกประกอบอาชีพเสริม โดยจัดฝึกอบรมให้ความรู้ พัฒนาทักษะ จัดหาวัตถุดิบคุณภาพดีราคายุติธรรม ประชาสัมพันธ์ จำหน่าย และกระจายสินค้าให้สมาชิก การส่งเสริมให้สมาชิกปรับใช้การผลิตแบบอินทรีย์ซึ่งสามารถลดการใช้ปัจจัยการผลิต เช่น ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า ปุ๋ยเคมี ที่มีราคาแพงลงได้มาก และยังไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล และเวลาที่ต้องสูญเสียไปจากการเจ็บป่วยได้อีกด้วย การส่งเสริมให้สมาชิกผลิตปัจจัยการผลิตไว้ใช้เอง เช่น การเพาะเมล็ดพันธุ์ การทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก น้ำหมักจุลินทรีย์ อาหารสัตว์ เป็นต้น และหากมีเหลือใช้ให้แบ่งจำหน่ายให้สมาชิกด้วยกัน นอกจากจะช่วยสร้างรายได้ ลดรายจ่ายแล้ว ยังช่วยให้สมาชิกสหกรณ์คนอื่นๆ มีปัจจัยการผลิตราคาถูกไว้ใช้ด้วย การส่งเสริมกิจกรรมการแบ่งปันความรู้ในการผลิตระหว่างสมาชิก เพื่อพัฒนาต่อยอดความรู้และประสบการณ์ในการประกอบอาชีพ อาจพัฒนาเป็นกลุ่มความรู้ต่างๆ ตามประเภทการผลิตที่เหนียวแน่น สหกรณ์อาจให้กลุ่มเหล่านี้เสนอโครงการเล็กๆ เพื่อพัฒนาอาชีพของกลุ่มและให้การสนับสนุนตามความเหมาะสม มีการประกวดโครงการที่ประสบความสำเร็จ และให้ผู้นำกลุ่มเผยแพร่วิธีการ ขั้นตอน ให้กับกลุ่มอื่นๆต่อไป 3. สหกรณ์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดฝึกอบรมให้ความรู้แก่สมาชิกและพัฒนาเป็น Smart member โดยพัฒนาหลักสูตรให้ครอบคลุมทั้งหลักการและวิธีการสหกรณ์ บทบาทหน้าที่ของสมาชิก การออม การวางแผนทางการเงิน การบริหารจัดหนี้สิน ให้สมาชิกใหม่มีความตระหนักรู้ ให้ความสำคัญต่อการออม และผลในระยะยาวของการเป็นหนี้ตั้งแต่เริ่มต้น
               สหกรณ์นอกภาคการเกษตร ได้แก่ สหกรณ์ออมทรัพย์ สำหรับสหกรณ์ออมทรัพย์ ได้กำหนดแนวทางส่งเสริมสหกรณ์ด้านการวางแผนทางการเงินแก่สมาชิก ได้แก่ 1. ส่งเสริมแนะนำให้สหกรณ์ออมทรัพย์จัดอบรมให้ความรู้แก่สมาชิกในการวางแผนทางการเงิน โดยนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณา กำหนดเป็นแผนปฏิบัติงานประจำปีหรือสอดแทรกเนื้อหาในการอบรมสัมมนาประจำปีของสหกรณ์ หรือการอบรมสมาชิกใหม่ อาจมีการทดสอบความรู้ด้านการเงินก่อนและหลังอบรม 2. ส่งเสริมแนะนำให้สหกรณ์ออมทรัพย์จัดกิจกรรมการให้ความรู้ทางการเงินแก่สมาชิก เช่น มุมที่ปรึกษาด้านการเงิน คลินิกสหกรณ์แก้ไขปัญหาหนี้สินสมาชิก การออม การวางแผนก่อนการเกษียณ การลงทุน 3. เผยแพร่ด้านการการวางแผนทางการเงิน เช่น เอกสารเผยแพร่ เวปไซด์ วารสารสหกรณ์ จดหมายข่าว อีเมลล์ Application line บอร์ดประชาสัมพันธ์ เป็นต้น 4. ให้มีการติดตามประเมินผลผู้ผ่านการอบรมหรือร่วมกิจกรรมการวางแผนทางการเงิน เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนาปรับปรุงหลักสูตรหรือกิจรรม 5. เผยแพร่กิจกรรมการวางแผนทางการเงิน เช่น คลินิกสหกรณ์ได้แก้ไขปัญหาหนี้สินสมาชิกจำนวน (ราย) ส่งเสริมการออมไว้ใช้ยามเกษียณอายุ ในรายงานกิจการประจำปีของสหกรณ์ 6. ส่งเสริม สนับสนุนให้สหกรณ์จัดกิจกรรมการออมให้วันออมแห่งชาติ เป็นประจำทุกปี 7.ส่งเสริมสหกรณ์ให้มีการเพิ่มผลิตภัณฑ์การออมทั้งระยะสั้น และระยะยาว เช่น การออมเพื่อการเกษียณอายุ ส่งเสริมให้สมาชิกออมเงินโดยหักจากเงินเดือนเข้าบัญชีเงินฝากเป็นประจำทุกเดือน 8. สร้างความเชื่อมั่นให้แก่สมาชิกในการออมเงินกับสหกรณ์ เช่น มีระบบการตรวจสอบเงินบัญชีผ่านแอปพลิเคชั่น ระบบการตรวจสอบและยืนยันยอดเงิน มีระบบบริหารจัดการความเสี่ยง มีระบบการรับฝากและถอนเงิน 9. ส่งเสริมการดำเนินชีวิตตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในการลดรายจ่ายฟุ่มเฟือยเพื่อให้มีเงินเหลือในการอดออม 10. ส่งเสริมสนับสนุนให้สหกรณ์ออมทรัพย์มีกิจกรรม/โครงการเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่สมาชิก เช่น การสอนอาชีพเสริม สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน แนวทางในการส่งเสริมได้แก่ 1. คำแนะนำแนวทางส่งเสริมสหกรณ์เป็นองค์กรทางการเงินและสวัสดิการชุมชน เพื่อให้สำนักงานสหกรณ์จังหวัด ใช้เป็นแนวทางในการส่งเสริมแนะนำให้สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน เป็นที่ปรึกษาทางการเงินแก่สมาชิก เพื่อให้สมาชิกมีการวางแผนในการใช้จ่ายในครอบครัวอย่างสมดุล รู้จักการออมโดยการถือหุ้นและฝากเงินไว้กับสหกรณ์เพื่อประโยชน์ในการใช้จ่ายในเวลาฉุกเฉินและจำเป็น และเมื่อจำเป็นต้องกู้ยืมเงินจากสหกรณ์ก็สามารถชำระหนี้คืนได้ตามกำหนดระยะเวลา โดยกำหนดกิจกรรม 5 ด้าน ได้แก่ การให้ความรู้ทางการเงิน จัดทำโครงการแก้ไขปัญหาทางการเงิน การส่งเสริมอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้ การจัดทำบัญชีครัวเรือน การให้คำปรึกษาแนะนำการใช้จ่ายเงินให้แก่สมาชิกสหกรณ์ 2. ส่งเสริมให้สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนติดตามให้สมาชิกมีการถือหุ้นเป็นไปตามข้อบังคับสหกรณ์ 3. ส่งเสริมสนับสนุนให้สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนจัดกิจกรรมส่งเสริมการออมในเทศกาลสำคัญต่างๆ เช่น การฝากเงินในวันออมแห่งชาติ วันสหกรณ์แห่งชาติ เป็นต้น 4. ส่งเสริมและแนะนำให้สหกรณ์ติดตามเร่งรัดหนี้สินค้างชำระจากสมาชิกสหกรณ์ เพื่อลดความเสี่ยงจากหนี้สูญ และเป็นการเพิ่มอัตราส่วนเงินออมต่อหนี้สินของสมาชิก

                สหกรณ์บริการ แนวทางในการดำเนินงาน 1. ประเมินสถานภาพของสหกรณ์ว่ามีความพร้อม หรือด้อยประสิทธิภาพในการดำเนินงานด้านใดบ้าง 2. สร้างความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์ด้วยการส่งเสริม ผลักดันสหกรณ์ที่มีความพร้อมด้วยการส่งเสริมแนะนำให้สหกรณ์จัดทำแผนเพิ่มทุนภายในของสหกรณ์ และลดหนี้เงินกู้ค้างชำระประกอบด้วย แผนเพิ่มทุนภายใน วิธีการ การออมโดยวิธีการถือหุ้นและรับฝากจากสมาชิก โดยชี้แจงประชาสัมพันธ์ผลดีของการออมเงิน เช่น ถือหุ้นได้ผลตอบแทนเป็นเงินปันผล ซึ่งได้ผลตอบแทนสูงกว่าธนาคาร และฝากเงินกับสหกรณ์ด้วยการฝากออมทรัพย์ (ดอกเบี้ยสูงกว่าธนาคาร) ไม่ต้องเสียภาษี และยังเป็นการช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามอุดมการณ์สหกรณ์ และให้นำแนวคิดสมการสู่ความมั่งคงทางการเงินเผยแพร่เพื่อผลักดันสู่ผลสัมฤทธิ์ด้วย สมการสู่ความมั่นคงทางการเงิน รายรับ – เงินออม = ค่าใช้จ่าย และขั้นตอนของการออมเงินอย่างฉลาด ออมทันทีเมื่อมีรายรับ ตั้งเป้าหมายการออมเป็น 4 ขั้นตอนในการตั้งเป้าหมายการออม ได้แก่ กำหนดเป้าหมาย กำหนดจำนวนเงินที่ต้องการ ระยะเวลาในการออม ทำอย่างไรให้ได้ตามเป้าหมาย ลงทุนเพื่อให้เงินงอกเงย การควบคุมภายในที่ดี กรรมการ + ฝ่ายจัดการ มีธรรมาภิบาล โดยน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในสหกรณ์
3. การมีเพิ่มปริมาณธุรกิจของสหกรณ์ เพื่อรักษารายได้ให้กับสหกรณ์เพียงพอและสามารถจัดจ้างเจ้าหน้าที่ได้ เช่น การบริการตู้ล้างรถหยอดเหรียญ ค่าบริการหยอดเหรียญขั้นต่ำครั้งละ 5 บาทต่อสองนาที ลงทุนตู้ละประมาณ 20,000 บาทเศษ เครื่องซักผ้าแบบหยอดเหรียญ ตู้กดน้ำดื่มแบบหยอดเหรียญ ฯลฯ
นอกจากนั้นผู้เขียนยังได้สรุปแนวทางในการออมและการลดหนี้สินของสมาชิกสหกรณ์ไว้ให้ผู้อ่านได้เข้าใจได้ง่ายๆ กล่าวคือ
แนวทางการเพิ่มเงินออม ได้แก่
– จัดทำโครงการส่งเสริมการออม เช่น โครงการสัจจะออมทรัพย์ โดยกำหนดให้สมาชิกฝากเงินเท่าๆกันในทุกเดือน หรืออย่างน้อย วันละ 1 บาท
– การถือหุ้นเพิ่มตามสัดส่วนการกู้ยืม เช่น ร้อยละ 5 ของจำนวนเงินที่สมาชิกกู้ หรือการนำเงินปันผลเพื่อไปถือหุ้นเพิ่ม เป็นต้น
– จัดทำโครงการให้ความรู้ด้านการเงิน และโครงการส่งเสริมอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้
– การส่งเสริมค่านิยมที่ถูกต้องในเรื่องการบริหารจัดการเงิน
แนวทางการลดหนี้สิน
– การทำบัญชีครัวเรือน และลดรายจ่ายที่ฟุ่มเฟือย
– การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง และสร้างวินัยทางการเงิน
– การปรับปรุงโครงการสร้างหนี้ได้แบบเบ็ดเสร็จ ด้วยอัตราดอกเบี้ยและระยะเวลาชำระหนี้ที่เหมาะสมกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้
– ลดการใช้จ่ายที่เกินความจำเป็นออกไป ปลูกพืชผักสวนครัวรั้วกินได้ ใช้ปุ๋ยชีวภาพแทนปุ๋ยเคมี
ในช่วงท้ายนี้ ผู้เขียนหวังว่าจะทำให้ผู้อ่านได้มีแนวทาง ตลอดจนสามารถประยุกต์ให้เข้ากับวิถีการดำเนินชีวิตของแต่ละคน รวมทั้งเพี่อให้ท่านผู้อ่านทั้งที่เป็นสมาชิกหรือไม่ได้เป็นสมาชิกสหกรณ์ ได้รับความรู้เพิ่มเติม เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยตลอดจนเคล็ดลับในการออมเงิน และการลดภาระหนี้สินของเรา ซึ่งผู้เขียนได้รวบรวบแนวคิดและแนวทางทางการส่งเสริมการออมและการลดหนี้ของสมาชิกสหกรณ์ จากคู่มือแนวทางการส่งเสริมการออมและการลดหนี้สินของสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ของกองพัฒนาสหกรณ์ด้านการเงินและร้านค้า กรมส่งเสริมสหกรณ์ จึงขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้ด้วย

สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!