บุรีรัมย์-ขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

บุรีรัมย์-ขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

ภาพ-ข่าว:คมกฤช พวงศรีเคน

           เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุมฝ้ายคำ ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดบุรีรัมย์ นายจำเริญ แหวนเพ็ชร รองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ ประธานการประชุมขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โดยมี อุตสาหกรรมจังหวัดบุรีรัมย์ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดบุรีรัมย์ ผู้แทนนายอำเภอคูเมือง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้แทน บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด(มหาชน) ผู้แทน บริษัท โรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด และคณะกรรมการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดบุรีรัมย์ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม
            นายจำเริญ แหวนเพ็ชร รองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ได้กำหนดพื้นที่ตำบลหินเหล็กไฟ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นพื้นที่เป้าหมายที่มีศักยภาพเหมาะสมในการพัฒนาเชิงพื้นที่เป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ระยะที่ 3 และจังหวัดบุรีรัมย์ได้มีคำสั่งที่ 3408/2565 ลงวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดบุรีรัมย์ และคณะกรรมการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดบุรีรัมย์ได้มีคำสั่งที่ 4080/2565
             ลงวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ.2565 แต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดบุรีรัมย์ โดยได้เสนอพื้นที่เทศบาลตำบลหินเหล็กไฟ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นพื้นที่เป้าหมาย แต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดบุรีรัมย์ เห็นชอบ แผนปฏิบัติการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศจังหวัดบุรีรัมย์ ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) และให้ทบทวน/แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งคณะทำงานฯ โดยแบ่งเป็น 6 ด้าน ดังนี้ ด้านสิ่งแวดล้อม : การจัดการขยะมูลฝอย แหล่งน้ำสาธารณะ คุณภาพอากาศ กากอุตสาหกรรม การใช้ทรัพยากรของโรงงาน ( น้ำ , พลังงาน ) ด้านเศรษฐกิจ : ส่งเสริมการสร้างคุณค่าร่วม(Creating Shared Value.CSV/,Circular Economy, ส่งเสริมขีดความสามารถผู้ประกอบการ วิสาหกิจ วิสาหกิจชุมชน กลุ่มอาชีพ (SME , Start up) ด้านสังคม : ส่งเสริมอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น, ความรับผิดชอบต่อสังคม(Corporate Social Responsibility:CSR) , ปัญหาสังคม ด้านกายภาพ : ระบบสาธารณูปโภค ระบบสาธารณูปการ พื้นที่สีเขียวสาธารณะ ด้านการบริหารจัดการ : ส่งเสริม eco network การยกระดับมาตรฐานโรงงาน (Green Industry : Gl , Eco Factory) และด้านแผนปฏิบัติการการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ : จัดทำแผนและทบทวนแผนปฏิบัติการ ตลอดจนแนวทางการส่งเสริมพัฒนาพื้นที่ จึงต้องมีการขับเคลื่อนแผน/โครงการฯ และการพิจารณาจากคณะกรรมการฯ อย่างต่อเนื่อง
                 นายจำเริญ แหวนเพ็ชร รองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวอีกว่า เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ หมายความว่า พื้นที่ที่มีการพัฒนาอุตสาหกรรม และเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมเหนี่ยวนำให้เศรษฐกิจชุมชนเติบโตไปด้วยกันภายใต้สภาวะแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่ดี โดยมุ่งเน้นการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม กายภาพ และการบริหารจัดการในพื้นที่ ให้เกิดความสมดุลในทุกมิติ ให้โรงงานอุตสาหกรรมและชุมชน สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตามพืชอุตสาหกรรมส่วนมากจะเป็นการปลูกพืชเชิงเดี่ยว มีการเก็บเกี่ยวปีละ 1 ครั้ง เนื่องจากต้องนำเข้าแปรรูปในโรงงานอุตสาหกรรม หลังจากนั้นต้องไปหาเงินเลี้ยงครอบครัวในพื้นที่อื่น ตนยังมีความห่วงใย มีความต้องการให้ชุมชน ครอบครัวสร้างสุข ปลูกพืชผักสวนครัวตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อใช้เป็นแหล่งอาหารหลักในครอบครัว โดยใช้หลักร่วมกันคือสังคมอุตสาหกรรมการเกษตร เพราะเรายังเป็นสังคมเกษตรกรรม การเข้าสู่สังคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ประชาชนในพื้นที่ยังคงต้องมีการประกอบอาชีพเกษตรกรรม เพื่อสร้างความอบอุ่น และมั่นคง ในครอบครัว และชุมชน ต่อไป

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!