เชียงใหม่-“ร้อยเอกธรรมนัส”ขึ้นเหนือเปิดงานปอยข้าวสาลีล้านนา ที่อำเภอสะเมิง

เชียงใหม่-“ร้อยเอกธรรมนัส”ขึ้นเหนือเปิดงานปอยข้าวสาลีล้านนา ที่อำเภอสะเมิง

ภาพ-ข่าว:ศูนย์ข่าวจังหวัดเชียงใหม่

            รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี “ ปอยข้าวสาลีล้านนา” ครั้งที่ 4 ที่อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ เผยเกษตรกรจะมีความเป็นอยู่ที่ยั่งยืน ต้องเพิ่มรายได้ให้เป็น 3 เท่า ภายใต้ระยะเวลา 4 ปี
             วันนี้ (24 ก.พ. 67) ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินทางมาเปิดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี “ ปอยข้าวสาลีล้านนา” ครั้งที่ 4 ซึ่งกรมการข้าวได้จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 23 – 24 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ ศูนย์วิจัยข้าวสะเมิง อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับพันธุ์เทคโนโลยีการผลิตและการแปรรูปผลิตภัณฑ์ต้นแบบจากธัญพืชเมืองหนาว รวมทั้งสร้างเครือข่ายระหว่างกลุ่มเกษตรกรนักวิชาการและผู้ประกอบการ โดยมี นายชัชวาลย์ ปัญญา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่วนราชการและผู้ประกอบการ ตลอดจนพี่น้องประชาชนชาวอำเภอสะเมิง เข้าร่วมงานกันอย่างคึกคัก
             โดยทันทีที่ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินทางมาถึงพี่น้องเกษตรกรได้มอบดอกไม้และผ้าขาวม้า เพื่อเป็นการต้อนรับและให้กำลังใจกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จากนั้นได้เยี่ยมชมห้องทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ชมแปลงพันธุกรรม ธัญพืชเมืองหนาวและนิทรรศการธัญพืชเมืองหนาว ร่วมชิม ซื้อของ กาดหมั้ว ตลาดนัดสีเขียว ชมนิทรรศการและการสาธิตแปรรูปผลิตภัณฑ์จากธัญพืชเมืองหนาว
              สำหรับข้าวสาลี ถือเป็นธัญพืชเมืองหนาว ที่ได้มีการนำเข้ามาทดลองปลูก ศึกษาวิจัยในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ตั้งแต่ปี 2510 โดยกรมการข้าวและภาคีเครือข่าย รวมถึงสถาบันการศึกษาต่างๆ ได้ร่วมกันวิจัยและพัฒนา ทำให้ได้พันธุ์รับรองข้าวสาลี จำนวน 5 พันธุ์ ได้แก่ ข้าวสาลีพันธุ์สะเมิง 1, พันธุ์สะเมิง 2, พันธุ์ฝาง 60 และพันธุ์แพร่ 60 ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการคั้นน้ำต้นอ่อนข้าวสาลี รำข้าวสาลี ช่อข้าวสาลีแห้ง ผลิตภัณฑ์แป้งโม่สำหรับทำขนมปังได้
              ทั้งนี้ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ข้าวสาลีสามารถนำไปแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าได้เป็นอย่างมาก และยังเป็นที่ต้องการของตลาดโลก ซึ่งหากจะทำให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ยั่งยืน จะต้องเพิ่มรายได้ให้เป็น 3 เท่า ภายใต้ระยะเวลา 4 ปี ด้วยกลยุทธ์ตลาดนำนวัตกรรมเสริมเพิ่มรายได้ โดยส่งเสริมการปลูกพืชที่ให้ผลตอบแทนสูง

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!