ปราจีนบุรี-นทท.แน่น! เฮชมความงดงามตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

ปราจีนบุรี-นทท.แน่น! เฮชมความงดงามตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

ภาพ-ข่าว:มานิตย์ สนับบุญ/ณัฐนนัท์(ดาว) 

“หลักฐานของความรักนิรันดร์ผูกพันแผ่นดิน ของท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร(ชุ่ม อภัยวงศ์) ไอดอลยุครัตนโกสินทร์  แห่งความจงรักภักดีสถาบันพระมหากษัตริย์ “

              เมื่อเวลา 17.00 น. วันนี้ 11 ก.พ.67  ผู้สื่อข่าว จ.ปราจีนบุรีรายงานว่า   ในวันหยุดเสาร์ – อาทิตย์ช่วงเทศกาลปีใหม่ หรือตรุษนี้พบที่ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ถนนปราจีนอนุสรณ์ ต.ท่างาม อ.เมืองปราจีนจ.ปราจีนบุรี นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศทั่วสารทิศพากันมาพักผ่อนเที่ยวชมความงดงามสถาปัตยกรรมแบบยุโรปยุคต้น ๆ ของกรุงรัตนโกสินทร์ พร้อม ซื้อหาสมุนไพรหลากหลายที่จัดจำหน่ายที่ร้านโพธิ์เงินที่เจียดยาสมุนไพรนานาชนิดจำหน่ายบำบัดรักษาดูแลสุขภาพเป็นที่คึกคัก พร้อมมี น.ส.นงลักษณ์  เครือเจริญ ตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ เป็นวิทยากรนำบรรยายเที่ยวชม  ท่ามกลางความชื่นชมในความงามของตึก แม้ขณะนี้จะกำลังปรับปรุงอยู่  โดยเฉพาะล่าสุดนี้  ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ที่พระตะบอง ประเทศกัมพูชาถูกโยงมาเกี่ยวข้องกับการเมืองของไทย ที่กำลังร้อนแรงด้วย แต่ในห้วงแห่งปีใหม่มังกรทอง และ ห้วง เทศกาลแห่งความรักอันใกล้นี้ จะไม่กล่าวถึง “การเมือง”ใด ๆ จะนำเสนอ  เรื่องราวแห่งความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์-ความรักความภูมิใจในความเป็นไทยของเจ้าของผู้สร้างตึกท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร(ชุ่ม อภัยวงศ์) ไอดอลยุครัตนโกสินทร์  เท่านั้น เพราะ เดือนกุมภาพันธ์ถือเป็นเดือนของความรัก ความรักนั้นมีมากหลายหลากหลายลักษณะ มีทั้งความรักพ่อแม่ ญาติสนิทมิตรสหาย และ คนรัก นั่นเป็นความรักที่เราคุ้นเคย แต่มีความรักอีกอย่างหนึ่งซึ่งยิ่งใหญ่มาก คือ ความรักชาติรักแผ่นดิน ผู้คนมากมายใช้คำนี้ จนบางครั้งกลายเป็นเครื่องมือที่ทำลายความรักระหว่างกันและกัน
               ย้อนหลังกลับไป  เมื่อ ปี พ.ศ.2558 ภญ.ดร.สุภาพร ปิติพร หรือใคร ๆ เรียกว่า “พี่ต้อม” หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ในขณะนั้น   ได้แจ้งเชิญสื่อมวลชนทั้งส่วนกลางและภูธร นำสื่อมวลชนเที่ยวชม “ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร” ทั้งที่ จ.ปราจีนบุรี และ ที่ พระตะบอง บอกเล่าให้ได้มาเรียนรู้ เรื่องราว เห็นรูปธรรมถึงความจงรักภักดีแห่งสถาบันพระมหากษัตริย์ของท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์)   ซึ่ง  “พี่ต้อม” นั้น  นอกจากเป็นผู้นำด้านแพทย์แผนไทยแล้ว   เธอยังเป็นนักประวัติศาสตร์ที่รู้รอบเกี่ยวกับตระกูลอภัยวงศ์ และ   เป็นไกด์กิตติมศักดิ์ในทริปเที่ยวชมให้ความรู้ –รายละเอียดต่าง ๆ  ของ   ตึก เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ที่ปราจีนบุรีถึงพระตะบอง  ที่ได้นำคำบอกของเธอมาบอกต่ออีกครั้ง  ในวันนี้ด้วย…
              ภญ.ดร.สุภาพร หรือพี่ต้อม   ได้เคยเล่าเรื่องราวของ  “ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร” ทั้ง 2 ว่า  …..  “   ก็อาจมีหลายคนที่ไม่เชื่อว่า ความรักชาติ รักแผ่นดินนี้มีอยู่จริง แต่   ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศรทั้ง2 แห่ง หรือ ตึกแฝดพี่ – แฝดน้อง   ที่พระตะบอง ประเทศกัมพูชา และที่ จ.ปราจีนบุรี  เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ ถึงความรักอันยิ่งใหญ่ ต่อแผ่นดินไทยของผู้สร้าง คือท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร(ชุ่ม อภัยวงศ์ ) ท่านยอมทิ้งตึกที่พระตะบองที่ตั้งใจจะอยู่เอง    แล้วอพยพกลับมาในพระราชอาณาจักรสยามทั้งที่สามารถอยู่ต่อได้    เพียงแต่ไปรับราชการกับฝรั่งเศสและได้มาสร้างตึกที่ปราจีนบุรี ถนนปราจีนอนุสรณ์ ต.ท่างาม อ.เมืองปราจีนบุรี  ด้วยตั้งใจที่จะให้รัชกาลที่ 5 ได้ประทับแรมอย่างสมพระเกียรติหาเมื่อเสด็จมาปราจีนบุรี

               ทั้งนี้ จากการที่ท่านได้เห็นรัชกาลที่ 5 ประทับแรมในพลับพลาชั่วคราวในคราเสด็จปราจีนบุรี พ.ศ. 2451 ท่านก็คงทั้งห่วงใยในความปลอดภัยและความเป็นอยู่ที่เหมาะสมในฐานะพระมหากษัติรย์ จึงได้สร้างตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศรขึ้น ในปี พ.ศ. 2452 ตึกหลังนี้เคยเป็นหอผู้ป่วยหลังแรกของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ปัจจุบันตึกหลังนี้เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์การแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดปราจีนบุรีที่ทรงคุณค่าทั้งความงดงามด้านสถาปัตยกรรมและคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ซึ่งแน่นอนว่าตึกโบราณหลังนี้จะไม่ได้ทรงคุณค่าเช่นนี้ถ้าเป็นเพียงตึกที่ขุนนางผู้หนึ่งสร้างไว้ให้เป็นที่อยู่อาศัยของครอบ ครัวตนเอง เรื่องราวความเป็นมาของตึกหลังนี้เป็นร่องรอยที่สำคัญที่พาให้คนรุ่นหลังได้รู้จักกับท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร(ชุ่ม อภัยวงศ์) ผู้ที่มีความกตัญญูต่อแผ่นดินและจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์เป็นยิ่งนัก

สายเลือดแห่งความจงรักภักดี

               เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม) เกิดที่พระตะบอง ในสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2404  ด้วยความเป็นลูกชายคนโตของเจ้าพระยาคทาธรธรณินทร์ (เยีย) เจ้าเมืองพระตะบอง กับ ท่านผู้หญิงทิม เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พระราชทานนามสกุลแก่เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม) เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2460 ว่า อภัยวงศ์ (Abhayavongsa) ได้ทรงพระกรุณาลำดับสายสกุลของผู้ได้รับนามสกุลพระราชทานลำดับที่ 4107 ไว้ว่า มหาเสวกโท เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม) ผู้ช่วยสมุหพระราชมณเฑียรกระทรวงวัง  ทวดชื่อ เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (แบน)  ปู่ชื่อ เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (นอง)  บิดาชื่อ เจ้าพระยาคทาธรธรณินทร์ (เยีย) ส่วนทางมารดานั้นปรากฏชื่อยู่ในสายสกุล บุนนาค ชื่อท่านผู้หญิงทับทิม  บุตรีเจ้าพระยามหาเสนา (น้อย) ลูกพี่ลูกน้องของเจ้าพระยามหาเสนา (บุนนาค) ต้นสกุลบุนนาค  ซึ่งอพยพไปอยู่กัมพูชาตั้งแต่คราวสิ้นกรุงศรีอยุธยา กระทั่งมีลูกมีหลานที่นั่น
                 ท่านเจ้าคุณบิดาของท่านชุ่มได้นำท่านมาถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ได้ศึกษางานราชการอยู่ในสำนักสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งนับเนื่องแล้วท่านลูกชายเจ้าเมืองพระตะบองท่านนี้ก็อยู่ในสายสกุลบุนนาคด้วยเช่นกัน ท่านเป็นเจ้าเมืองพระตะบองคนสุดท้ายที่สืบสายเลือดของข้าราชการที่รับใช้ราชวงศ์จักกรีถึงสามชั่วคน ท่านเลือกที่จะทิ้งเมืองพระตะบองอันเป็นบ้านเกิดเดินทางมายังปราจีนบุรีเมื่อปี พ.ศ.2550 เมื่อไทยต้องยกเมืองพระตะบองให้กับฝรั่งเศสเพื่อแลกเอาเมืองตราดกลับมา

ซือสัตย์ต่อแผ่นดินไทย มั่นในความจงรักภักดี

                  ระหว่างที่ท่านปกครองเมืองระตะบองอยู่นั่น กัมพูชาอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเสศ(ฝรั่งเศสปกครองกัมพูชา พ.ศ. 2402 – 2496) ในระหว่างที่สยามมีปัญหาพิพาทกับฝรั่งเศส พระยาคทาธรธรณินทร์ (ชุ่ม) ได้กราบทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่า “บิดาและปู่ได้เป็นข้าทูลละอองธุลีพระบาทมาหลายชั่วชั้นบรรพบุรุษแล้ว ไม่ปรารถนาจะย้ายไปเป็นข้ากรุงกัมพูชา  ถ้าพระราชทานเมืองพระตะบอง เสียมราฐ ไปเป็นของกรุงกัมพูชาเมื่อใด ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต อพยพครอบครัวบุตรหลานและภูมิลำเนา เข้ามารับราชการสนองพระเดชพระคุณอยู่ในกรุงเทพฯ” ทั้งยังให้ความเห็นว่า  “ควรยอมเสียดินแดนส่วนน้อย เพื่อแลกกับเอกราชส่วนใหญ่”
                  จนวันที่ 23 มีนาคม 2449 (ยึดปี พ.ศ. ตามปฏิทินไทยในขณะนั้น ที่กำหนดเอาวันที่ 1 เมษายน เป็นวันเปลี่ยน พ.ศ. ใหม่) สยามก็ต้องลงนามใน “หนังสือสัญญาระหว่างสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามกับเปรสิเดนต์แห่งรีปับลิคฝรั่งเศส” ซึ่งทำกันที่กรุงเทพฯ  ยกมณฑลบูรพา อันได้แก่ พระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ  รวมพื้นที่ราว 50,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นดินแดนที่ขึ้นตรงต่อสยามมาแต่สมัยรัชกาลที่ 1​ ให้แก่ฝรั่งเศส  แลกกับดินแดนราว 2,819 ตารางกิโลเมตร ของเมืองตราดและเกาะต่าง ๆ ในเขตสยาม ได้เมืองพระตะบองไปแล้ว ความจริงฝรั่งเศสก็ต้องการให้พระยาคทาธรธรณินทร์ (ชุ่ม) อยู่รับราชการในฐานะเจ้าเมืองต่อไป  ด้วยอาจมองเห็นในบารมีของท่านและสายสกุลอภัยภูเบศร ที่ปกครองเมืองพระตะบองมานับร้อยปี  จนเป็นที่เคารพของประชาชน น่าจะเป็นประโยชน์กับประฝรั่งเศสในการปกครองเมืองพระตะบองให้อยู่ในความสงบเรียบร้อย แต่ท่านปฏิเสธ และตัดสินใจเด็ดขาดที่จะอพยพครอบครัวบริวารสู่แผ่นดินสยาม โดยมีโทรเลขกราบทูลสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า “แม้จะถึงแก่ชีวิต ก็ไม่ยอมให้เสียความกตัญญู เป็นไม่ยอมให้ขึ้นชื่อว่าเป็นข้าสองเจ้าเป็นอันขาด  แต่การที่อยู่นั้น ต้องขอรับพระราชทานอยู่ที่ปราจีนบุรี เพราะที่ทำเล และจะทำนาเลี้ยงชีพ ครั้นจะเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ พรรคพวกเหล่านี้ก็เป็นคนขัดสนด้วยทางทำมาหากิน…”

การอพยพใหญ่กลับสู่พระราชอาณาจักร์ครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ชาติไทย

ประเทศไทยเสียดินแดนให้จักวรรดินิยมในสมัยล่าอาณานิคม 13 ครั้ง(ไม่รวมเขาพระวิหาร) ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 12 เป็นครั้งเดียวของการเสียดินแดนที่เจ้าเมือสมัครใจที่จะกลับคืนสู่พระราชอาณาจักรแบบชนิดที่เรียกว่าตายเป็นตาย ไม่ขอเป็นข้าแก่ผู้ใด ช่วงที่ท่านพระยาคทาธรธรณินทร์(บรรดาศักดิ์ของท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศรในขณะนั้น) ออกเดินทางพร้อมครอบครัวนั้น คือปลายเมษายน เริ่มเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว ฝรั่งเศสเสนอให้ใช้เรือของพวกเขาได้โดยล่องเรือผ่านลำน้ำกัมพูชาถึงสยาม แต่ท่านปฏิเสธ ฝนตกชุกตลอดระยะเวลาของเกวียนวัว 1,700 เกวียนที่ต้องแข็งแกร่งโดยระยะทางการเดินทางมากถึง 300 กิโลเมตร ทางเกวียนเป็นหล่มโคลน  สะพานที่สร้างไว้ถูกน้ำพัดพังเสียหายสิ้น  ต้องต่อแพไม้ไผ่ข้ามแม่น้ำ แต่ก็ยังลำบากเพราะฝนตกหนักทั้งวันทั้งคืน เป็นการเดินทางที่ยาวนานซึ่งแทบไม่มีสะพานเลย
                เหล่าพวกผู้ชายต้องนั่งอยู่บนอานม้า 15-17 ชั่วโมงต่อวันและเปียกโชก แถมยังต้องทนทุกข์ทรมานกับการโดนกัดโดยแมลงทุกชนิด เป็นฝันร้ายทั้งสำหรับคนและปศุสัตว์สัตว์จนในที่สุดกองเกวียนสุดท้ายก็ไม่สามารถเดินทางไปปราจีนบุรีโดยทางบกได้ เพราะมีน้ำท่วมอยู่ทั่ว  ขบวนอพยพต้องเปลี่ยนมาใช้เรือไอน้ำขนสัมภาระและปศุสัตว์ ซึ่งเวลานั้นก็ล้มไปมากแล้ว และผู้คนก็ล้มตายไปหลายคน ด้วยเกิดอหิวาต์ระบาดระหว่างทาง เจ้าพระยาคทาธรถึงเมืองปราจีนบุรี ในวันที่ 27 กรกฎาคม 2550  ท่านอัญเชิญธงช้างเผือกของไทยกลับมาด้วยน้ำตานองหน้า

ปลายปีที่อพยพกลับสยาม  พระยาคทาธรธรณินทร์ (ชุ่ม) ผู้สำเร็จราชการเมืองพระตะบอง และสมุหเทศาภิบาลมณฑลบูรพาคนสุดท้ายก็ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น เจ้าพระยาอภัยภูเบศร บรมนเรศร์สวามิภักดิ์ สมบูรณ์ศักดิ์สุกุลพันธ์ ยุติธรรม์สุรภาพอัธยาศรัย อภัยพิริยบรากรมพาหุ ท่านได้รับเสด็จเพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเสด็จประพาสเมืองปราจีนบุรี ในปี พ.ศ. ๒๔๕๑ และได้สร้างตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศรในปี ๒๔๕๒ ด้วยต้องการให้เพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีสถานที่ประทับแรมแรมอย่างสมพระเกียรติหากพระองค์เสด็จปราจีนบุรีอีกครั้ง 

ตึกแฝดเจ้าพระยาอภัยภูเบศร บ้านพี่เมืองน้อง พระตะบอง ปราจีนบุรี

               ชิวิตคนนั้นสั้นนัก แต่ตำนานแห่งความรักชาติรักแผ่นดินนั้นยืนยาว คงเป็นคำกล่าวที่เหมาะสมอย่างยิ่ง สำหรับชิวิตของท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร(ชุ่ม อภัยวงศ์) ตึกแฝดอายุ ร้อยหว่าปีสองหลังนี้เป็นหลักฐานได้อย่างดี ตึกที่พระตะบอง เป็นตึกแฝดพี่ มีความยิ่งใหญ่อลังการ โอ่โถง มีพื้นที่ใช้สอยมากกว่าแฝดน้องที่ปราจีนบุรี มีความเป็นทั้งวังที่อยู่อาศัยของเจ้าเมืองและเป็นสำนักงานว่าราชการในคราเดียวกัน มีห้องโถงด้านล่างแบ่งเป็นสามห้อง ด้านบนมีห้องซอยย่อยตามฟังชั่น มีระเบียงรับลม ด้านหลังของตึกมีมีตึกย่อยทรงยุโรปที่อยู่ของบริวาร(แต่ถูกรื้อไปแล้ว) ท่านสร้าง ในปี พ.ศ. 2447(แต่ไม่ทันเข้าไปอยู่)
                 ส่วนตึกเจ้าพระยาอัยภูเบศรที่ปราจีนบุรี  ถนนปราจีนอนุสรณ์ ต.ท่างาม อ.เมืองปราจีนบุรี จ.ปราจีนบุรี ท่านสร้าง พ.ศ. 2452 มีพื้นที่ใช้สอยน้อยกว่า    เพราะสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับแรมชั่วคราว   การแบ่งห้องไม่มีการซอยย่อย ชั้นบนและชั้นล่าง แบ่งเป็นสามส่วนเหมือนกัน แต่มีลายละเอียดมากกว่า อาทิเช่น หลังคาทรงโดมทำด้วยทองแดง ลายปูนปั้นทั้งภายในและภาบนอกอาคาร ลายจิตรกรรมบนเพดาน คล้ายๆว่าแฝดพี่ใหญ่โตแข็งแกร่ง แฝดน้องอ่อนหวาน นุ่มนวล สมควรที่คนรุ่นหลังจะได้ไปเยี่ยมเยือน จุดเช็คอินสำหรับเดือนนี้ (กุมภาพันธ์)  ในการมาเที่ยวเยี่ยมชมตึก   คงไม่พ้นภาพจิตรกรรมลายกุหลาบบริเวณคอสอง (พื้นที่รอยต่อระหว่างผนังกับเพดาน)
                  การที่รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดดอกกุหลาบคงเป็นที่ทราบกันดีในหมู่ข้าราชบริพาร จึงไม่แปลกที่ท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศรได้ให้มีลายกุหลาบที่ตึกหลังนี้    ซึ่งได้มีการค้นพบเมื่อพ.ศ. 2564 จากการบูรณะครั้งหลังสุด..รักนิรันดร์ผูกพันแผ่นดิน เห็นได้ในตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เพื่อการได้เชื่อมไมตรีบ้านพี่เมืองน้องกัน – ส่งเสริมการท่องเที่ยว  และโดยเฉพาะ กระตุ้น-เผยแพร่ จิตสำนึกแห่งความจงรักภักดีในสาบันพระมหากษัตริย์ ผ่าน ตึกแฝด “เจ้าพระยาอภัยภูเบศร”  ภญ.ดร.สุภาพร หรือพี่ต้อม   บอกส่งท้ายว่า  คาดว่าเร็ว ๆ นี้ ราว เดือน ก.ค.  อาจรวมกลุ่มทริปกรุ๊ปทัวร์อีกครั้ง  ได้ไปเที่ยวชม  ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร  อีกครั้ง ทั้ง ใน จ.ปราจีนบุรีที่ระหว่างบูรณะ และ ที่ เมืองพระตะบอง ประเทศกัมพูชา

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!