อยุธยา-เยี่ยมชมผลการดำเนินงาน (Press Tour) อำเภอลาดบัวหลวง

อยุธยา-เยี่ยมชมผลการดำเนินงาน (Press Tour) อำเภอลาดบัวหลวง

ภาพ – ข่าว นราเอก ตันศิริ / นพดล บำเพ็ญสัตย์

สนง.เกษตรจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจัด กิจกรรมการพาสื่อมวลชนเยี่ยมชมผลการดำเนินงาน (Press Tour) อำเภอลาดบัวหลวง

            เมื่อเร็วๆนี้ สนง.เกษตรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยนางสาวรุจีพัชร บุญจริง เกษตรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้จัดกิจกรรมการพาสื่อมวลชนเยี่ยมชมผลการดำเนินงาน ของเกษตรกรตัวอย่างที่ดำเนินการ ประกอบอาชีพเกษตรกรรม จนประสบความสำเร็จ (Press Tour) ในอำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมให้กับผู้ที่สนใจ
           โดยจุดแรก คณะได้เข้าเยี่ยมชม ผักพื้นบ้านมาตรฐาน GAP ของ นายบัญชา พวงสวัสดิ์ กำนันตำบลสิงหนาท อำเภอลาดบัวหลวง ที่ ประสบปัญหาราคาข้าวตกต่ำ จนมีหนี้สิน จนกระทั่งใน ปี พ.ศ. 2530 ได้เข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนเยาวชน ไทย – แคนาดา โดยต้องไปอยู่ที่ประเทศแคนาดาเป็น เวลา 3 เดือน ซึ่งครอบครัวที่ไปอยู่ด้วย เป็นครอบครัวที่ทำเกษตรแบบผสมผสาน และอยู่ในช่วงที่ประเทศไทยส่งเสริมให้ทำการเกษตรแบบไร่นาสวนผสม จึงทำให้เกิดแนวคิดที่จะทำการเกษตรแบบใหม่เพื่อลดความเสี่ยง และความไม่แน่นอนของรายได้ จึงได้นำกระบวนการเรียนรู้จากกิจกรรมการผลิตที่หลากหลาย มา จัดสรรพื้นที่ มีการปลูกข้าว ไม้ผล พืชผักสวนครัว ขุดบ่อเลี้ยงปลา บริโภคในครัวเรือนและใช้ประโยชน์จาก ทรัพยากรของเหลือใช้ภายในพื้นที่ เช่น วัชพืชใช้ทำปุ๋ยชีวภาพ รากไม้และกิ่งไม้ไว้ทำถ่าน ในปี พ.ศ. 2543 ได้มีการรวมกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกผักพื้นบ้านและเกษตรกรที่สนใจปลูกผักพื้นบ้าน ซึ่งมีพื้นที่ทำนาแต่ต้องการหารายได้เพิ่มขึ้น มีสมาชิกที่สนใจจำนวน 30 ราย และเริ่มทำการหาช่องทางการตลาด ที่ได้ราคาดีกว่าเดิม
           โดยมีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเกษตรอำเภอลาดบัวหลวง ได้แนะนำให้ลองทำผักส่งขายต่างประเทศโดยผ่านบริษัทผู้ส่งออก โดยเริ่มส่งผักครั้งแรกกับบริษัท PDI เมื่อผักพื้นบ้านที่ปลูกและส่งออกเริ่มเป็นที่ต้องการของตลาดเพิ่มขึ้น จึงพัฒนาผักพื้นบ้านเข้าสู่ระบบ GAP จน มีเครือข่ายเพิ่มขึ้นและมีบริษัทส่งออกมารับซื้อเพิ่ม ซึ่ง ณ ปัจจุบันมีจำนวน 13 บริษัท รายการผักที่ปลูก ได้แก่ โหระพา, มะรุม, กะเพรา, ผักปลัง, แพรว, ปอแดง, แขยง, ตะไคร้, เตย, คาวทอง, ชะอม, ลาเทียโต๋, ชะพลู, ย่านาง, กระเจี๊ยบเขียว, มะเขือเปรา, กุยช่าย, มะเขือพวง, มะกรูด
              ปัจจุบันได้รับมาตรฐาน GAP จำนวน 8 ชนิดพืช ได้แก่ ผักแพว,ผักบุ้งจีน,ใบเตย,ตะไคร้,ชะพลูมะเขือเปราะ,โหระพา,กระท่อม เนื้อที่ปลูกรวม 10 ไร่ ซึ่งการบริหารจัดการการผลิตและการตลาดพิจารณาจากแผนการผลิตและการตลาด มีการบริหารจัดการการตลาดเพื่อการผลิต โดยการจัดการจากข้อมูลการตลาดที่ทำอยู่ สู่แผนการเพาะปลูกที่มี การจัดการที่ตรงต่อความต้องการของลูกค้า ได้แก่ ออเดอร์ที่มีอยู่ในมือ วันละกี่กิโลกรัม สู่การวางแผนการ เพาะปลูกที่สอดคล้อง ให้ผลผลิตออกมาตามที่ตลาดต้องการ ซึ่งช่องทางการติดต่อ นายบัญชา พวงสวัสดิ์ ม.5 ต.สิงหนาท อ.ลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา โทร 089-8043854
              จุดที่ 2. สวนผักบุ้งจีน ของนายจำนงค์ ทรัพย์เพิ่ม อดีตนักการภารโรงในโรงเรียนวัดฉัตรทอง ที่ได้ลองปลูกพืชผัก มาแล้วหลายชนิด แต่ก็ยังไม่ประสบปผลสำเร็จ จนประทั่งได้พบกับเพื่อนเกษตรกรจากจังหวัดชลบุรี ซึ่งมีอาชีพปลูกผักบุ้งจีนจำหน่ายในตลาดสี่มุมเมือง จึงได้ความรู้ เกี่ยวกับการปลูกผักบุ้งจีน และทราบแหล่งจำหน่ายที่แน่นอน นายจำนงค์ จึงได้เริ่มต้นปลูกผักบุ้งจีน ในช่วงปี พ.ศ. 2536 โดยได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่การเกษตรจำนวน 2 ไร่มาปลูกผักบุ้งจีน ในช่วงแรกประสบปัญหาใบด่างในผักบุ้งจีน สาเหตุเกิดจากน้ำฝนในช่วงฤดูฝนและประกอบกับตนเองยังขาดความรู้ในการปลูกผักบุ้งจีน ทำให้ต้องหาโอกาสสำหรับตนเองในการเรียนรู้ด้านต่างๆ เพื่อเป็นการพัฒนาตนเองอยู่สม่ำเสมอ และนำองค์ความรู้มาจากที่ได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานเกี่ยวกับการปลูกผักบุ้งจีนจากหลายพื้นที่ จากนั้นได้ขยายเป็น 8 ไร่ ใช้เวลากว่า 3 ปี ในการปรับวิธีการปลูก การดูแล ตลอดจนการเก็บเกี่ยว จนประสบความสำเร็จ ทำให้สามารถซื้อที่ดินในการปลูกผักบุ้งจีนเพิ่มขึ้น
             ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกผักบุ้งจีนกว่า 20 ไร่ และเป็นศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ต้นแบบในการปลูกผักบุ้งจีนให้กับเกษตรกรอำเภอลาดบัวหลวง สามารถทำเป็นอาชีพหลักได้ โดยปัจจุบัน อำเภอลาดบัวหลวง มีเกษตรกรที่ปลูกผักบุ้งจีนจำนวน รวมพื้นที่มากกว่า 2,000 ไร่ ซึ่งนายจำนงค์ ถือว่าเป็นเกษตรกรรายแรกๆในการปลูกผักบุ้งจีน ของอำเภอลาดบัวหลวง รวมถึงการปลูกผักบุ้งจีนของนายจำนงค์ สามารถสร้างรายได้และอาชีพให้กับเกษตรกรในชุมชนอีกด้วย ช่องทางการติดต่อ นายจำนงค์ ทรัพย์เพิ่ม 12/1 หมู่ที่ 6 ตำบลพระยาบันลือ อำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เบอร์โทรศัพท์: 091-1308989 ศูนย์เครือข่าย ศพก.
             จุดที่ 3 สวนเมล่อน นายสวาท สุขนุ่ม ที่ได้นำ องค์ความรู้มาจากที่ได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานเกี่ยวกับการปลูกเมล่อนจากหลายพื้นที่ มาต่อยอด ทำฟาร์มเมล่อนเป็นของตัวเองโดยการปลูกเมล่อนระยะแรก จะปลูกเมล่อนลงในดินโดยตรง และปลูกนอกโรงเรือนทั้งหมด ซึ่งลักษณะดินของอำเภอลาดบัวหลวงส่วนใหญ่มีเนื้อดินเป็นดินเหนียว และมีค่าความเป็นกรดสูง ทำให้ระบายน้ำได้ไม่ดีเกิดความชื้นง่าย และเป็นสาเหตุของการเกิดโรคได้ง่าย จึงได้ปรับเปลี่ยนมาปลูกเมล่อนในโรงเรือนทั้งหมด เพื่อให้การควบคุมและบริหารจัดการกระบวนการผลิตมีความแม่นยำ ลดอัตราการเข้าทำลายของโรคและแมลงศัตรูพืช ส่งผลให้ลดการใช้สารเคมี ลดต้นทุนการผลิต ผลผลิตมีคุณภาพดีและมีความปลอดภัยตามมาตรฐาน GAP ที่ได้รับ จนทำให้ประสบความสำเร็จได้จนถึงปัจจุบันการจำหน่ายผลผลิต แบ่งการจำหน่ายผลผลิตออกเป็น- สินค้าเกรด A จำหน่ายให้แก่ห้างสรรพสินค้า Central : Top Supermarket สินค้าเกรด B – C จำหน่ายให้พ่อค้าคนกลางเพื่อจัดส่งให้โรงแรม และมีผู้บริโภคเข้ามาซื้อที่หน้าฟาร์มโดยตรง และการขายทางออนไลน์บน Facebook สุดารัตน์ สุขนุ่ม และ เว็ปไซด์ตลาดเกษตรออนไลน์ ช่องทางการติดต่อ นายสวาท สุขนุ่ม 5/1 หมู่ 4 ตำบลคู้สลอด อำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โทร. 086-0866930, 063-4208885 Facebook : สุดารัตน์ สุขนุ่มและจุดที่ 4 สวนไม้ประดับ อโกลนีมา ของนายอำนาจ สาลีผล ที่คุณพ่อชอบปลูกไม้ประดับเป็นอย่างมากโดยเฉพาะจำพวก ไม้ใบอย่าง อโกลนีมา (Aglaonema) ปลูกมาตั้งแต่สมัยอดีตมากกว่า 30 ปี และได้เริ่มเก็บสะสมสายพันธุ์ต่างๆ เพื่อนำมาพัฒนาสายพันธุ์ให้เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง และเป็นที่นิยมต้องการของตลาดทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศ ช่วงเริ่มปลูกแรกๆ ลองผิดลองถูกในการพัฒนาสายพันธุ์ ได้ต้นสวยบ้างและไม่สวยบ้าง
               หลังจากนั้นได้คัดเลือกเอาสายพันธุ์ที่สวยสมบูรณ์และแข็งแรงในแต่ละรุ่น มาทำการ ผสมเกสรพัฒนาสายพันธุ์ เพื่อให้ได้สายพันธุ์ตามที่ต้องการ หลังจากพัฒนาสายพันธุ์อยู่ประมาณ 20 – 30 ปี ก็สามารถผลิตสายพันธุ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของสวนตนเองขึ้นมาได้โดยใช้ชื่อว่า “เศรษฐีตรีเพชร” หรือ นิวค้ำคูณ ลักษณะขอบใบเป็นสีเขียวเข้ม ตัดกับลายด้านในสีชมพู เป็นอโกลนีมา ที่เลี้ยงง่าย ทนทานต่อทุกสภาพอากาศ โดยเฉพาะอากาศหนาว อโกลนีมาหลายสายพันธุ์ทนสภาพอากาศไม่ไหว และเน่าตาย แต่ “เศรษฐีตรีเพชร” หรือ นิวค้ำคูณ กลับยังสวยงามต่างจากอโกลนีมาบางสายพันธุ์ หลังจากคุณพ่อพัฒนาสายพันธุ์ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของสวนได้แล้ว ก็นำประสบการณ์ และความรู้ที่สั่งสมมาทั้งชีวิตถ่ายทอดให้กับลูก หลาน โดยเฉพาะนายอำนาจ สาลีผล ซึ่งเป็นตัวแทนในการสานต่อเจตนารมณ์ของคุณพ่อเพื่อให้ อโกลนีมา “เศรษฐีตรีเพชร” หรือ นิวค้ำคูณ เป็นที่รู้จักทั้งในประเทศ และต่างประเทศ
              ปัจจุบันนายอำนาจ สาลีผล ได้สานต่อเจตนารมณ์ของคุณพ่อโดยทำการขยายพันธุ์ อโกลนีมา ในนาม “เศรษฐีตรีเพชร” หรือ นิวค้ำคูณ ส่งออกไปยังตลาดในประเทศ และต่างประเทศ เป็นที่ยอมรับและต้องการของตลาดเป็นอย่างมาก จนทำให้ประสบความสำเร็จได้จนถึงปัจจุบัน และนายอำนาจ สาลีผล ยังได้มีการพัฒนาต่อยอดสายพันธุ์เพื่อให้ได้พันธุ์ที่ต้องการ เพื่อรองรับตลาดในอนาคต โดยจำหน่ายผลผลิตทั้งทางออนไลน์บน Facebook ตรีเพชร อโกลนีมาฟาร์ม และส่งออกต่างประเทศ เช่น อินโดนิเชีย, มาเลเชีย และสิงคโปร์ เป็นต้น ส่วนในประเทศส่งขายที่ตลาดบางใหญ่ และขายหน้าร้าน ช่องทางการติดต่อ สวนตรีเพชร อโกลนีมาฟาร์ม ม.10 ตำบลคู้สลอด อำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โทร. 086-0866930, 063-4208885, Facebook : ตรีเพชร อโกลนีมาฟาร์ม

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!