ประจวบคีรีขันธ์-เกษตรกรหันมาเลี้ยงโคสายพันธุ์ต่างประเทศ สร้างรายได้นับล้านบาทต่อปี

ประจวบคีรีขันธ์-เกษตรกรหันมาเลี้ยงโคสายพันธุ์ต่างประเทศ สร้างรายได้นับล้านบาทต่อปี

ภาพ-ข่าว:กูลเสวก เสวกวรรณกร

              เมื่อวันที่ 24 มี.ค.66 นายวิทูรย์หรือผู้ใหญ่หนึ่ง จรูญรุ่ง อายุ 46 ปี ผู้ใหญ่บ้านหนองหูช้าง หมู่ที่ 2 ต.เกาะหลัก อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ เจ้าของจรูญรุ่งฟาร์ม เปิดเผยว่า ปัจจุบันตนเองเลี้ยงแม่พันธุ์โคสายพันธุ์ต่างประเทศจำนวน 5 ตัว แยกเลี้ยงในคอกเดี่ยวที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ และอีก 50 ตัวเป็นโคพันธุ์ต่างประเทศผสมกับพันธุ์พื้นเมืองที่เลี้ยงในสวน มีประสบการณ์การเลี้ยงมากว่า 20 ปี โดยแม่พันธุ์โค 5 ตัว ราคารวมกันกว่า 2 ล้านบาท เป็นโคสายพันธุ์บราห์มัน อเมริกันบราห์มัน ฮินดูบราซิล ชาโรเล่ห์ ตัวที่มีราคาสูงสุดตัวละ 5 แสน มี 2 ตัว ส่วนลูกโคอายุ 4- 8 เดือน อีก 2 ตัว รอจำหน่ายในราคา 2-3 แสนบาท
              โดยการเลี้ยงแม่พันธุ์โคและลูกโค ต้องแยกเลี้ยงเป็นพิเศษ ต้องกันคอกไม้ไผ่แยก กางมุ้งป้องกันแมลง ให้กินหญ้าสด ฟางแห้ง เปลือกสับปะรดอบ ในช่วงเช้าจะพาไปเดินเล่นผ่อนคลายและช่วงบ่ายอาบน้ำให้ ส่วนคอกจะต้องทำความสะอาด ให้โคมีความเป็นอยู่ที่ดี ไม่เครียด ฉีดยาบำรุง ยาถ่ายพยาธิ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากเท้าเปื่อย ลัมปีสกิน ปัจจุบันที่ฟาร์มเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ให้ลูกบ้านมาดูวิธีการเลี้ยง ถือเป็นชีพที่สร้างรายได้ได้เป็นอย่างดีโดยราคาซื้อขายโคสายพันธุ์ต่างประเทศขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้ซื้อและผู้ขาย จึงสนับสนุนให้เกษตรกรหันมาเลี้ยงโคสายพันธุ์ผสม หรือสายพันธุ์ต่างประเทศมากขึ้นเพราะลักษณะตัวใหญ่ เนื้อมาก ได้ราคากว่าโคสายพันธุ์พื้นเมืองไม่ต่ำกว่า 2 เท่า ขณะนี้ที่ฟาร์มมีรายได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 1 ล้านบาท
               นายนิพล ทองเก่า อายุ 31 ปี เกษตรกรผู้เลี้ยงโครายเล็กในพื้นที่ตำบลอ่าวน้อย อ.เมืองประจวบฯ ที่หันมาเลี้ยงโคสายพันธุ์ต่างประเทศ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ตนเองเลี้ยงโคพันธุ์พื้นเมืองมากว่า 10 ปี จึงสนใจหันมาเลี้ยงโคพันธุ์ผสมที่มีความทนทานต่อสภาพอากาศและโรค เริ่มแรกเลี้ยงเพียง 1 ตัว ปัจจุบันมีอยู่ 5 ตัว และลูกโคอีก 2 ตัว ซึ่งการเลี้ยงสายพันธุ์ผสมนั้นมีราคาไม่แพงจนเกินกำลังเกษตรกรรายย่อย หากเลี้ยงโคที่เป็นสายพันธุ์ต่างประเทศ 100% ต้นทุนพ่อแม่พันธุ์หลายแสนบาท จึงค่อยๆ เลี้ยงและขยายพันธุ์ตามความพร้อม ในอนาคตจะขยับขยายไปเลี้ยงโคสายพันธุ์ต่างประเทศเพราะจำนวนโคที่เลี้ยงลดลงแต่สร้างรายได้เพิ่มขึ้น

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!