ประจวบคีรีขันธ์-สบอ.3 จับมือชุมชนร่วมกันอนุรักษ์เสือปลาใน อช.เขาสามร้อยยอด

ประจวบคีรีขันธ์-สบอ.3 จับมือชุมชนร่วมกันอนุรักษ์เสือปลาใน อช.เขาสามร้อยยอด

ภาพ-ข่าว:กูลเสวก เสวกวรรณกร

              เมื่อวันที่ 20 ต.ค. นายพิชัย วัชรวงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (สบอ.3) สาขาเพชรบุรี เปิดเผยว่าได้ร่วมประชุมเปิดตัว “โครงการส่งเสริมการอนุรักษ์เสือปลา โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนรอบพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ดำเนินการโดย มูลนิธิสืบนาคะเสถียร” ณ ห้องประชุม ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยมีนายศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร พร้อมด้วยผู้แทนจากแพนเทอรา (Panthera) ประเทศไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (บางขุนเทียน) หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม เพื่อขอความเห็นชอบในการดำเนินกิจกรรมภายใต้โครงการส่งเสริมการอนุรักษ์เสือปลา
            ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนรอบพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด เป็นโครงการร่วมของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับ แพนเทอรา (Panthera) ประเทศไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (บางขุนเทียน) โดยมีเป้าหมายเพื่อการอนุรักษ์เสือปลาและถิ่นที่อยู่อาศัยของเสือปลาอย่างมีส่วนร่วม รวมไปถึงการรายงานความก้าวหน้างานวิจัยพฤติกรรมและการติดปลอกคอของเสือปลาโดย Panthera Thailand และความก้าวหน้างานวิจัยประชากรของเสือปลาโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งผลการศึกษาพบว่ามีประชากรของเสือปลาประมาณ 67 ตัว และคาดว่าจะมีประชากรเสือปลามากที่สุดในประเทศไทย
             เสือปลาเป็นสัตว์ในวงศ์เสือและแมว (Felidae) ถูกจัดเป็นกลุ่มเสือและแมวขนาดเล็ก ในกลุ่มของ Prionailurus โดยมีเครือญาติอีก 3 ชนิด ได้แก่ แมวดาว (Leopard cat), แมวป่าหัวแบน (Flat-headed cat) และแมวจุดสนิม (Rusty spotted cat) เสือปลามีถิ่นที่อยู่อาศัยกระจายอยู่แถบเอเชีย เช่น ในป่าของประเทศอินเดีย เนปาล บังกลาเทศ, ริมทะเลสาบโตนเลสาบของกัมพูชา, พื้นที่ปากแม่น้ำสาละวิน อิรวดี สินธุโขง และสินธุ ส่วนในไทยเคยมีรายงานพบเสือปลาในป่าหลายแห่ง เช่น ใกล้อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จ.ประจวบคีรี ขันธ์ พฤติกรรมของเสือปลาหากินทั้งกลางวันและกลางคืน เป็นสัตว์ที่หากินกับน้ำโดยเฉพาะ ไม่เคยห่างจากแหล่งน้ำเลย ชอบแหล่งน้ำที่ไหลช้าและนิ่ง เช่น หนองบึง ป่าชายเลน ฯลฯ ซึ่งจับสัตว์น้ำเป็นอาหาร เช่น ปลา หนู และนก อีกทั้งเสือปลามีนิสัยดุมากกว่าแมวทั่วๆไปและไม่มีทางเชื่องได้ง่าย ปัจจุบันมูลนิธิสืบนาคะเสถียรร่วมกับหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการพัฒนาองค์ความรู้และข้อมูลทางชีววิทยา เพื่ออนุรักษ์ประชากรเสือปลาและถิ่นอาศัย ป้องกันไม่ให้เกิดความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การสูญพันธุ์ ผ่านงานเผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์ในด้านความรู้ เพื่อการอนุรักษ์เสือปลาให้รอดพ้นจากสถานะเสี่ยงสูญพันธุ์ต่อไปในระยะยาว

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!