ประจวบคีรีขันธ์-อช.กุยบุรี สร้างโป่งเทียมเพิ่มแหล่งอาหารให้สัตว์เนื่องในวันช้างไทย

ประจวบคีรีขันธ์-อช.กุยบุรี สร้างโป่งเทียมเพิ่มแหล่งอาหารให้สัตว์เนื่องในวันช้างไทย

ภาพ/ข่าว:กูลเสวก เสวกวรรณกร

          เมื่อวันที่ 13 มี.ค.67 นายสมเจตน์ จันทนา ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (สบอ.3) สาขาเพชรบุรี นายอรรถพงษ์ เภาอ่อน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี พร้อมด้วยชุดเฉพาะกิจจงอางศึก ศูนย์ประสานงานโครงการตามพระราชประสงค์ฯ มทบ.15 จ.เพชรบุรี ฝ่ายปกครองอำเภอกุยบุรี ตชด.145 มูลนิธิช้างป่าบ้านพ่อ wwf แห่งประเทศไทย เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี อบต.หาดขาม กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เครือข่ายเฝ้าระวังช้างป่าภาคประชาชน จำนวน 10 เครือข่าย และคณะครูนักเรียนในพื้นที่ร่วมในพิธีทำบุญเลี้ยงพระสงฆ์จำนวน 10 รูป เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ช้างป่าที่เสียชีวิตไปแล้ว เนื่องในวันช้างไทย ที่บริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ กร.5 ห้วยลึก อุทยานแห่งชาติกุยบุรี หมู่ 7 บ้านรวมไทย ต.หาดขาม อ.กุยบุรี จ.ประจวบฯ พร้อมทั้งได้ร่วมทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การเสวนาในหัวข้อทางออกของชุมชนคนช้างป่ากุยบุรี พิธีมอบทุนให้เครือข่ายเฝ้าระวังช้างป่าภาคประชาชนเครือข่ายละ 5 หมื่นบาท จำนวน 10 เครือข่าย ก่อนร่วมกันสร้างโป่งเทียมช่วยเพิ่มแร่ธาตุที่จำเป็นต่อสัตว์

          วันที่ 13 มี.ค. ของทุกปีเป็นวันช้างไทย รัฐบาลมีนโยบายโดยต่อเนื่องในการให้ความสำคัญกับการดูแลช้างสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของไทยมาแต่โบราณ ทั้งในส่วนการอนุรักษ์ช้างป่าและการยกระดับมาตรฐานดูแลช้างเลี้ยงให้เป็นที่ยอมรับของสากล สำหรับในส่วนของรัฐบาลได้มีนโยบายเกี่ยวกับการอนุรักษ์ช้างมาโดยต่อเนื่อง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้ร่วมกับหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนมีโครงการอนุรักษ์ช้างทำให้แนวโน้มประชากรช้างมีจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยข้อมูลปัจจุบันช้างป่ามีจำนวนประชากรอาศัยอยู่ตามธรรมชาติประมาณ 4,013-4,422 ตัว ในพื้นที่อนุรักษ์ทั้งในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า และอุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน จำนวน 91 แห่ง (ข้อมูลวันที่ 9 มีนาคม 2566 ซึ่งเป็นข้อมูลที่อยู่ระหว่างการสำรวจและการประเมินประชากรช้างป่าทั่วประเทศ ปี 2566) และภายในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติบางแห่ง ในแต่ละพื้นที่การกระจายสามารถพบช้างป่าได้ตั้งแต่น้อยกว่า 10 ตัว ไปจนถึง 200 – 300 ตัว มีผืนป่าที่เป็นแหล่งอาศัยของช้างป่าราว 52,000 ตร.กม. อย่างไรก็ตามยังคงมีปัญหาช้างขาดแหล่งอาหารและน้ำ เนื่องจากป่าซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของช้างถูกบุกรุกเพื่อเป็นที่ทำกิน ตลอดจนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ทำให้มีปัญหาช้างออกมาทำลายพืชผลเกษตรในชุมชน ซึ่งในกรณีนี้นายกรัฐมนตรีได้กำชับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการวางแนวทางทั้งการป้องกันการบุกรุกพื้นที่ป่า ตลอดจนการฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมให้สามารถเป็นแหล่งอาหารของช้าง ลดความขัดแย้งระหว่างช้างกับชุมชน.

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!