ระวัง..คุก..!!..หมิ่นประมาททางอินเตอร์เน็ท

ระวัง..คุก..!!..หมิ่นประมาททางอินเตอร์เน็ท

         ผู้กระทำความผิดหมิ่นประมาทบุคคลอื่นหรือกระทำความผิดอาญาอื่นๆบนอินเตอร์เน็ตสามารถถูกจับกุมหรือถูกฟ้องร้องดำเนินคดีได้อย่างง่ายดายที่สุด การหมิ่นประมาทผู้อื่นบนอินเตอร์เน็ต ไม่ต่างอะไรกับการหมิ่นประมาทผู้อื่นบนหน้าหนังสือพิมพ์ เพราะใช้ตัวบทกฎหมายอาญามาตรา 328 เดียวกัน แต่การหมิ่นประมาทบนอินเตอร์เน็ตจะมีกฎหมายคอมพิวเตอร์2550สมทบเข้ามา เพื่อเป็นเครื่องมือสาวถึงผู้กระทำผิดได้ถูกตัวถูกคน

คดีหมิ่นประมาท เจ้าทุกข์หรือผู้เสียหายสามารถดำเนินการได้สองทางคือ แจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือดำเนินคดีเองด้วยการตั้งทนายฟ้องร้องต่อศาล

ในการแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ..ตำรวจจะมีหมายเรียกผู้กระทำผิดหรือผู้ถูกกล่าวหามาพบเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา ถ้าไม่มาตำรวจก็จะออกหมายจับ เมื่อการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจเสร็จก็จะส่งสำนวนไปอัยการเพื่อดำเนินการฟ้องร้องจากอัยการคดีก็จะขึ้นสู่ศาล ทุกขั้นตอนของคดี คือ ชั้นสอบสวน ชั้นอัยการและชั้นศาล ผู้กระทำผิดหรือผู้ถูกกล่าวหาจะต้องประกันตัวทุกขั้นตอน

                      การที่เจ้าทุกข์ผู้เสียหายแจ้งความ ก็มักเป็นการแจ้งความเพื่อยืดอายุคดี ผลของการแจ้งความ อายุความคดีหมิ่นประมาทจะยืดออกไปจาก 3 เดือนกลายเป็น 5 ปี !!  

การฟ้องร้องคดีหมื่นประมาทในทางอาญา จำเลยจะ“โคตรเหนื่อย”และอาจเกิดอาการประสาทเอาง่ายๆเพราะเห็นประตูคุกเปิดอ้ารำไร…!! ผู้เสียหายในคดีหมิ่นประมาท นอกจากจะสามารถฟ้องร้องผู้กระทำผิดในทางอาญาแล้ว ก็ยังสามารถฟ้องร้องทางแพ่ง เรียกค่าเสียหายได้อีกโสดหนึ่งด้วย การฟ้องแพ่งพ่วงเข้ามาก็คงคล้ายการ“ขายเบียร์แถมเหล้า”ได้กำไรอีกต่อ บางคดีผู้เสียหายมีต้นทุนทางชื่อเสียงและธุรกิจสูงก็จะฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นร้อยล้าน !!

ในการดำเนินคดีหมิ่นประมาทบนหน้าหนังสือพิมพ์และบนอินเตอร์เน็ตในทางอาญา สามารถทำได้ทั่วประเทศ เพราะสื่อทั้งสองชนิดนี้แพร่ไปทั่วประเทศ การฟ้องร้องดำเนินคดีจึงสามารถทำได้ตั้งแต่เหนือสุดยันใต้สุดของประเทศไทย จะฟ้องที่เชียงราย ที่ปัตตานี หรือที่นราธิวาส..ย่อมได้ทั้งนั้น !!

ถ้าเขียนข้อความหมิ่นประมาทหลายครั้งหลายหน ก็ถือเป็นการกระทำความผิดต่างกรรมต่างวาระ สามารถนำไปแยกฟ้องได้ อาจจะฟ้องเหนือสุดที่เชียงรายแห่งหนึ่ง ใต้สุดที่ปัตตานีหรือนราธิวาสแห่งหนึ่ง และภาคอีสานที่อุบลฯอีกแห่งหนึ่ง เรียกว่า ฟ้องครบทั่วทุกภาค แต่ที่สุดสนุกก็คือ การฟ้องใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั่นแหละ ระเบิดและกระสุนปืนสงครามแถวนั้นชุกชุม

                     การฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาหมิ่นประมาท จำเลยต้องไปศาลทุกนัด  แต่โจทก์ไม่จำเป็นต้องไปทุกนัด ทนายจะทำหน้าที่แทน บางครั้งทนายโจทก์ก็ดัน”ป่วย”ขึ้นมาซะอีก จำเลยจึงเดินทางไปฟรี หรือไปเก้อ !!  เสียค่าเดินทาง เสียค่าที่พัก เสียเวลาทำมาหากิน และอาจถึงขั้นเสียประสาท !!  ถ้าหากโจทก์ผู้เสียหายไม่ยอมความ ประสงค์จะดำเนินคดีถึงที่สุด จำเลยที่หมิ่นประมาทเขา ก็จะตกอยู่ในฐานะยืนพิงประตูคุกอยู่ครับ

ในการฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำผิดหมิ่นประมาทใส่ความคนอื่นบนอินเตอร์เน็ต นอกจากจะใช้มาตรา 328 แล้ว ยังใช้กฎหมายคอมพิวเตอร์ 2550 พ่วงเข้ามาอีกฉบับ เพื่อ“ล็อกเป้า” ผู้กระทำความผิด ให้ดิ้นไม่หลุด!! ถูกตัว!! ถูกคน!! หนีไม่พ้น !! และปฏิเสธไม่ได้ !! เพราะข้อความหรือภาพหมิ่นประมาทจะถูกแพร่ออกไปชนิดไร้พรมแดนเกี่ยวข้องกับระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตจากต้นทางถึงปลายทาง โดยที่ข้อความหรือภาพหมิ่นประมาทนั้นแพร่ไปทั่วโลกและทั่วเมืองไทย

ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 กล่าวไว้ว่า… ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณา ด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ ทำให้ปรากฏด้วยวิธีใด ๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกินสองปีและปรับไม่เกินสองแสนบาท

แต่ที่เราควรต้องรู้ก็คือ อินเตอร์เน็ตเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ แพร่ไปทั่วโลกและทั่วประเทศไทย แต่เพราะผลของการบังคับใช้กฎหมายคอมพิวเตอร์ 2550  ยังผลให้การโพสต์ข้อความหมิ่นประมาทจากต้นทางถึงปลายทาง สามารถย้อนรอยสาวถึงตัวผู้กระทำผิดได้ ชนิดดิ้นไม่หลุด !! 

                  กฎหมายคอมพิวเตอร์ 2550 มาตรา 26 กล่าวไว้ว่า… ผู้ให้บริการต้องเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ไว้ไม่น้อยกว่าเก้าสิบวัน นับแต่วันที่ข้อมูลนั้นเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ แต่ในกรณีจำเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่จะสั่งให้ผู้ให้บริการผู้ใดเก็บรักษา ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ไว้เกินเก้าสิบวันแต่ไม่เกินหนึ่งปี เป็นกรณีพิเศษ เฉพาะรายและเฉพาะคราวก็ได้ ผู้ให้บริการจะต้องเก็บรักษาข้อมูลของผู้ใช้บริการเท่าที่จำเป็น เพื่อให้สามารถระบุตัวผู้ใช้บริการนับตั้งแต่เริ่มใช้บริการ และต้องเก็บรักษาไว้เป็นเวลาไม่น้อยกว่าเก้าสิบวัน นับตั้งแต่การใช้บริการสิ้นสุดลง

ดังนั้น คนเล่นอินเตอร์เน็ต ถ้าไปกระทำผิดโพสต์ข้อความหมิ่นประมาทคนอื่น หรือกระทำความผิดอื่นๆเข้าก็สามารถจะถูกจับกุมดำเนินคดีหรือถูกฟ้องร้องได้เสมอ เพราะสามารถย้อนรอยหาตัวผู้กระทำผิด จากผลของกฎหมายคอมพิวเตอร์ 2550 นั่นเอง

               ขอย้ำอีกครั้ง…ผู้กระทำผิดจะถูก”ล็อกเป้า”ชนิด… ถูกตัว!! ถูกคน!! หนีไม่พ้น !! และปฏิเสธไม่ได้ !! 

               “ใครเล่นอินเตอร์เน็ทชอบโพสต์ข้อความต่างๆ  ไม่อยากนอนคุก อยากนอนสบายๆที่บ้าน  ก็ต้องเตือนตัวเองตลอดเวลา อย่ามือไวใจไว  โพสต์ข้อความหมิ่นประมาทคนอื่น หรือกระทำผิดกฎหมายใดๆทั้งสิ้น  มิฉะนั้น “คุก”จะถามหา !!”  

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!