นครสวรรค์-ประชุมศิษย์เก่าราชภัฏ

นครสวรรค์-ประชุมศิษย์เก่าราชภัฏ

ภาพ/ข่าว:ชาติชายเกียรติพิริยะ

        สมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยราชภัฎนครสวรรค์ ประชุมแสดงความยินดีที่ปรึกษาเป็น กศจ. ยินดีนายกองค์การนักศึกษารางวัลพระราชทานเยาวชนดีเด่น เตรียมงานเดิน วิ่งเพื่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และถกวิกฤติม.ราชภัฎ

        เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 17 ตุลาคมนี้ ที่ห้องดุสิตา ชั้น 2 อาคาร 14 มหาวิทยาลัยราชภัฎนครสวรรค์ ดร.สมศักดิ์ ลา นายกสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยราชภัฎนครสวรรค์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมสมาคมฯ โดยมี รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ ที่ปรึกษาสมาคมร่วมประชุม วาระที่สำคัญในการประชุมคือการมอบช่อดอกไม้แสดงความยินดีกับที่ปรึกษาสมาคมที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็น คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดนครสวรรค์ การแสดงความยินดีกับนายวีระ กิจเฉย นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎนครสวรรค์ ที่ได้รับรางวัลพระราชทานเยาวชนดีเด่น จากพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
         นอกจากนี้ยังมีวาระที่สำคัญ อีก 2 วาระ คือ 1.การจัดโครงการ “เดิน วิ่งเพื่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม” หารายได้สนับสนุนการจัดกิจกรรมนักศึกษาและส่งเสริมกิจกรรมของมหาวิทยาลัย โดยกำหนดจัดกิจกรรมในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งจัดแบ่งกิจกรรมเดิน วิ่งฯออกเป็น 3 ประเภทคือ ไมโครมาราธอน 3.5 กม. มินิมาราธอน 10 กม. และฮาล์ฟมาราธอน 21 กม. ส่วนรายละเอียดและความคืบหน้าจะนำมาเสนอต่อไป
         เรื่องที่มีการนำเข้ามาเป็นวาระสำคัญในการประชุมครั้งนี้ คือ วิกฤติมหาวิทยาลัยราชภัฎ ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วประเทศคือในอนาคตหากไม่มีการวางแผนหรือการบริหารจัดการที่ดี มหาวิทยาลัยอาจต้องยุบตัวเอง โดย รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ ที่ปรึกษาสมาคมฯได้นำเสนอรายละเอียดเบื้องต้นว่า สภาพปัญหาของมหาวิทยาลัยราชภัฎทุกแห่งจะมีไม่แตกต่างกันคือ
          สภาพภายใน มีปัญหาที่รวบรวมได้ 7 ประการคือ 1.กลยุทธ์ในการบริหารยังไม่มีความชัดเจน ไม่มีจุดเด่น 2.ระบบการบริหารจัดการขาดประสิทธิภาพและการบูรณาการร่วมกัน เช่น การบริหารทรัพยากรมนุษย์ 3.มีปัญหาเรื่องธรรมาภิบาล เช่น การได้มาของตำแหน่ง การสรรหาผู้บริหาร และสภามหาวิทยาลัย ที่มีการเอื้อประโยชน์ต่อกัน 4.ขาดความเข้มแข็งเชิงวิชาการ หลักสูตรล้าสมัย ทำให้คุณภาพบัณฑิตไม่ตอบโจทย์สังคม 5. เกิดคดีความ การเรียกร้อง การฟ้องร้องต่อศาลของบุคลากรในมหาวิทยาลัย หรือปัญหาการบริหารงานบุคคล 6.การเลิกจ้างอาจารย์และบุคลากรที่มีมากเกินงาน(คนล้นงาน) 7.ความปลอดภัยในมหาวิทยาลัย สภาพปัญหาภายนอก ที่สำคัญมี 7 ประการ ได้แก่ 1.มหาวิทยาลัยถูกตัดและลดงบประมาณแผ่นดิน 2.จำนวนนักศึกษาลดลง 3.มหาวิทยาลัยราชภัฎมีจำนวนมาก 4.ภาพลักษณ์ไม่ดี ถูกมองว่าเป็นสถาบันการศึกษาชั้นสอง 5.ผู้เรียนมาทางเลือกใหม่ในการเข้าถึงการศึกษา เช่น (MOOCs) 7.มีการเพิ่มศักยภาพของมหาวิทยาลัยชั้นนำ มีการเปิดหลักสูตรใหม่ๆ เช่น วิชาจีบ ระบบนิเวศต้นน้ำ วิชาการตายอย่างมีคุณภาพ วิชาการเรียนการสอนปรัชญากับการ์ตูน วิชาโหราศาสตร์ AI กับชีวิตประจำวัน วิชาศาสตร์แห่งรัก วิชาเสริมสร้างเสน่ห์

            นอกจากนี้ รศ.ดร.สุขุม ยังได้เสนอแนะทางออกไว้ 5 ประการ ได้แก่ 1.มหาวิทยาลัยต้องทบทวนตัวเอง หาจุดแข็ง มุ่งส่งเสริมความเชี่ยวชาญอย่างแท้จริง 2.การพัฒนามหาวิทยาลัยในรูปแบบเชิงพาณิชย์ หรือการจัดหารายได้ด้วยวิธีการอื่น เช่น ธุรกิจวิชาการ ทำค่ายฝึกงาน การบริหารพื้นที่ การรับจ้างออกข้อสอบ จัดสนามสอบ 3.มองวิกฤติให้เป็นโอกาส ด้วยมหาวิทยาลัยราชภัฎอยู่ในพื้นที่ต่างกัน ควรศึกษาจุดเด่นของพื้นที่ ชุมชน แล้วนำมาพัฒนาหลักสูตร 4.ควรเป็นมากกว่าแหล่งผลิตบัณฑิต โดยเน้นการสร้างองค์ความรู้ใหม่ เน้นการวิจัยและบริการที่มีรายได้ เป็นแหล่งเรียนรู้ทางวิชาการในรูปแบบใหม่ๆ เช่น จับกลุ่มเป้าหมาย จัดกิจกรรม สร้างองค์ความรู้ 5.การพัฒนาคุณภาพบัณฑิต ความเข้มแข็งทางวิชาการ เพื่อให้เกิดการสร้างชื่อเสียง ภาพลักษณ์และการรับรู้เชิงบวกให้แก่สังคม

             ทั้งนี้ก่อนจะดำเนินการคงต้องมีการระดมสมอง รวบรวมทำเป็นขั้นตอนการดำเนินการตั้งแต่ การเก็บข้อมูล การทำแบบสอบถามเพื่อรับทราบความเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย เช่น ประชาชน นักศึกษา อาจารย์ ผู้ปกครอง จะได้ทราบปัญหา ความต้องการที่แท้จริง แล้วจึงนำมาเป็นข้อสรุปที่จะวางแผนแก้ไขวิกฤติกันต่อไปให้ชัดเจนเป็นระบบ เป็นรูปแบบ เป็นรูปธรรม

สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!