ปทุมธานี-การดำเนินธุรกิจแบบสหกรณ์

ปทุมธานี-การดำเนินธุรกิจแบบสหกรณ์

ภาพ/ข่าว:อนันต์ วิจิตรประชา
นงค์นุช พุ่มประดล
นักวิชาการสหกรณ์ชำนาญการพิเศษ
สำนักงานสหกรณ์จังหวัดปทุมธานี

บทความ การดำเนินธุรกิจแบบสหกรณ์

               พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 ได้ให้นิยามของคำว่าสหกรณ์ไว้ว่า “ สหกรณ์” หมายความว่า คณะบุคคลซึ่งร่วมกันดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของสมาชิกสหกรณ์ผู้มีสัญชาติไทย โดยช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และได้จดทะเบียนตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542” โดยที่สหกรณ์แห่งแรกที่จัดตั้งในประเทศไทยคือสหกรณ์หาทุน ใช้ชื่อว่า “สหกรณ์วัดจันทร์ ไม่จำกัดสินใช้ จดทะเบียนเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2459 นับเป็นการเริ่มต้นการสหกรณ์ในประเทศไทยตั้งแต่นั้นมา และได้กำหนดให้วันที่ 26 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็นวันสหกรณ์แห่งชาติด้วย จะเห็นได้ว่าการสหกรณ์ได้เกิดขึ้นและดำเนินมาจนถึงปัจจุบันนับเป็นเวลา 105 ปี มาแล้ว โดยมีสหกรณ์ทั้ง 7 ประเภท กระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆทั่วประเทศ ได้แก่ สหกรณ์การเกษตร สหกรณ์ประมง สหกรณ์นิคม สหกรณ์ร้านค้า สหกรณ์ออมทรัพย์ สหกรณ์บริการ และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน มีสหกรณ์จำนวนทั้งสิ้น 7,957 แห่ง (ข้อมูลจากกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ณ วันที่ 31 มกราคม 2564) และการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์มีหลักๆ 6 ธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจสินเชื่อ ธุรกิจรับฝากเงิน ธุรกิจรวบรวมผลผลิต ธุรกิจแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย และธุรกิจให้บริการและส่งเสริมการเกษตร

             ทั้งนี้ การดำเนินธุรกิจของสหกรณ์มีความแตกต่างกับบริษัท/ห้างหุ้นส่วน โดยแตกต่างในด้านลักษณะต่างๆ กล่าวคือ วัตถุประสงค์ของการดำเนินธุรกิจ สหกรณ์ให้บริการเพื่อช่วยเหลือสมาชิก เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนแก่สมาชิกสหกรณ์เป็นหลัก ส่วนบริษัท/ห้างหุ้นส่วน ดำเนินงานเพื่อการค้ากับบุคคลภายนอก และแสวงหากำไรสูงสุด ลักษณะการรวมกัน สหกรณ์เป็นการรวมคน ส่วนบริษัท/ห้างหุ้นส่วนเป็นการรวมทุน ลักษณะการออกหุ้น/การถือหุ้น สหกรณ์นั้นราคาหุ้นมีอัตราต่ำ และมีการออกหุ้นมีจำนวนไม่จำกัด แต่ละคนจะถือหุ้นได้ไม่เกินหนึ่งในห้าของทุนเรือนหุ้นทั้งหมด ทั้งนี้เพื่อป้องกันการผูกขาด ลักษณะการควบคุม/การออกเสียงลงมติ สหกรณ์มีระบบการออกเสียงคนละหนึ่งเสียงและออกเสียงแทนกันไม่ได้ ส่วนบริษัท /ห้างหุ้นส่วนมีระบบการออกเสียงตามจำนวนหุ้นที่ถือและออกเสียงแทนกันได้ ลักษณะการแบ่งกำไร สหกรณ์แบ่งตามที่ทำธุรกิจกับสหกรณ์ และตามที่ระบุไว้ในข้อบังคับของสหกรณ์ กล่าวคือ จ่ายเป็นทุนสำรองไม่น้อยกว่าร้อยละสิบของกำไรสุทธิ จ่ายเป็นค่าบำรุงสันนิบาตสหกรณ์ในอัตราร้อยละหนึ่งของกำไรสุทธิแต่ไม่เกินสามหมื่นบาท และอาจจัดสรรเป็นเงินปันผลซึ่งปันผลตามหุ้น เงินเฉลี่ยคืนตามส่วนธุรกิจ และเป็นทุนต่างๆเพื่อช่วยเหลือสมาชิกสหกรณ์ได้แก่ ทุนศึกษาอบรมแก่สมาชิกสหกรณ์ ทุนสาธารณะประโยชน์ ทุนเพื่อจัดสวัสดิการแก่สมาชิก เป็นต้น ในส่วนของบริษัท/ห้างหุ้นส่วนจะมีการจัดสรรกำไรตามจำนวนหุ้นที่ถือในรูปเงินปันผลเพียงอย่างเดียวเท่านั้นเอง

             จะเห็นได้ว่าการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ต่างๆ เป็นรูปแบบที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของสมาชิกสหกรณ์เป็นหลัก โดยเป็นการทำธุรกิจกับสมาชิก ตอบสนองความต้องการ และช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของสมาชิกเป็นอันดับแรก ทั้งนี้ เมื่อสหกรณ์ได้บริหารงานอย่างเป็นระบบภายใต้หลักธรรมมาภิบาลทำให้มีส่วนเหลื่อมทางธุรกิจหรือกำไรเกิดขึ้น และมีการจัดสรรกำไรสุทธิอย่างเป็นธรรมเป็นไปตามข้อบังคับสหกรณ์นั้นๆ ย่อมก่อให้เกิดความเสมอภาคและความเป็นธรรมแก่มวลสมาชิก ทำให้สมาชิกสหกรณ์กินดี อยู่ดี มีความเป็นธรรม และสันติสุขในสังคม ซึ่งเป็นเป้าหมายของอุดมการณ์สหกรณ์นั่นเอง

สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/

 

 

 

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!