อุดรธานี-ฮือฮา “เป็ดหงส์” บินลงทะเลบัวแดง

อุดรธานี-ฮือฮา “เป็ดหงส์” บินลงทะเลบัวแดง

ภาพ/ข่าว:พฤตินัย มั่งสวัสดิ์

ฮือฮา “เป็ดหงส์” บินลงทะเลบัวแดง สำรวจพบนกหายากอีกจำนวนมาก วอนชาวบ้านอย่าล่า หวั่นสูญพันธุ์

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ใกล้ถึงฤดูท่องเที่ยวทะเลบัวแดง เข้ามาทุกทีในช่วงหน้าหนาวมาเยือน ดอกบัวแดงจะบานสะพรั่งเต็มท้องน้ำ ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกให้มาชมมาเยือน แหล่งน้ำจืดที่สวยและใหญ่ติดอันดับโลก อย่างทะเลบัวแดงของจังหวัดอุดรธานี ว่ากันว่า บึงหนองหาน บึงขนาดใหญ่สุดลูกหูลูกตา ประดุจทะเลสาบอันกว้างใหญ่ไพศาล เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่สำคัญของภาคอีสาน ที่กินพื้นที่ตั้งแต่ สกลนคร อุดรธานี และสายน้ำไหลผ่าน กาฬสินธุ์ เข้าสู่พื้นที่อีกหลายจังหวัดในภาคอีสานตอนล่าง และด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ มีพืชน้ำ พันธุ์ปลา พันธุ์นก หลากหลายชนิด และพันธุ์พืชน้ำที่เป็นไฮไลท์ก็คือ บัวแดง หรือ บัวสาย ซึ่งจะผลิดอกเบ่งบานเป็นสีชมพูสีแดง บานสะพรั่งไปทั่วผืนน้ำในช่วงฤดูหนาว ตลอดเดือนธันวาคม ถึง สิ้นเดือนกุมภาพันธ์
          ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ประวัติการค้นพบทะเลบัวแดงนั้นมีมาสมัยที่นายรักเกียรติ ศรีลาวงศ์ ผู้ค้นพบทะเลบัวแดงหมื่นไร่ มีที่มาเมื่อครั้งที่ นายรักเกียรติ ศรีลาวงศ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเดียม ซึ่งย้ายมาดำรงตำแหน่งที่โรงเรียนบ้านเดียมใหม่ๆในปลายปี 2547 ได้ลงไปศึกษาหนองหาน กุมภวาปี พร้อมกับกลุ่มผู้นำชุมชนและชาวประมงบ้านเดียม ซึ่งพบว่ามีบัวแดงจำนวนมหาศาลเกิดขึ้นเต็มท้องน้ำหนองหานตั้งแต่ราวๆ เดือนตุลาคม – เดือนมีนาคมทุกปี จึงได้มาร่วมกันคิดหาวิธีจะเชิญชวนคนมาดู มาเที่ยวชมความงาม ความยิ่งใหญ่ของบัวแดง ตลอดจนวิถีชีวิตผู้คน สัตว์ต่างๆ และธรรมชาติอันงดงามของหนองหานกุมภวาปี เพื่อเพิ่มรายได้ สร้างชื่อเสียงให้แก่ชุมชน และมุ่งให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของทุกคน จึงได้เกิดคำว่า ทะเลบัวแดงหมื่นไร่ ตั้งแต่ปีนั้นมา จนปัจจุบัน กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญโด่งดังไปทั่วประเทศไทยและก้องไกลไประดับโลก
          ด้านนายโนรี ตะถา หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองหานกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี (ทะเลบัวแดง) สำนักงานพื้นที่บริหารอนุรักษ์ที่ 10 อุดรธานี เปิดเผยว่า พวกเรามีหน้าที่ตรวจตรา ลาดตระเวนไปตามพื้นที่รอบๆบริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีอาณาเขตกว้างไกลหลายหมื่นไร่ ทั้งบนบกและในน้ำ ตามเกาะแก่งทุกพื้นที่ เพื่อป้องกันการกระทำผิดในพื้นที่รับผิดชอบ ที่มักจะมีชาวบ้านเข้ามาจับ เข้ามาล่าสัตว์ประเภทปลา นกน้ำหายาก เพื่อเอาไปเป็นอาหาร เอาไปขายให้คนนำไปเลี้ยง มีราคาสูงเพราะเป็นนกหายาก และบางชนิดกำลังจะสูญพันธุ์ เหลือมีให้เห็นไม่กี่ตัว ลำพังการเอาชีวิตรอดของพวกนกน้ำ ที่มักจะวางไข่ในพื้นดิน แหล่งชุ่มน้ำ ก็มักจะเผชิญกับสัตว์นานาชนิด ที่จะมาจับกินไข่ จับลูกนกเป็นอาหาร พวกเราจึงต้องเฝ้าระวัง และมีการสำรวจประชากรนกน้ำในพื้นที่กันตลอดเวลา
          นายโนรี ตะถา ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า จากการสำรวจพบว่า จะสามารถพบเห็นนกน้ำหายากที่บินมาจากแหล่งอื่นเพื่อหาอาหาร คือ ” นกเป็ดหงส์ ” เป็นนกหายากที่ใกล้จะสูญพันธุ์ โดยมักจะพบเห็นกันปีละครั้งสองครั้งในพื้นที่ทะเลบัวแดง นอกนั้นจะสามารถพบเห็นนกหายากได้อีกเช่น นกเหยี่ยวแดง นกตะขาบทุ่ง นกเป็ดเทาพันธุ์อินเดีย นกอีโก้ง นกพริก นกกระสานวล นกยางโกนน้อย นกปากห่าง นกหัวโตเล็กขาเหลือง นกเด้าลมเหลือง นกยอดหญ้าหัวดำ นกกาน้ำเล็ก นกเป็ดแดง และนกชายเลนน้ำจืดอีกหลากหลายสายพันธุ์ ก็ขอวิงวอนให้นักท่องเที่ยวอย่าไปรบกวนการหาอาหารและแพร่ขยายพันธุ์ของสัตว์เหล่านี้ เพื่อลูกหลานจะได้ศึกษาและชื่นชมในความงดงามของธรรมชาติอย่างแท้จริงให้ตราบนานเท่านาน
          สำหรับช่วงเวลาที่เหมาะสำหรับการชมทะเลบัวแดง คือ 06.00 – 11.00 น. นักท่องเที่ยวสามารถใช้บริการเรือท้องแบนของชาวบ้านคนขับเรือ ที่จะพาแวะไปชมความงามของดอกบัวแดงตามจุดต่างๆอย่างใกล้ชิด การเดินทาง จากตัวเมืองอุดรธานี ใช้ทางหลวงหมายเลข 2 (อุดรธานี-กุมภวาปี) ถึงกิโลเมตรที่ 26 เลี้ยวซ้ายที่แยกบ้านนาดี-หนองเม็ก ระยะทางประมาณ 14 กิโลเมตร ก็จะถึงจุดหมายบ้านเดียม ทะเลบัวแดง อุดรธานี….

สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/

CATEGORIES
TAGS
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!