ประจวบคีรีขันธ์-กกต.เปิดอบรมสร้างความรู้ได้มาซึ่ง สว.ชุดใหม่ 200 คน

ประจวบคีรีขันธ์-กกต.เปิดอบรมสร้างความรู้ได้มาซึ่ง สว.ชุดใหม่ 200 คน

ภาพ-ข่าว:ศูนย์ข่าวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

              เมื่อวันที่ 25 มี.ค.67 ที่โรงแรมประจวบแกรนด์ อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ นายกิตติพงศ์ สุขภาคกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นประธานเปิดกิจกรรมอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการเลือกสมาชิกวุฒิสภา หรือ สว.ตามโครงการศูนย์ส่งเสริมพัฒนาประชาธิปไตย มีกรรมการศูนย์ส่งเสริมประชาธิปไตยตำบล จากทั้ง 8 อำเภอ และผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เยาวชนจากสถานศึกษาต่างๆ รวมจำนวน 276 คน เข้าร่วม มี นายศักดิ์ชัย เลิศกิตติวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงาน กกต.ประจำจังหวัดฯ และวิทยากรจากสำนักงาน กกต.ประจำจังหวัดฯ บรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการได้มาซึ่ง สว.ชุดใหม่ จำนวน 200 คน ตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งในครั้งนี้จะใช้วิธีการเลือกกันเองของกลุ่มอาชีพ และกลุ่มต่างๆ จำนวน 20 กลุ่ม โดยมีคณะกรรมการดูแลการเลือก สว. ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ พร้อมกันนี้ ได้มีการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ สว. คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร สว. รวมถึงการเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ เพื่อรองรับกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีการประกาศกำหนดวันเวลารับสมัครการรับเลือก สว.ออกมาแล้ว ภายหลังจากที่ สว.ชุดปัจจุบันจะครบวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ 11 พ.ค.67 ซึ่งกรรมการศูนย์ส่งเสริมประชาธิปไตยตำบล และผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้จะนำความรู้ที่ได้รับไปเผยแพร่ต่อให้กับประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบต่อไป
                ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2560 กำหนดให้มี สว.ทั้งหมดจำนวน 200 คน ดำรงตำแหน่งได้คราวละ 5 ปี และ สว.ทุกคนดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียวไม่สามารถลงสมัครได้อีก ซึ่งการเลือก สว.ชุดใหม่นี้ จะมาจากการเลือกกันเอง ตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด และระดับประเทศของบุคคลซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะหรือประโยชน์ร่วมกัน หรือทำงาน หรือเคยทำงานด้านต่างๆ ที่หลากหลายของสังคมจาก 20 กลุ่มตามที่กฎหมายกำหนด ประกอบด้วย 1.กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง ได้แก่ ผู้เคยเป็นข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน 2.กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ได้แก่ ผู้เป็นหรือเคยเป็นผู้พิพากษา อัยการ ตำรวจ ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน 3.กลุ่มการศึกษา ได้แก่ ผู้เป็นหรือเคยเป็นครู อาจารย์ นักวิจัย ผู้บริหารสถานศึกษา บุคลากรทางการศึกษา หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน 4.กลุ่มสาธารณสุข ได้แก่ ผู้เป็นหรือเคยเป็นแพทย์ทุกประเภท เทคนิคการแพทย์ สาธารณสุข พยาบาล เภสัชกร หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน 5.กลุ่มอาชีพทำนา ปลูกพืชล้มลุก หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน 6.กลุ่มอาชีพทำสวน ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน 7.กลุ่มพนักงานหรือลูกจ้างของบุคคล ซึ่งไม่ใช่ราชการหรือหน่วยงานรัฐ ผู้ใช้แรงงาน หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน 8.กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริมทรัพย์ สาธารณูปโภค ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน 9.กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อยตามกฎหมาย หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน 10.กลุ่มผู้ประกอบกิจการอื่นนอกจากกิจการตามกลุ่มที่ 9
               11.กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว ได้แก่ มัคคุเทศก์ ผู้ประกอบกิจการหรือพนักงานโรงแรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน 12.กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน 13.กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนานวัตรกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน 14.กลุ่มสตรี 15.กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน 16.กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง นักกีฬา หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน 17.กลุ่มประชาสังคม กลุ่มองค์กรสาธารณประโยชน์ หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน 18.กลุ่มสื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน 19.กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน 20.กลุ่มอื่นๆ เช่น กลุ่มชาติพันธุ์ สำหรับคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือก สว. – มีสัญชาติไทยโดยการเกิด อายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี ในวันสมัครรับเลือก – มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือทำงานในด้านที่สมัครไม่น้อยกว่า 10 ปี (ยกเว้น กลุ่ม 14, 15) – เป็นผู้มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ 1. เกิดในอำเภอที่สมัคร 2. มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในอำเภอที่สมัครติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปี นับถึงวันสมัครรับเลือก 3. ทำงานในอำเภอที่สมัครติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปี นับถึงวันสมัครรับเลือก 4. เคยทำงานหรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านที่อยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือก เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปี 5. เคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในอำเภอที่สมัครติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปีการศึกษา 6. ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561
                อำนาจหน้าที่ของ สว.ได้แก่ การพิจารณาและกลั่นกรองกฎหมาย พิจารณาและกลั่นกรองพระราชบัญญัติ อนุมัติพระราชกำหนด แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ตั้งกระทู้ถาม เปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภาหรือที่ประชุมรัฐสภา การตั้งกรรมาธิการ การให้คำแนะนำหรือความเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เช่น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นต้น

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!