อดีตบิ๊ก กพร.เผยสถานประกอบการรับนักศึกษาฝึก ได้ยกเว้นภาษีเงินได้”ร้อยละร้อย”

อดีตบิ๊ก กพร.เผยสถานประกอบการรับนักศึกษาฝึก ได้ยกเว้นภาษีเงินได้”ร้อยละร้อย”

ภาพ-ข่าว:อรกัญญา หลิมสัมพันธ์

             นายธีรพล ขุนเมือง อดีตอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน(กพร.)กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ(มทรส.)ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับนโยบายสหกิจศึกษา เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายสหกิจศึกษา เมื่อวันที่ 18 สค.ที่ผ่านมา โดยมีศาสตราจารย์พิเศษ ชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม นายกสภามหาวิทยาลัย ร่วมรับฟังการบรรยายหัวข้อ”สถานการณ์แรงงานและแนวโน้มความต้องการแรงงานในอนาคต”ด้วย ว่า มทรส.เน้นการเรียนการสอนควบคู่การปฏิบัติในรูปแบบ”สหกิจศึกษา” เต็มรูปแบบเพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้เชิงประสบการณ์จริงในการทำงานก่อนสำเร็จการศึกษา และได้ใช้ความรู้ภาคทฤษฎีจากการเรียนไปเชื่อมโยงกับการปฏิบัติในสถานประกอบการต่างๆ ที่เข้าไปรับการฝึก
             ซึ่งจะสามารถปรับตัวแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในงานได้ ทำให้มีความพร้อมมากที่สุดเมื่อสำเร็จการศึกษา จะสามารถทำงานได้ทันที ในลักษณะของการ”ฝึกเตรียมเข้าทำงาน” ซึ่งเป็นไปตาม พรบ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 และประการสำคัญสถานประกอบการ ที่รับนักศึกษาเข้ารับการฝึกภายใต้ พรบ.นี้จะสามารถนำค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมไปยกเว้นภาษีเงินได้เป็นจำนวน”ร้อยละร้อย”ของรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมด้วย
              นายธีรพล กล่าวต่อไปว่าการดำเนินการภายใต้ พรบ. นี้มีหลักเกณฑ์ที่สำคัญคือ ต้องมี”หลักสูตร”ที่ใช้ในการฝึกอบรมโดยสามารถใช้หลักสูตรของสถานศึกษา หรือหลักสูตรของส่วนราชการ หรือหลักสูตรของผู้ดำเนินการฝึก หรือหลักสูตรที่สถานศึกษากับผู้ดำเนินการฝึกได้ร่วมกันจัดทำขึ้นก็ได้ ทั้งนี้ต้องจัดทำรายละเอียดเกี่ยวกับการฝึกเสนอต่อนายทะเบียน(เจ้าหน้าที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน)เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบและยื่นแบบตามที่กำหนดก่อนวันที่จัดให้มีการฝึกอบรมไม่น้อยกว่า 30 วัน
              โดยสามารถยื่นคำขอทางอิเล็กทรอนิกส์ของ กพร. ระบบ PRB e – service หรือยื่นที่หน่วยงาน กพร.ซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศที่สถานประกอบการนั้นตั้งอยู่ สำหรับรายการค่าใช้จ่ายที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีได้แก่ ค่าเบี้ยเลี้ยงที่จ่ายให้นักศึก ษาตามที่กำหนดไว้ในสัญญาแต่ไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ค่าเบี้ยประกันอุบัติเหตุ ค่าสวัสดิการ เช่น ค่าอาหาร ค่าที่พัก ค่าชุดฟอร์ม เป็นต้น รวมทั้งค่าวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการฝึกสหกิจศึกษา
              ตลอดจนค่าวิทยากรภายนอกที่จ้างมาเฉพาะเพื่อการฝึกนี้ด้วย ทั้งนี้การฝึกสหกิจ นอกจากนักศึกษาจะเป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพแล้ว สถานประกอบการ(สปก.) จะมีส่วนร่วมที่สำคัญในการพัฒนากำลังคนของประเทศด้วย และ สปก.มั่นใจว่านักศึกษาที่เข้ารับการฝึกจะปฏิบัติตนและช่วยงานได้อย่างดี เนื่องจาก มทรส.ได้มีการสนับสนุนคณาจารย์เพื่อดูแลเรื่องนี้อย่างเข้มข้นโดยมีการเข้ารับการอบรมหลักสูตรอาจารย์นิเทศสหกิจศึกษาเกือบครบถ้วนแล้วประมาณ 600 กว่าคน และเพิ่มเติมหลักสูตรที่เข้มข้น รูปแบบ CWIE ให้แก่อาจารย์ดังกล่าวเพิ่มเติมและได้ผ่านการอบรมไปแล้ว 150 คน เป็นอันดับ 6 จากสถาบัน ที่เข้ารับการฝึกหลักสูตรนี้ 126 สถาบัน ซึ่งจะเข้านิเทศงานนักศึกษาใน สปก.นำสู่การพัฒนาการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการของ สปก.มากยิ่งขึ้น

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!