เพชรบุรี-อช.แก่งกระจานเปิดปฏิบัติการ“ปักษาแหวกรัง เต่าดำมุดบาดาล”

เพชรบุรี-อช.แก่งกระจานเปิดปฏิบัติการ“ปักษาแหวกรัง เต่าดำมุดบาดาล”

ภาพ-ข่าว:สุรพล นาคนคร

               ปฏิบัติการ “ปักษาแหวกรัง เต่าดำมุดบาดาล”พบเพิงพัก ปลูกบริเวณห้วยเต่าดำ ใน อช.แก่งกระจาน เสบียงข้าวสาร ข้าวเปลือก ยาเส้น ยารักษาโรค ลูกตะกั่วกระสุนปืนลูกซอง สลิงที่ใช้สำหรับทำแร้วดักสัตว์ และซากสัตว์ป่า
               นายพิชัย วัชรวงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรีเปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากนายอิทธิพล ไทยกมล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ถึงผลการปฏิบัติงาน แผนปฏิบัติการ “ปักษาแหวกรัง เต่าดำมุดบาดาล” เพื่อพิสูจน์ทราบพื้นที่เป้าหมายเพิงพัก บริเวณห้วยเต่าดำ ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ระหว่างวันที่ 7 – 10 มิถุนายน 2564
               หน่วยงานร่วมปฏิบัติการ ประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน , กองการบิน สป.ทส., หน่วยเฉพาะกิจฯพญาเสือ, กองร้อย ตชด.ที่ 144, สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS),  สภ.แก่งกระจาน, ศพฐ.7 สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ
                วันที่ 8 มิ.ย. 2564 นายอิทธิพล ร่วมส่งกำลังเจ้าหน้าที่ จัดตั้งกองบัญชาการเหตุการณ์ ณ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โดยส่งกำลังทางอากาศ ด้วยอากาศยานปีกหมุน (Rotor Craft) 1 ลำ ส่งกำลังทางอากาศทั้งหมด 4 เที่ยวบิน กำลังพลทั้งหมด 15 นาย ลงสนาม ฮ. ชั่วคราว เพื่อเดินเท้าเข้าพื้นที่เป้าหมาย ระยะทางเดินเท้า 7 กม. ใช้เวลาเดินประมาณ 3 วัน 2 คืน
               น.ส.เนตรนภา งามเนตร ผช.หน.อช.แก่งกระจาน นำกำลังพลเริ่มเดินลาดตระเวนฯ และแจ้งกลับมายัง บก.เหตุการณ์ ว่าได้ดำเนินการแกะรอยการเข้ามาใช้ประโยชน์ พบรอยเท้า เครื่องบริโภค (กาแฟ มาม่า) สัญลักษณ์ (การฟันไม้พื้นล่างเปิดทาง) โดยได้แจ้งพิกัดล่าสุด เวลา 15.21 น. แต่เนื่องจากสภาพอากาศปิด ในพื้นที่มีฝนตกหนักตลอด เมฆหมอกปกคลุมหนา ทำให้ไม่สามารถดำรงการสื่อสารได้ และไม่ได้แจ้งพิกัดการเดินหรือพักแรมใดๆ กลับมายัง บก.เหตุการณ์อีก
                วันที่ 9 มิ.ย.2564 เวลา 09.30 น. น.ส.เนตรนภา ได้ติดต่อมายัง บก.เหตุการณ์ แจ้งว่าพบเพิงพัก(ไม่อยู่ในแผนฯ) โดยพบเครื่องอุปโภค บริโภค จำนวนมากซุกซ่อนอยู่ในเพิงพัก อาทิเช่น ข้าวสารประมาณ 100 ลิตร,ข้าวเปลือกประมาณ 300 ลิตร,ยาเส้นจำนวน 1 กระสอบ,ยารักษาโรคจำนวนมาก,เครื่องกระสุนปืนไทยประดิษฐ์ ดินปืนจำนวนมาก-ปลอกกระสุนปืนลูกซอง,ซากสัตว์ป่าไม่สามารถระบุชนิดได้,อื่นๆ
                โดยคาดว่ามีการใช้ประโยชน์ไม่เกิน 1 สัปดาห์ ซึ่งนายพิชัย ได้เข้ามาติดตามการปฏิบัติงานและร่วมวางแผนการเข้าตรวจสอบพื้นที่ ตามที่หัวหน้าชุดลาดตระเวนฯ ได้แจ้งแต่เนื่องจากสภาพอากาศปิด มีฝนตก ไม่สามารถนำเฮลิคอปเตอร์เข้าพื้นที่ได้ จึงได้มีการวางแผนให้ชุดลาดตระเวนฯ เก็บวัตถุหลักฐานออกมา พร้อมบันทึกภาพ วิดีโอ ซึ่งชุดลาดตระเวนฯได้แกะรอย เพื่อเข้าสู่เป้าหมาย(ตามแผน) ห่างจากเพิงพักแรกที่ตรวจพบประมาณ 4 กม. พบเพิงพักจำนวน 2 หลัง อยู่ติดกัน ชุดลาดตะเวนฯ เข้าควบคุมพื้นที่บุกรุก และเพิงพัก จากการตรวจสอบเบื้องต้น ไม่พบบุคคลใดในเพิงพัก แต่พบร่องรอยการใช้ประโยชน์ไม่เกิน 1 วัน ชุดลาดตระเวนฯ จึงได้จัดทำสนาม ฮ. ชั่วคราว เพื่อส่งกำลัง จนท.พิสูจน์หลักฐาน และพนักงานสอบสวนเข้าตรวจสอบพื้นที่อย่างละเอียด
                  วันที่ 10 มิ.ย. 2564 พนักงานสอบสวน สภ.แก่งกระจาน ,ศพฐ.7 สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ เข้าร่วมตรวจยึด ตรวจสอบเพิงพัก และพื้นที่บุกรุก(ตามแผน) อย่างละเอียด โดยส่งกำลังทางอากาศ ด้วยอากาศยานปีกหมุน (Rotor Craft) จำนวน 1 เที่ยวบิน ผลการตรวจสอบดังนี้ เพิงพักหลังที่ 1 ลักษณะใหม่มีการเข้ามาใช้ประโยชน์ในเพิงพักอย่างต่อเนื่อง พบปลอกกะสุนปืนลูกซอง ผ้าห่ม เสื้อผ้าที่มีสภาพใหม่  เพิงพักหลังที่ 2 อยู่ห่างจากเพิงพักหลังที่ 1 ไม่เกิน 20 เมตร พบขวานที่ใช้สำหรับตัดไม้ ขวดน้ำ สลิงที่ใช้สำหรับทำแร้วดักสัตว์
เมื่อปฏิบัติภารกิจแล้วเสร็จ ได้ส่งกำลังเจ้าหน้าที่ทุกนายกลับอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โดยอากาศยานปีกหมุน จำนวนทั้งสิ้น 6 เที่ยวบิน
               เจ้าหน้าที่ได้จัดทำบันทึกการตรวจสอบ/ตรวจยึด พร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้องแจ้งความกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ในฐานความผิดตาม พรบ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ,พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ,พรบ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และพรบ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 เพื่อติดตามหาตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินตามกฏหมายต่อไป

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!