บุรีรัมย์-รมช.เกษตรและสหกรณ์ ลงตรวจราชการ เยี่ยมชมการดำเนินืงานของศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติ ฯ

บุรีรัมย์-รมช.เกษตรและสหกรณ์ ลงตรวจราชการ เยี่ยมชมการดำเนินืงานของศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติ ฯ

ภาพ/ข่าว:คมกฤช พวงศรีเคน

          เมื่อเวลา 13.00 น.วันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 ณ บ้านสนวนนอก หมู่ที่ 2 ตำบลสนวน อำเภอห้วยราช จังหวัดบุรีรัมย์ นายปิยะ ปิจนำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ นายศรัญญู พูนลาภ รองอธิบดีกรมหม่อนไหม นายเทิดพันธ์ ครอบทอง นายอำเภอห้วยราช หัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด และระดับอำเภอ พร้อมด้วยแขกผู้มีเกียรติและพี่น้องชาว อำเภอห้วยราช ร่วมให้การต้อนรับ นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในโอกาสที่เดินทางมาตรวจราชการที่จังหวัดบุรีรัมย์
          นายศรัญญู พูลลาภ รองอธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวว่า จังหวัดบุรีรัมย์เป็นแหล่งผลิตผ้าไหมที่มีชื่อเสียงในระดับประเทศ ซึ่งมีลวดลายเป็นเอกลักษณ์จากภูมิปัญญาของปราชญ์ท้องถิ่น ทั้งการทอผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าซิ่นตีนแดง ผ้าไหมหางกระรอกที่ และเป็นแหล่งผลิตผ้าไหมและเส้นไหมที่มีคุณภาพ โดยศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ บุรีรัมย์ ได้ดำเนินการสืบสานต่อยอดภูมิปัญญา เพิ่มมูลค่าสินค้าหม่อนไหม สร้างรายได้ให้เกษตรกรอย่างยั่งยืน มีภารกิจหลักคือ การผลิตหม่อนและใช้ไหมพันธุ์ดี การอนุรักษ์และคุ้มครองหม่อนไหม ส่งเสริมพัฒนาอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม แปรรูปผลิตภัณฑ์หม่อนไหม และการตรวจรับรองมาตรฐานหม่อนไหม รวมทั้งการส่งเสริมเอกลักษณ์และการสร้างค่านิยมเกี่ยวกับหม่อนไหม นอกจากนี้ยังได้สนองงานโครงการในพระราชดำริ เช่น โครงการส่งเสริมศิลปาชีพกระสังและละหานทรายอีก จังหวัดบุรีรัมย์ มีเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ทอผ้าไหม และแปรรูปผลิตภัณฑ์จากหม่อนไหม ครอบคลุมพื้นที่ 23 อำเภอ จำนวน 6,132 ราย มีพื้นที่ปลูกหม่อนจำนวน 2,945 ไร่ มีรูปแบบการผลิต 2 รูปแบบ ได้แก่ รูปแบบหัตถกรรมและรูปแบบอุตสาหกรรม การเลี้ยงไหมแบบหัตถกรรมมีปริมาณผลผลิตเส้นไหมจำนวน 33,972 กิโลกรัม/ปี คิดเป็นมูลค่า 44 ล้านบาท แบบอุตสาหกรรม เกษตรกรมีการเลี้ยงไหมเพื่อจำหน่ายรังสด ปริมาณผลผลิตรังไหมจำนวน 15,000 กิโลกรัม/ปี คิดเป็นมูลค่า 3.5 ล้านบาท รวมรายได้ทั้งสิ้น 47.5 ล้านบาท ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ บุรีรัมย์ ดำเนินการขับเคลื่อนและส่งเสริมอาชีพด้านหม่อนไหม เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าหม่อนไหมตลอดห่วงโซ่การผลิต ให้เป็นที่ต้องการของตลาด ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ การส่งเสริมด้านการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมบ้านสนวนนอก ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ บุรีรัมย์ ส่งเสริมและพัฒนาให้เกษตรกรมีองค์ความรู้ในกระบวนการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ผลิตผ้าไหมให้ได้มาตรฐาน ตั้งแต่กระบวนการต้น กลาง และปลายทาง จนสามารถผลิตผ้าไหมที่ได้มาตรฐานการรับรองผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทย (ตรานกยูงพระราชทาน) รวมถึงการรับรองร้านค้าจำหน่ายผ้าไหมไทยที่ได้มาตรฐาน (Certified Thai Silk Shop) ในชื่อ ร้านกลุ่มทอผ้าไหมบ้านสนวนนอก สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคในการตัดสินใจเลือกซื้อผ้าไหมที่มีคุณภาพของชุมชน ซึ่งเป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชนปริมาณผลผลิต โดยสามารถผลิตผ้าไหมได้จำนวน 1200 เมตร/ปี ราคาจำหน่ายตั้งแต่เมตรละ 1000-2000 บาท คิดเป็นรายได้จากการจำหน่ายผ้าไหมและผลิตภัณฑ์ผ้าไหมทั้งสิ้น 1,200,000. – 2,400,000.-บาท/ปี บ้านสนวนนอกยังมีบุคคลที่เป็นต้นแบบในการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมโดยได้รับรางวัลเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ประจำปี 2561 นางกุลกนก เพชรเลิศ ซึ่งเป็นผู้ที่สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านหม่อนไหมให้กับชนรุ่นหลังต่อไป
          นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า อาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และทอผ้าไหม สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรได้ในระยะเวลาสั้น มีตลาดรองรับผลผลิตรังไหม และเส้นไหมที่แน่นอน แต่ปัจจุบัน เกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ทำให้เลิกประกอบอาชีพการเลี้ยงไหม หรือเลี้ยงลดลง และจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง รวมถึงเกษตรกรไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อจัดซื้อปัจจัยการผลิตที่ถูกต้องตามหลักวิชาการได้ส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตรังไหมที่ผลิตได้ลดลง ปริมาณเส้นไหม ไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภค และคนรุ่นใหม่ไม่สนใจอาชีพเกษตรกร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการบริหารจัดการเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดกับเกษตรกร ช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยใช้ตลาดนำการผลิต ใช้นวัตกรรมที่ทันสมัยมาช่วยเพิ่มผลผลิต เพิ่มคุณภาพให้เกษตรกรได้มากขึ้น ตามนโยบายตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ รวมทั้งพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยได้มอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรอย่างทั่วถึงและทันเหตุการณ์ มีโอกาสมาเยี่ยมพี่น้องชาวบ้านสนวนนอก และได้เห็นผลงานฝีมือของพี่น้องในการนำภูมิปัญญาที่ได้สืบทอดรุ่นต่อรุ่น ในด้านการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม สาวไหม การฟอกและย้อมเส้นไหม การทอผ้าไหม และสินค้าของฝาก ของที่ระลึกต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็น Soft Power ของไทยชนิดหนึ่ง ในวันนี้ ผมจึงขอให้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ร่วมบูรณาการขับเคลื่อนการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ร่วมกันแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพื่อให้เกษตรกรอยู่ดี มีสินค้าเกษตรมูลค่าสูง ทรัพยากรเกษตรยั่งยืน ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต่อไป
          กิจกรรมในครั้งนี้ประกอบด้วย การร่วมรำตรด มรดกทางวัฒนธรรมของอำเภอห้วยราช จังหวัดบุรีรัมย์เป็นการละเล่นพื้นบ้านของชาวอีสานใต้มาตั้งแต่โบราณ ชมการปิ้งพร้อมชิม ขนมตดหมา ขนมประจำจังหวัดบุรีรัมย์ กระบวนการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การสาวไหม การทอผ้าไหม การเลี้ยงไหม การย้อมไหม ผลิตภัณฑ์จากผ้าไหมที่หลากหลาย ที่งดงามด้วยสีสันและลวดลายที่เป็นอัตลักษณ์ของชาวบ้านสนวน อำเภอห้วยราช จังหวัดบุรีรัมย์

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!