บุรีรัมย์-นักท่องเที่ยว หลั่งไหลสู่ปราสาทพนมรุ้ง รับพลังแสงแรกของพระอาทิตย์

บุรีรัมย์-นักท่องเที่ยว หลั่งไหลสู่ปราสาทพนมรุ้ง รับพลังแสงแรกของพระอาทิตย์

ภาพ-ข่าว:คมกฤช พวงศรีเคน

นักท่องเที่ยว หลั่งไหลสู่ปราสาทพนมรุ้ง รับพลังแสงแรกของพระอาทิตย์ที่สาดแสงส่องลอดช่อง 15 ประตูปราสาท ขอพรองค์พระศิวะมหาเทพเพื่อความสำเร็จและความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต

                เมื่อเวลา 05.00 น.วันที่ 3 เมษายน 2567 ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปติดตามบรรยากาศ ที่ หน้าซุ้มโคปุระ ฝั่งทิศตะวันตก ปราสาทพนมรุ้ง อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยชาวต่างชาติ เดินทางมารอชมปรากฏการณ์มหัศจรรย์ รับแสงแรกของวัน พระอาทิตย์ขึ้นสาดแสงส่องผ่านตรงทั้ง 15 ช่อง ประตูปราสาทพนมรุ้ง บนอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ต.ตาเป๊ก อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งในเช้าวันนี้บรรยากาศแจ่มใส ท้องฟ้าโปร่ง มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่เดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว และเดินทางมาเป็นกรุ๊ปทัวร์ จากต่างจังหวัด ขึ้นมายังบนปราสาท โดยทางอุทยานได้เก็บค่าเข้าชมคนละ 50 บาท ค่าจอดรถคันละ 20 บาท โดยได้มารวมตัวกันรอรับแสงพร้อมถ่ายรูปด้วยอุปกรณ์ที่นำมาบันทึกภาพ พร้อมรับฟังการบรรยายประวัติความเป็นมา โดยเจ้าหน้าที่จากสำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา ถึงประวัติศาสตร์การก่อสร้างปราสาทพนมรุ้ง ในยุคสมัย ต่างๆ ในระหว่างรอแสงแรก ในขณะที่ทุกสายตาต่างก็มองลอดช่องประตูลุ้นแสงแรกด้วยใจที่จดจ่อ
                  ในเวลา 06.05 น.แสงแรกของพระอาทิตย์ก็ได้ปรากฎขึ้น สาดส่องแสงลอดผ่านช่องประตูทั้ง 15 ประตูอย่างอัศจรรย์ยิ่ง สร้างความประทับใจให้ทุกคนเป็นอย่างมาก บางคนถึงกับบอกว่ามาหลายครั้งแล้วพึ่งได้มีโอกาสเห็นพระอาทิตย์ได้เต็มดวงอย่างเด่นชัดในวันนี้ การเดินทางมาในครั้งนี้ไม่ผิดหวังจริงๆโดยพระอาทิตย์เต็มดวงได้สาดแสงผ่านช่องประตูประมาณ 3 นาที แล้วเคลื่อนผ่านไป ในระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่จากสำนักศิลปา กรที่ 10 นครราชสีมา ได้นำสวดบูชาขอพรองค์พระพิฆเณศวร พระนารายณ์ และขอพรองค์พระศิวะมหาเทพ เพื่อความสำเร็จและความเป็นสิริมงคลของทุกคน และเปิดประตูปราสาทเพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมชมและถ่ายภาพเป็นที่ระลึก
                  ในปี 2567 นี้พระอาทิตย์ขึ้นสาดแสงส่องผ่านตรงทั้ง 15 ช่อง ประตู ครั้งนี้ ระหว่าง วันที่ 3-5 เมษายน 2567 ซึ่งนักท่องเที่ยวต้องเดินทางมารอตั้งแต่เวลาประมาณ 05.30 น. เป็นต้นไป บริเวณหน้าซุ้มโคปุระ ฝั่งทิศตะวันตก พระอาทิตย์จะขึ้นประมาณเวลา 06.00 น. ตามที่นักดาราศาสตร์ได้คำนวณและคาดการณ์ไว้ ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่หาชมได้ยาก 1 ปี จะมีให้ชมเพียง 4 ครั้งเท่านั้น แต่ถ้าหากสภาพอากาศมีฝนตก เมฆ หมอก เยอะ หรือเมฆลงต่ำ จะไม่สามารถมองเห็นปรากฏการณ์ดังกล่าวได้ ในทุกๆ ปี ทั้งนี้ ในแต่ละปี จะมีปรากฏการณ์มหัศจรรย์ดวงอาทิตย์ตกตรง 15 ช่องประตูปราสาทพนมรุ้ง 2 ครั้ง ในระหว่างวันที่ 5-7 มีนาคม และระหว่างวันที่ 6-8 ตุลาคม และดวงอาทิตย์จะขึ้นตรง 15 ช่องประตูปราสาทพนมรุ้ง อีก 2 ครั้ง ในวันที่ 3-5 เมษายน และวันที่ 8-10 กันยายน ของทุกปี ชมความงดงามและความมหัศจรรย์ปราสาทพนมรุ้ง แล้วยังมี ปราสาทเมืองต่ำที่อยู่บริเวณใกล้เคียง และแหล่งท่องเที่ยวโบราณสถานที่สำคัญอื่นๆ อีกหลายแห่งในจังหวัดบุรีรัมย์
                   ปราสาทหินพนมรุ้งเป็นโบสถ์พราหมณ์ลัทธิไศวะ มีการบูรณะก่อสร้างต่อเนื่องกันมาหลายสมัย ตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 ถึงพุทธศตวรรษที่ 17 และในพุทธศตวรรษที่ 18 พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรขอมได้หันมานับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน เทวสถานแห่งนี้จึงได้รับการดัดแปลงเป็นวัดมหายาน ในช่วงแรกปราสาทหินพนมรุ้ง สร้างขึ้นจากหินทรายสีชมพู ตั้งอยู่บนยอดเขาพนมรุ้งสูง 1,320 ฟุตจากระดับน้ำทะเล ชื่อพนมรุ้งแปลว่าภูเขาใหญ่ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 15-18
                  จารึกต่าง ๆ ที่นักวิชาการได้อ่านและแปลพอจะสรุปได้ว่า พระเจ้าราเชนทรวรมันที่ 2 กษัตริย์แห่งอาณาจักรพระนคร (พ.ศ. 1487–1511) ได้สถาปนาเทวสถานถวายพระศิวะที่เขาพนมรุ้ง ซึ่งในสมัยแรก ๆ คงยังไม่ใหญ่โตนัก ต่อมาพระเจ้าชัยวรมันที่ 5 (พ.ศ. 1511–1544) ได้ทรงอุทิศที่ดินและข้าทาสถวายแด่เทวสถานพนมรุ้ง ในสมัยพุทธศตวรรษที่ 17 นเรนทราทิตย์ เจ้านายแห่งราชวงศ์มหิธรปุระที่ปกครองดินแดนแถบนี้ (ซึ่งเป็นต้นตระกูลของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ผู้สร้างนครวัด) ได้สร้างปราสาทแห่งนี้ขึ้นและได้ทรงบำเพ็ญพรตเป็นโยคี ณ ปราสาทพนมรุ้ง

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!