ลำปาง-กฟผ.แม่เมาะ เดินหน้าพัฒนาระบบบันทึกและแจ้งเตือนไฟป่า “ZER0 FIRE”

ลำปาง-กฟผ.แม่เมาะ เดินหน้าพัฒนาระบบบันทึกและแจ้งเตือนไฟป่า “ZER0 FIRE”

ภาพ-ข่าว:พรปวีณ์ สุรินทร์มงคล

          ไฟป่าและหมอกควัน เป็นปัญหาสำคัญสำหรับพื้นที่ภาคเหนือที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงฤดูแล้ง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพมาเป็นระยะเวลานาน แม้ว่าทุกภาคส่วนต่างร่วมแรงร่วมใจป้องกันและแก้ไขอย่างต่อเนื่องแล้วก็ตาม ในส่วนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แม่เมาะ ซึ่งมีพื้นที่รับผิดชอบกว่า 90,000 ไร่ ก็ได้ดำเนินมาตรการในเชิงป้องกัน เฝ้าระวังพื้นที่รอยต่อระหว่างป่าธรรมชาติ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ไฟป่าที่เกิดขึ้นให้มากที่สุด
            ทั้งนี้ ได้กำหนดพื้นที่ความเสี่ยงสูงพร้อมทำแนวป้องกันไฟป่าระยะทางกว่า 250 กิโลเมตร และจัดทีมลาดตระเวนพร้อมอุปกรณ์ ออกตรวจตราล่าสุด ยังได้พัฒนาระบบบันทึกและแจ้งเตือนไฟป่าผ่าน Line OA (LINE Official Account) ภายใต้ชื่อ “ZER0 FIRE” เพื่ออำนวยความสะดวกให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแจ้งจุดไฟป่า และตรวจสอบความถูกต้องโดยดึงข้อมูลจากดาวเทียม แล้วทำการแจ้งเตือน แสดงข้อมูลแผนที่ซึ่งผ่านการคัดกรองความถูกต้อง เพื่อเข้าป้องกันและระงับไฟป่าในพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที ซึ่งข้อมูลที่ได้จะถูกนำมาวิเคราะห์ ประเมินสภาพพื้นที่ และเฝ้าระวังความเสี่ยงของการเกิดเหตุซ้ำได้อีกด้วย
            นายสุชาติ ตุ่นแก้ว ผู้อำนวยการฝ่ายการผลิตเหมืองแม่เมาะ (อผม.) เผยว่า ปี 2567 กฟผ.แม่เมาะ ได้ดำเนินการควบคุมความเสี่ยงที่จะเกิดไฟป่าตามนโยบายของจังหวัดลำปาง ที่มีเป้าหมายกำหนดให้ลดการเกิดจุดความร้อนและพื้นที่เผาลงร้อยละ 50 โดยได้ตั้งคณะกรรมการศูนย์ป้องกัน แก้ไขปัญหาไฟป่า และหมอกควัน กฟผ.แม่เมาะ ดำเนินแผนป้องกันและระงับไฟป่า พร้อมทำแนวกันไฟระยะทางกว่า 250 กิโลเมตร ได้แบ่งการทำงานออกเป็น 3 ช่วง คือ
             1. เตรียมการก่อนฤดูแล้ง ทำการจำแนกพื้นที่เสี่ยง ประกอบด้วย พื้นที่ความเสี่ยงสูง ได้แก่ บริเวณรอยต่อระหว่างป่าธรรมชาติกับพื้นที่ฟื้นฟู พื้นที่ฟื้นฟูที่มีประชาชนเข้ามาหาของป่า และพื้นที่ที่มีการกองทับถมของเศษใบไม้และวัสดุเชื้อเพลิง ส่วนพื้นที่ความเสี่ยงน้อย ได้แก่ พื้นที่บ่อเหมืองที่มีการทำงาน พื้นที่ป่าปลูกใหม่ และพื้นที่บริเวณอาคารและสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ 2. ช่วงป้องกันไฟป่า ทำการประชาสัมพันธ์ติดป้ายรณรงค์บริเวณที่ทำการเหมืองแม่เมาะ บริเวณที่ทิ้งดิน และพื้นที่เครือข่ายป่าชุมชน จัดกิจกรรม Kick off งานป้องกันไฟป่า 3. ช่วงระงับไฟป่า จัดทีมลาดตระเวนเฝ้าระวังและระงับไฟป่า จำนวน 5 ทีม ลาดตระเวนตรวจพื้นที่โดยใช้รถจักรยานยนต์ พร้อมอุปกรณ์ถังดับเพลิงแบบสะพายหลัง และไม้ตบไฟ ซึ่งสามารถเข้าดับไฟเบื้องต้น พร้อมทั้งประสานงานรถน้ำเพื่อเข้าร่วมดับไฟป่า
             นายจักรพงศ์ สุทธิพงศ์ นักคอมพิวเตอร์ระดับ 7 (นค.7) หัวหน้าหมวดสนับสนุนงานสารสนเทศและระบบข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม แผนกวิชาการสิ่งแวดล้อมเหมือง (หวสม-ช.) กองสิ่งแวดล้อมเหมือง (กสม-ช.) กล่าวว่า เดิมทีทีมลาดตระเวนเฝ้าระวังและป้องกันไฟป่า รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง เมื่อพบเหตุไฟป่าจะใช้การรายงานรายละเอียดไปที่ศูนย์ลิกไนต์ และผ่านกลุ่มไลน์ “สนับสนุนดับไฟป่า กฟผ.แม่เมาะ” ซึ่งข้อมูลพบว่า กระจัดกระจายไม่เป็นระบบ จึงได้พัฒนาระบบบันทึกและแจ้งเตือนไฟป่าขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกในการระงับเหตุไฟป่าและประสาน ส่งต่อข้อมูลให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกได้อย่างเป็นระบบ ซึ่งดำเนินการผ่าน Line OA (LINE Official Account) ภายใต้ชื่อ “ZER0 FIRE” ไม่ต้องติดตั้งแอปพลิเคชันอื่นๆ เพิ่มเติม
              โดยหลักการทำงานของ ZER0 FIRE แบ่งเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย ส่วนที่ 1 คือ การบันทึกข้อมูลไฟป่า ผู้ใช้งานระบุรายละเอียดข้อมูล วันที่พบเหตุ เวลา พิกัด (โดยส่วนมากระบบจะใส่ข้อมูลเริ่มต้นและตำแหน่งที่อยู่ปัจจุบัน) อัพโหลดภาพถ่ายจุดที่พบไฟป่า เลือกสถานะ ประกอบด้วย ยังไม่ดับ ดับแล้ว และขอกำลังเสริม เลือกการแจ้งเตือนหน่วยงานภายในที่เกี่ยวข้อง หลังจากนั้นระบบจะบันทึกข้อมูลลงฐานข้อมูล ส่วนที่ 2 คือ การแจ้งเตือนผู้ใช้งาน ระบบแจ้งเตือนไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องเมื่อมีการแจ้งพบไฟป่าเข้ามาในระบบ แสดงรายละเอียด และรองรับระบบนำทางเบื้องต้นโดยใช้ Google Map หรือ Apple Map ผู้ใช้งานสามารถอัปเดตสถานการณ์เพิ่มเติมได้ ซึ่งทุกกิจกรรมที่เกิดขึ้นจะถูกบันทึกและจัดทำเป็นไทมไลน์ในการระงับเหตุเพื่อนำข้อมูลไปวิเคราะห์ และวางแผนงานในอนาคตต่อไป และ ส่วนที่ 3 คือ การแสดงข้อมูลไฟป่าในรูปแบบแผนที่พร้อมแสดงจุดไฟป่า โดยจะจำแนกสีตามสถานะของจุดไฟนั้นๆ เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ตรวจสอบไฟป่าที่ยังไม่ได้สามารถดับได้อย่างสะดวก รองรับการเรียกดูข้อมูล แบบรายวันและตามช่วงเวลา ข้อมูลทางสถิติตามความต้องการ โดยแสดงข้อมูลแบบ Heatmap เพื่อประเมินพื้นที่เสี่ยงสูงในการเกิดไฟป่า รวมทั้งระบบจัดทำรายงานอัตโนมัติเพื่อรายงานให้กับหน่วยงานที่กำกับควบคุมต่อไป
              นายจักรพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ZER0 FIRE แบ่งผู้ใช้งานออกเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย หน่วยลาดตระเวนและปฏิบัติการ มีสิทธิ์แจ้งไฟป่าและรับแจ้งเตือน , ผู้บริหารและนักวิเคราะห์ข้อมูล มีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูลทางสถิติเพื่อนำมาจัดทำรายงานและวิเคราะห์ข้อมูล และผู้ดูแลระบบ มีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูลทางสถิติและกิจกรรมที่เกิดขึ้นทั้งหมด รวมถึงการอนุมัติคำขอภายในหน่วยงานที่สังกัดอีกด้วย “ทุกขั้นตอนของการพัฒนา ZER0 FIRE ได้สอบถามความต้องการของผู้ใช้งาน เพื่อตอบสนองความต้องการให้ครบถ้วนมากที่สุด โดยเฉพาะทีมลาดตระเวนเฝ้าระวังและระงับไฟป่า ลดขั้นตอนการพิมพ์โดยไม่จำเป็น ตั้งแต่การแจ้งจุดพบไฟป่า การแสดงพิกัดตำแหน่งของจุดไฟป่าได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ โดยใช้ข้อมูลจากแหล่งเดียวกันอย่างเป็นระบบและตรวจสอบได้ ยึดหลักใช้งานง่ายและรวดเร็ว” นายจักรพงศ์ กล่าวสรุป
              “ZER0 FIRE” ถือเป็นเครื่องมือสนับสนุนทีมลาดตระเวนเฝ้าระวังและระงับไฟป่าที่มีประสิทธิภาพ เน้นการจัดการไฟป่าในพื้นที่ กฟผ.แม่เมาะ อย่างไรก็ตาม ในอนาคตอาจมีการพัฒนาต่อยอดเชื่อมโยงข้อมูลรองรับการใช้งานในขอบเขตที่กว้างขึ้นร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ต่อไป

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!