ราชบุรี-นักท่องเที่ยวแห่ชมกระทงยักษ์ งามฝีมือเด่นสง่าสวยงามตระการตา

ราชบุรี-นักท่องเที่ยวแห่ชมกระทงยักษ์ งามฝีมือเด่นสง่าสวยงามตระการตา

ภาพ-ข่าว:สุจินต์ นฤภัย(เต้)

               เมื่อคืนวันที่ 28 พ.ย.66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประชาชนชาวราชบุรีและนักท่องเที่ยวจากหลายพื้นที่นับหมื่นคน เดินทางมาร่วมงานประเพณีลอยกระทง ประจำปี 2566 ที่ทางเทศบาลเมืองราชบุรีจัดขึ้น เพื่อสืบสานขนบธรรมเนียมประเพณีไทยที่ดีงาม และชมการประกวดกระทงยักษ์ กระทงสวยงามประเภทอนุรักษ์วัฒนธรรม และกระทงประเภทความคิดสร้างสรรค์ ภายใต้แนวคิด กระทงไทยให้คนทั่วโลกรู้จัก โดยมีโรงเรียนในเขตเทศบาลเมืองราชบุรี เข้าร่วมประกวดหลายโรงเรียน โดยกระทงยักษ์ทั้งสองประเภท เป็นงามฝีมือที่ทางครูและนักเรียนภายในโรงเรียน ต้องร่วมแรงร่วมใจใช้ฝีมือสร้างสรรค์ประดิดประดอยวัสดุจากธรรมชาติ ซึ่งกระทงแต่ละใบใช้เวลากว่า 1 – 3 อาทิตย์ ในการประดิดประดอยจนเป็นกระทงยักษ์ ที่มีความสวยงามตระการตา
               ซึ่งผลการประกวดกระทงยักษ์ กระทงสวยงาม ประเภทอนุรักษ์วัฒนธรรม โรงเรียนเทศบาล 2 (วัดช่องลม) ได้รับรางวัลชนะเลิศลำดับที่ 1 ส่วนผลการประกวดกระทงความคิดสร้างสรรค์ โรงเรียนสาธิตพหลโยธินรามินทรภักดี (เทศบาลเมืองราชบุรี) ได้รับรางวัลชนะเลิศลำดับที 1 ไปครอบครอง ซึ่งการประกวดกระทงยักษ์ทั้งสองประเภท ได้รับความสนจากประชาชนชาวราชบุรี และนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก เข้าร่วมชมการประกวดและร่วมถ่ายภาพกับกระทงยักษ์ ทั้งสองประเภทที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ เพื่อเก็บไว้เป็นที่ระลึกและแชร์สู่โลกโซเชียลให้กระทงเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

               น.ส.ประภัสสร รักสนาม อายุ 42 ปี ตัวแทนครูโรงเรียนเทศบาล 2 ผู้ชนะเลิศการประกวดกระทงสวยงาม กล่าวว่า การออกแบบกระทงที่ได้รับรางวัลชนะเลิศกระทงสวยงาม ประเภทอนุรักษ์วัฒนธรรมใบนี้ ได้แรงบันดาลใจจากพญานาค โดยมีเศรียรพญานาคทั้งหมด 7 เศียร เพื่อเป็นการบูชาแม่น้ำ และขอขมาพระแม่คงคา ส่วนวัสดุที่ใช้ประดิษฐ์กระทงเลือกวัสดุธรรมชาติทุกอย่าง จะเน้นอนุรักษ์ตามแบบดั้งเดิมตั้งแต่โบราณ เช่น ฐานใช้ไม้โสน กลีบกระทงใช้ใบตองและกล้วยไม้ หัวเศียรใช้ใบสน เป็นต้น จะไม่มีการใช้วัสดุที่ไม่ได้มาจากธรรมชาติเลย  ส่วนการประดิษฐกระทงใบนี้ ใช้คุณครูและนักเรียนทำทั้งหมด 7 วัน หลังจากนี้ทางโรงเรียนจะนำวิธีการประดิษฐ์กระทง ไปต่อยอดสอนเด็กนักเรียนให้มีความรู้ และฝีมือในวิชางานประดิษฐ์ หรือศิลปะ สำหรับปีหน้าทางโรงเรียนจะดิษฐ์กระทงที่ดึงวัฒนธรรมของชาวจังหวัดราชบุรีเพิ่มขึ้นมา โดยจะทำแนวฉีกออกมาจากเดิมเพื่อให้ทันยุคทันสมัย แต่ยังคงเน้นวัสดุธรรมชาติและความสวยงามประณีต เพื่อส่งเข้าประกวดในปีหน้าต่อไป
               ด้าน นางสิตรักษ์ แสงฉัตรากร อายุ 51 ปี และ น.ส.เสาวนีย์ หล้าคำ อายุ 32 ปี ตัวแทนคุณครูโรงเรียนสาธิตพหลโยธินรามินทรภักดี (เทศบาลเมืองราชบุรี) ผู้ชนะเลิศการประกวดกระทงความคิดสร้างสรรค์ กล่าวว่า การออกแบบกระทงรัตนบงกชทิพยประทีป (ชื่อกระทง) มีแนวคิดมาจากการใช้วัสดุที่ทำมาจากธรรมชาติและสีพื้นเดิมไม่ฉูดฉาด จึงเลือกใช้วัสดุปประเภทไผ่, ป่าน, ตอก, ใบลาน, รังไหม, ไม้ระกำ และผักตบชวา นำมาจักสานตกแต่งตั้งแต่โครงสร้างกระทงและกลีบกระทง รวมถึงสานเป็นตัวสัตว์ป่าหิมพานต์ ยอดฐานออกแบบให้เหมือนดอกไม้ไหว

               โดยกระทงใบนี้ใช้เวลาในการทำจนแล้วเสร็จกว่า 1 เดือน คิดว่าสิ่งที่ทำให้ได้รางวัลชนะเลิศ น่าจะเป็นความคิดสร้างสรรค์ ที่นำวัสดุธรรมชาติต่างๆมารังสรรค์เป็นกระทงที่มีความละเอียด และประยุกต์ตกแต่งประกอบกระทงได้อย่างสวยงามและลงตัว โดยใช้สีของวัสดุดั้งเดิมซึ่งเป็นสีที่ดูสบายตา สื่อให้เข้าถึงธรรมชาติอย่างแท้จริง โดยหลังจากนี้ทางโรงเรียนจะนำไปสอนแก่เด็กนักเรียนและเป็นตัวอย่างในวิชาคหกรรมต่อไป ส่วนในปีหน้าคาดว่าจะใช้สัญลักษณ์ของจ.ราชบุรี เช่น โอ่ง มาเป็นโจทย์ในการประดิษฐ์กระทงเข้าประกวดในปีหน้านี้ แต่จะสวยงามขนาดไหนต้องรอดูและชม ขณะที่ประชาชนชาวราชบุรีและนักท่องเที่ยว ที่เข้าร่วมชมการประกวดกระทงยักษ์ทั้งสองประเภท ต่างได้แสดงความคิดเห็นว่า อยากให้มีการสนับสนุนการจัดประกวดกระทงยักษ์ในระดับจังหวัด เพื่อประชาสัมพันธ์ประเพณีไทยอันดีงาม และทำกระทงไทยซึ่งเป็นงานฝีมือให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกสืบต่อไป

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!