ประจวบคีรีขันธ์-ข้องใจเทศบาลเมือง..!! เมินปฏิบัติตามคำสั่งศาล สั่งปิดจุดระบายที่ฝายล้นทุกจุด..!

ประจวบคีรีขันธ์-ข้องใจเทศบาลเมือง..!! เมินปฏิบัติตามคำสั่งศาล สั่งปิดจุดระบายที่ฝายล้นทุกจุด..!

ภาพ/ข่าว: เอกภพ วงษ์ประเสริฐ

           วันที่ 1 เมษายน 66 จ่าอากาศเอก เสกสรรค์ จันทร แกนแกนนำเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ผู้ฟ้องคดีที่ 1 เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2566 ศาลปกครองเพชรบุรี มีคำสั่งในคดีหมายเลขดำที่ ส. 2/2565 สั่งกำหนดวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนพิพากษา ปมทิ้งน้ำเสียลงหาด ให้เทศบาลเมืองประจวบฯปิดจุดระบายน้ำล้นที่ฝายน้ำล้นทุกจุด และทำการซ่อมแซมอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง พร้อมให้ผู้ว่าฯประจวบ หาวิธีการแก้ไขกรณีมีน้ำฝนจำนวนมาก เพื่อไม่ให้เกิดน้ำท่วม โดยให้ดำเนินการทันที ซึ่งเป็นคำสั่งที่กำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ล่าสุดจากการลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่ายังไม่มีมาตรการใดที่มีการแสดงเจตนาเพื่อปฏิบัติตามคำสั่งศาล
            จ่าอากาศเอก เสกสรรค์ กล่าวว่า ปัจจุบันที่บริเวณท่อใต้สันเขื่อนด้านหน้าโรงแรมหาดทอง ยังมีน้ำจากชุมชนไหลลงชายหาดตามปกติ และในท่อน้ำเสียบางจุดบนถนนสู้ศึกภายหลังเจ้าหน้าที่ศาลปกครองได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง ยังมีการนำแผ่นพลาสติกไปปิดกั้นน้ำเสียในท่อ ไม่มีการดำเนินการป้องกันน้ำเสียลงหาดเป็นการถาวรตามที่ศาลมีคำสั่ง จึงทำการบันทึกภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว เพื่อส่งหลักฐานให้ศาลปกครองพิจารณาและสำเนาข้อมูลตามคำสั่งศาลปกครอง ส่งเป็นเอกสารเพิ่มเติมให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ประกอบการพิจารณาคำร้องหลายสำนวน ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2565 หลังจากมีการร้องเรียนการดำเนินการของผู้บริหารระดับจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157

            “ ผู้ว่าประจวบฯ ควรสนใจเรื่องนี้แม้ว่าจะใกล้เกษียณในเดือนกันยายนนี้ นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองประจวบฯควรออกมาชี้แจงกับประชาชนว่าในสมัยที่ทำหน้าที่เป็นสมาชิกสภาเทศบาล( ส.ท.)วาระพิเศษตามมาตรา 44 ก่อนจะหมดวาระมีการเลือกตั้งใหม่เมื่อ 2 ปีก่อน นายกฯซึ่งเป็น ส.ท.ในขณะนั้นได้ยกมือในสภาเทศบาลเห็นชอบให้ใช้งบ 17 ล้านบาท เมื่อนายกฯชนะการเลือกตั้งได้ทำหน้าที่ฝ่ายบริหาร จากนั้นเมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 ได้เสนอญัตติขอใช้งบเพิ่มอีก 7 แสนบาท เป็นค่าที่ปรึกษาสภาก็ยกมือให้ เนื่องจากมี ส.ท.รายหนึ่งอภิปรายว่าโครงการนี้มีประชาชนร้อยละ 99 ต้องการให้ใช้งบทำโครงการ เพื่อไม่ให้น้ำเสียไหลลงทะเล โดยจัดทำสถานีสูบที่ 4 ที่ 5 บนถนนเลียบหาดตั้งแต่หน้ากองบิน 5 หน้าถึงโรงสูบข้างศาลจังหวัด แต่ปัจจุบันยังไม่มีการทำโครงการนี้ ซึ่งเป็นประเด็นที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก “ จ่าอากาศเอกเสกสรรค์ กล่าว
              ต่อมานายนิพนธ์ สุวรรณนาวา รองประธานคณะกรรมการธรรมาภิบาล ที่ปรึกษากิติมศักดิ์หอการค้า จ.ประจวบคีรีขันธ์ ร่วมสำรวจปัญหาการปล่อยน้ำเสียลงหาด ด้านหน้าโรงแรมหาดทอง ซึ่งมีกลิ่นเหม็นจากท่อระบายน้ำหลังมีคำสั่งศาลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการทันที โดยนายนิพนธ์ กล่าวว่า ไม่แน่ใจว่าอำนาจของศาลปกครองจะมีแค่ไหน เมื่อศาลสั่งแล้วหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องใช้เวลากี่วัน กี่เดือน แต่ถึงที่สุดทุกหน่วยงานควรปฏิบัติตาม เพื่อให้คำสั่งศาลมีความศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่พึ่งของประชาชน หากหน่วยงานต่างๆดำเนินการแล้วมีปัญหาติดขัดก็ควรแจ้งให้ประชาชนรับทราบ เนื่องจากที่ผ่านมาการปล่อยน้ำเสียจากชุมชนลงชายหาดจะมีผลกระทบกับการท่องเที่ยว ขณะที่มีผู้ประกอบการขนาดใหญ่หลายรายในเมืองประจวบฯปฏิเสธการจ่ายค่าบำบัดน้ำเสียให้เทศบาล เนื่องจากเห็นว่าระบบบำบัดน้ำเสียปัจจุบันยังไม่มีมาตรฐาน ไม่มีการปรับปรุงมานานกว่า 25 ปี

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!