ประจวบคีรีขันธ์-ร่วมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณรัชกาลที่ 4

ประจวบคีรีขันธ์-ร่วมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณรัชกาลที่ 4

ภาพ-ข่าว:เอกภพ วงษ์ประเสริฐ

รองผู้ว่านำข้าราชการประชาชนร่วมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณรัชกาลที่ 4 เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต

           เมื่อเวลาประมาณ 09.00 น.วันที่ 1 ต.ค.63 นายคมสัน เจริญอาจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นประธานแทนผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบฯ ในพิธีวางพวงมาลาถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต 1 ตุลาคม เพื่อน้อมรำลึกในพระเกียรติคุณ และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อพสกนิกรชาวไทย โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานภาครัฐต่างๆ เข้าร่วมพิธีโดยพร้อมเพรียง ณ บริเวณลานพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 4 อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์
           โดยทั้งนี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ได้มีพระราชกรณียกิจ เกี่ยวกับการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ราษฎรในรัชสมัยของพระองค์ในหลายด้าน เช่น ด้านการปกครอง ได้โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีการจัดตั้งตำรวจนครบาลขึ้น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง พร้อมกับทรงจัดตั้งศาลยุติธรรม และโปรดแก้ไขกฎหมาย จำนวน 500 ฉบับ เพื่อให้ทันสมัย และเป็นสากลมากขึ้น ด้านประเพณีและวัฒนธรรม ทรงเข้าใจในความต้องการของประชาชน ว่าต้องการเข้าเฝ้า เพื่อชมพระบารมีอย่างใกล้ชิดและเปิดเผย โดยพระองค์ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ยกเลิกการบังคับให้ประชาชนปิดประตูหน้าต่างสองข้างทางที่เสด็จพระราชดำเนินผ่าน และให้ประชาชนเข้าเฝ้าได้อย่างทั่วถึง
            ด้านวรรณกรรม พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือไว้มากมาย บทพระราชนิพนธ์ที่สำคัญ ได้แก่ ตำนานเรื่องพระแก้วมรกต เรื่องปฐมวงศ์ เป็นต้น และทรงริเริ่มให้มีการค้นคว้าศิลาจาลึกในประเทศไทยขึ้นเป็นครั้งแรก คือ จารึกหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหงและจารึกหลักที่ 4 ของพระยาลิไทย ด้านพระพุทธศาสนา พระองค์ทรงฟื้นฟูพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรือง โดยทรงตั้งธรรมยุตติกาวงศ์ ขึ้นเป็นนิกายใหม่ในพระพุทธศาสนา ที่ความเคร่งครัดในพระธรรมวินัย และระเบียบแบบแผน ด้านความสัมพันธ์กับต่างประเทศ ทรงสนพระทัยในวิทยาการตะวันตก ในรัชสมัยของพระองค์จึงเปิดความสัมพันธ์กับประเทศตะวันตกอย่างกว้างขวางมีการทำสัญญากับต่างประเทสกถึง 10 ประเทศ ทรงยึดนโยบาย “ผ่อนสั้น ผ่อนยาว” มาใช้กับประเทศมหาอำนาจเป็นพระองค์แรกในสมัยรันโกสินทร์ อันทำให้ประเทศไทยสามารถดำรงเอกราชอยู่ได้จนทุกวันนี้
            ส่วนด้านวิทยาศาสตร์ พระองค์ทรงคำนวณการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงล่วงหน้า 2 ปี ได้อย่างแม่นยำในวันที่ 18 สิงหาคม 2411 ณ ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ด้วยพระปรีชาสามารถของพระองค์ในด้านวิทยาศาสตร์ เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2525 ในรัฐบาล พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศยกย่องพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็น “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” และอนุมัติให้วันที่ 18 สิงหาคมของทุกปี เป็นวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ และต่อมาทรงได้รับการยกย่องจากองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2547 ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และสื่อสารมวลชน

CATEGORIES
TAGS
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!