นครสวรรค์-บริษัทยนต์ผลดี MOU ร่วมกับ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโน มช. เปิดศูนย์ถ่ายทอดเทคโนหลังเกี่ยวข้าว

นครสวรรค์-บริษัทยนต์ผลดี MOU ร่วมกับ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโน มช. เปิดศูนย์ถ่ายทอดเทคโนหลังเกี่ยวข้าว

ภาพ/ข่าว:ชาติชาย เกียรติพิริยะ

          เมื่อเวลา 09.00-13.00 น. วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2567 ณบริษัทยนต์ผลดีจำกัด เลขที่ 19/1 หมู่ 3 ตำบลหนองกรด อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ พลตำรวจเอก ดร.ชิดชัย วรรณสถิตย์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดและลงนามความร่วมมือ ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวข้าว ระหว่างอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และบริษัท ยนต์ผลดี จำกัด มี ดร.วิสูตร จิตสุทธิภากร ประธานบริษัท ยนต์ผลดี จำกัดพร้อมคณะกรรมการบริหารร่วมกันให้การต้อนรับ
          สำหรับ พิธีลงนามบันทึกข้อตกลง MOU ความร่วมมือทางวิชาการ รายการพัฒนาเครื่องจักรในโรงสีข้าวระหว่างอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กับ บริษัทยนต์ผลดีจำกัด ผู้ที่ลงนาม บันทึกข้อตกลงประกอบด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สงวนศักดิ์ ธนาพรพูนพงษ์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รองศาสตราจารย์ ดร. ปิติวัฒน์ วัฒนชัย รองผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภาคเหนือ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดร.วิสูตร จิตสุทธิภากร ประธานบริษัทยนต์ผลดี จำกัด และ ดร.กานต์ จิตสุทธิภากร ผู้จัดการทั่วไปบริษัทยนต์ผลดี จำกัด ทั้งนี้ การเปิดศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวข้าวหรือ “โรงเรียนโรงสีแห่งแรก” ของประเทศไทย เนื่องในโอกาสที่บริษัท ยนต์ผลดี จำกัดฉลองครบรอบ 74 ปี และจับมือมหาวิทยาลัยเชียงใหม่(มช.) ใช้เทคโนโลยี UTD RF ทำหมันมอด ยกระดับข้าวไทยให้เป็นข้าวที่ปลอดภัย ที่บริษัท ยนต์ผลดี จำกัด จ.นครสวรรค์ มีผู้เข้าร่วมประกอบพิธี ได้แก่ นายประสงค์ หล้าอ่อน รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ รศ.ดร.ปิติวัฒน์ วัฒนชัย รองผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และดร.กานต์ จิตสุทธิภากร ตำแหน่ง ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ยนต์ผลดี จำกัด
          โดยดร.วิสูตร กล่าวเปิดศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวข้าว ว่า ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวข้าว หรือ “โรงเรียนโรงสี” จัดตั้งโดย บริษัท ยนต์ผลดี จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องจักรสีข้าวและอุปกรณ์โรงสีข้าว มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2493 ที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้ดำเนินการพัฒนาเครื่องจักรสีข้าวโดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในธุรกิจโรงสีข้าวให้ทันสมัยอยู่เสมอ ด้วยความรู้และประสบการณ์ ที่มีมานาน 74 ปี ในด้านการสีแปรรูปข้าว อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ได้เล็งเห็นว่าปัจจุบันเทคโนโลยีการสีแปรรูปข้าว มีเครื่องจักรและนวัตกรรมต่างๆเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก ทำให้มีความจำเป็นที่ต้องมีแหล่งรวบรวมองค์ความรู้ในการส่งเสริมขีดความสามารถให้กับผู้ประกอบการโรงสี รวมถึงผู้ที่สนใจ จึงเกิดเป็นการสร้างหลักสูตร “การบริหารจัดการโรงสีข้าว ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวข้าวมีการดำเนินการสีข้าวสารจำหน่ายในตรา “พลังนา” เพื่อเป็นต้นแบบในธุรกิจโรงสีข้าวในแนวทางวิสาหกิจเพื่อสังคม ด้วยการแบ่งผลกำไรที่ได้จากการสีข้าวมาพัฒนาแหล่งน้ำให้แก่เกษตรกรที่เป็นสมาชิก ดูแลสิ่งแวดล้อมด้วยการปลูกข้าวด้วยวิธีการเปียกสลับแห้ง ไม่เผาฟาง เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุทำให้โลกร้อน นอกจากนี้ข้าว “พลังนา” ทุกเมล็ดจะผ่านกระบวนการ UTD RF ในการทำหมันมอด เพื่อให้มั่นใจได้ว่าข้าวสารมีความปลอดภัยกับผู้บริโภค ปลอดจากสารเคมีตกค้าง 100% และมุ่งหวังให้เป็นตัวอย่างของโรงสีข้าวที่สามารถดำเนินธุรกิจพร้อมกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน” ดร.วิสูตร กล่าว
         จากนั้นเป็นพิธีลงนามความร่วมมือ “การสนับสนุนส่งเสริมศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวข้าว” ระหว่างอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยรศ.ดร.ปิติวัฒน์ วัฒนชัย รองผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ และบริษัท ยนต์ผลดี จำกัดโดยดร.กานต์ จิตสุทธิภากร ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ยนต์ผลดี จำกัด โดย รศ.ดร.ปิติวัฒน์ กล่าวว่า บันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ มีทั้งสิ้น 5 ข้อ ประกอบด้วย 1.ร่วมกันดำเนินงานวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยี UTD RF รวมถึงงานวิจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ร่วมวิจัยพัฒนาระบบกำจัดแมลงและไข่แมลงด้วยเทคโนโลยีคลื่นความถี่วิทยุ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการในการใช้งานเชิงพาณิชย์ของโรงสีข้าวขนาดใหญ่ ในการขยายกำลังการผลิตการกำจัดแมลงด้วยเทคโนโลยี UTD RF จากเดิม 1 ตัน/ชั่วโมง/ยูนิต เป็น 3-5 ตัน/ชั่วโมง/ยูนิต เป็นต้น 2. ร่วมกันถ่ายทอดองค์ความรู้ฯ ให้แก่ผู้ประกอบการโรงสี วิสาหกิจชุมชน และผู้บริโภค 3. ร่วมกันดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องทั้งจากแหล่งทุนภาครัฐและเอกชน ในการพัฒนาอุตสาหกรรมข้าว รวมถึงอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง 4.ร่วมกันส่งเสริมสนับสนุนและประชาสัมพันธ์เทคโนโลยี UTD RFให้เป็นที่รับรู้แก่กลุ่มเป้าหมายในวงกว้าง และ 5.ร่วมกันแลกเปลี่ยนการใช้ทรัพยากร บุคคลากร เครื่องมือ ห้องปฏิบัติการ และโครงสร้างพื้นฐาน “ความร่วมมือดังกล่าวคาดว่าจะมีผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน รวมถึงบุคคลกรที่ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ในนวัตกรรมมากกว่า 500 คน เกิดการลงทุนในการวิจัยพัฒนาไม่น้อยกว่า 5 ล้านบาท ทั้งยังสามารถสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการถ่ายทอด และเผยแพร่การใช้งานเทคโนโลยี UTD RF เชิงพาณิชย์สู่โรงสีขนาดใหญ่กว่า 28 ล้านบาท สร้างการจ้างงานเพิ่มขึ้นจากการใช้งานเทคโนโลยีกว่า 70 คน คิดเป็นผลกระทบเชิงเศรษฐกิจโดยรวมกว่า 91 ล้านบาท เกิดการยกระดับข้าวไทย ให้เป็นข้าวที่ปลอดภัย ปราศจากการใช้สารเคมีในการผลิต สร้างความได้เปรียบในการแข่งขันกับต่างประเทศต่อไป” รศ.ดร.ปิติวัฒน์กล่าวในที่สุด
          หลังจากนั้น มี Factory Tour เยี่ยมชมศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีหลังเก็บเกี่ยวข้าวและชมนวัตกรรมการทำหมันมอดในข้าวสารด้วยคลื่นวิทยุ ต่อจากนั้นเป็นการรับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน และมีการมอบรางวัล นับว่าวันนี้ การจัดกิจกรรม ประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายทุกประการ

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!