ปทุมธานี-มรภ.วไลยอลงกรณ์ จัดพิธีวางพวงมาลา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ 2567

ปทุมธานี-มรภ.วไลยอลงกรณ์ จัดพิธีวางพวงมาลา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ 2567

ภาพ/ข่าว:ทีมข่าวเฉพาะกิจจังหวัดปทุมธานี

          วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จังหวัดปทุมธานี นำโดย ศ.ดร.วิรุณ ตั้งเจริญ นายกสภามหาวิทยาลัย ประธานในพิธีวางพวงมาลา พระอนุสาวรีย์สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร องค์ประทานกำเนิดมหาวิทยาลัย โดยมี รศ.ดร.สมบัติ คชสิทธิ์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวรายงาน ซึ่งมีหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกเข้าร่วมพิธีวางพวงมาลาในครั้งนี้ เพื่อเป็นการสำนึกในพระกรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ของทุกปี ภายในงานได้จัดพิธีทำบุญเพื่ออุทิศถวายเป็นพระราชกุศลแด่ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ พร้อมทั้งถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสงฆ์ จำนวน 10 รูป
          สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร ทรงเป็นพระราชธิดา ลำดับที่ 43 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ประสูติวันพุธที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2427 และพระองค์ทรงสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2481 พระกรุณาธิคุณของพระองค์นั้น ทรงมีพระเมตตาต่อการศึกษาของกุลสตรีไทย จัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2475 ปัจจุบันคือ เลขที่ 153 ถนนเพชรบุรี แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร โดยย้ายนักเรียนฝึกหัดครูและนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.7-8) มาจากโรงเรียนเบญจมราชาลัย อาจารย์ใหญ่คนแรกคือ อาจารย์นิลรัตน์ บรรณสิทธิ์วรสาสน์ โรงเรียนใช้ชื่อย่อว่า พ เป็นสัญลักษณ์ และสีเขียว เป็นสีประจำโรงเรียนเนื่องจากเป็นสีประจำวันประสูติของพระองค์

          โดยในปัจจุบันมหาวิทยาลัย มีการเปิดการเรียนสอนทั้งหมด 7 คณะ และ 1 วิทยาลัย ทั้งระดับปริญญาตรี – ปริญญาเอก รวมทั้งประกาศนียบัตรวิชาชีพครู เป็นสถานศึกษาที่ให้ความรู้ สร้างคน สร้างอาชีพ และรายได้ เพื่อการพัฒนาชุมชน ท้องถิ่น ให้มีความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน ซึ่งมหาวิทยาลัย ได้คำนึงถึง SDGs (Sustainable Development Goals) เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” คือการพัฒนาที่สมดุลกันใน 3 เสาหลักของมิติความยั่งยืน (Three Pillars of Sustainability) นั่นคือ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้น มหาวิทยาลัยได้รับการรับรอง ISO 30401:2018 Knowledge Management Systems จากบริษัท บีเอสไอ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นสถาบันมาตรฐานอังกฤษ British Standard Institute (BSI) เป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ มุ่งมั่นที่จะดำเนินการตามมาตรฐานของ ISO และพัฒนาให้มีความก้าวหน้าต่อไป.

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!