ประจวบคีรีขันธ์-ผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยประจวบยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงฝ่าวิกฤตหมูกล่องทำราคาตกต่ำ

ประจวบคีรีขันธ์-ผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยประจวบยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงฝ่าวิกฤตหมูกล่องทำราคาตกต่ำ

ภาพ/ข่าว:เอกภพ วงษ์ประเสริฐ

          จากสถานการณ์ที่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยได้รับผลกระทบจากราคาผลผลิตที่ตกต่ำ ที่มีสาเหตุมาจากหลายสาเหตุอาทิ เนื้อหมูเถื่อนนำเข้า และหมูกล่อง ที่ส่งขายหน้าเขียง ทำให้เขียงหมูลดปริมาณการซื้อหมูจากเกษตรกรผู้เลี้ยงรายย่อยไปแปรรูป และถูกกดราคาขายต่ำกว่าต้นทุน ทำให้เกษตรกรหลายรายจำใจต้องขายหมูให้เขียงที่มารับซื้อในราคาถูก ไม่คุ้มค่ากับต้นทุนที่นับวันจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 67 ผู้สื่อข่าวได้เดินทางลงพื้นที่พบปะพูดคุยกับเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยในพื้นที่ หมู่ 6 บ้านเกตุเอน ตำบลอ่าวน้อย อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ เพื่อรับฟังปัญหาการเลี้ยงสุกรส่งขายเพื่อเป็นรายได้เลี้ยงชีพ โดยได้พบกับนายอดิศร กลิ่นสมหวัง หรือพี่เอฟ เกษตรกรรายย่อยผู้เลี้ยงสุกรในพื้นที่ตำบลอ่าวน้อย และพาผู้สื่อข่าวเยี่ยมชม ฟาร์ม พบว่ามีการเลี้ยงสัตว์หลายชนิด และปลูกพืชแบบผสมผสานยึดตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ตามรอยศาสตร์พระราชา เพื่อให้ครอบครัวสามารถประคับประคองดำเนินชีวิตต่อไปได้ เช่น การเลี้ยงหมูหลายสายพันธุ์เพื่อนำข้อดีของแต่ละสายพันธุ์มาผสมพันธุ์กันให้เป็นหมูที่ดีมีคุณภาพ การเลี้ยงไก่ไข่ เลี้ยงห่าน การปลูกพืชกล้วย มะพร้าว และพืชผักสวนครัวอื่นๆ เพื่อลดต้นทุนการซื้อให้มากที่สุด
          นายอดิศร หรือพี่เอฟ เปิดเผยว่า ตนเองกับครอบครัวได้ประกอบอาชีพเลี้ยงหมูเพื่อเป็นรายได้เลี้ยงครอบครัว แต่ที่ผ่านมาประสบปัญหาราคาหมูที่ขายมีราคาถูก เพราะต้นทุนของอาหารที่ซื้อมีแต่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเวลาเลี้ยงหมูครบตามกำหนด และขายออกไปให้กับเขียงหมูที่มารับซื้อจะขายยกตัวกิโลกรัมละ 60 บาท จากแต่เดิมในอดีตเคยขายกิโลกรัมละ 90 บาท ซึ่งยังถือว่ามีราคาดีและยังพออยู่ได้ หลังจากที่มีการนำเข้าหมูจากต่างประเทศ รวมไปถึงการลักลอบนำเข้าหมู่เถื่อน และมีหมูกล่องส่งขายให้กับหน้าเขียง ทำให้เขียงหมูลดปริมาณการซื้อหมูจากเกษตรกรรายย่อย และหากมาซื้อก็จะกดราคาทำให้เกษตรกรต้องจำใจขายเพราะไม่รู้ว่าจะนำไปขายที่ไหน อีกทั้งโรงฆ่าสัตว์ในประจวบก็ปิดไปเกือบหมดแล้ว ซึ่งถ้าเกษตรกรจะเชือดหมูขายเองก็ต้องผ่านกระบวนการต่างๆของหน่วยงานให้ถูกต้องซึ่งเป็นเรื่องที่ยุ่งยากมาก จึงอยากให้ภาครัฐช่วยเหลือแก้ปัญหาเกี่ยวกับราคาหมูให้เพิ่มสูงขึ้น หรือลดราคาต้นทุนอาหารหมูให้ต่ำลง

          พี่เอฟ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันตนเองแก้ปัญหาด้วยการยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง โดยปลูกกล้วย เลี้ยงแหน และมะพร้าว ปลูกพืชผสมผสาน และเลี้ยงสัตว์หลากหลาย โดยนำกล้วยที่ปลูกไว้มาหั่นผสมอาหารเลี้ยงหมู เพื่อลดต้นทุนการผลิต และยังนำกล้วย และแหน มาผสมกับอาหารนำไปเลี้ยงไก่ไข่ได้อีกด้วย ซึ่งทำให้ลดต้นทุนลงได้มาก นอกจากนี้ยังเลี้ยงห่านแบบปล่อยไว้คอยเฝ้าเล้าหมู เพื่อดักจับสัตว์มีพิษโดยรอบเล้าหมู เช่น งู และตะขาบ ไม่ให้เข้ามากัดทำร้ายหมูและลูกหมูที่เลี้ยงไว้ แถมยังร้องเรียกหากมีคนแปลกหน้าเข้ามาที่บริเวณเล้าหมูได้เป็นอย่างดี นอกจากจับหมูขายเนื้อเป็นตัวแล้ว ยังขายลูกหมูให้กับผู้ที่ต้องการซื้อในราคาตัวละ 1,000 – 1,500 บาท ส่วนไก่ไข่ก็เลี้ยงแบบปล่อยให้ออกมากินหญ้าเพื่อลดต้นทุนอาหาร และยังจะทำให้ไก่มีสุขภาพแข็งแรง มีอายุยืนกว่าปกติ ถึงแม้ปริมาณไข่ไก่ที่ได้จะน้อยกว่าเลี้ยงแบบอัดอาหารซึ่งมีต้นทุนสูงกว่าก็ตาม ในปัจจุบันได้เก็บไข่ขายวันละ 3 แผง แผงละ 100 บาท เป็นรายได้เสริมให้กับครอบครัว นอกจากนี้ยังให้ภรรยาเปิดร้านขายอาหารตามสั่ง ขายผัดไทย และขายลูกชิ้นในหมู่บ้าน เพื่อเป็นรายได้อีกทางหนึ่ง โดยจะนำพืชผักสวนครัวที่ปลูกเองนำไปเป็นวัตถุดิบในร้านอาหารเพื่อลดต้นทุน ทำให้ปัจจุบันครอบครัวสามารถประคับประคองฝ่าวิกฤตราคาหมูตกต่ำไปได้เรื่อยๆจากการเก็บรายได้ที่มาจากการทำอาชีพแบบผสมผสานกัน

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!