ประจวบคีรีขันธ์-ธ.ก.ส.เร่งจ่ายเงินสินเชื่อ3แสนช่วยเหลือชาวประมงกระทบโควิด

ประจวบคีรีขันธ์-ธ.ก.ส.เร่งจ่ายเงินสินเชื่อ3แสนช่วยเหลือชาวประมงกระทบโควิด

ภาพ/ข่าว:เอกภพ วงษ์ประเสริฐ

            ธ.ก.ส.สาขาอ่าวน้อยจ่ายเงินสินเชื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมงรายแรกของจังหวัดประจวบฯจำนวน300,000บาท คาดทยอยจ่ายรายที่เหลือไม่เกิน 25 ก.ย.นี้

                เมื่อเวลา 15.00 น.วันที่ 11 กันยายน 2563 ที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) สาขาอ่าวน้อย ต.อ่าวน้อย อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ นายโกมล ปานแจ่ม ผู้จัดการ ธ.ก.ส. สาขาอ่าวน้อย ได้ร่วมกับ นายสถาพร จานแก้ว พนักงานบริหารสินเชื่อประจำ ธ.ก.ส.จังหวัดประจวบฯ ได้มอบสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมง โดยทำการเบิกจ่ายเงินให้กับนายจิรศักดิ์ มีฤทธิ์ ชาวประมงพื้นบ้าน หมู่ 3 บ้านคั่นกระได ต.อ่าวน้อย ในวงเงิน 300,000 บาท ในโครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมง เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่กำหนดให้การทำประมงพาณิชย์และประมงพื้นบ้านในประเทศไทย จะต้องปฏิบัติตามกฎการทำการประมง IUU (Illegal Unreported and Unregulated Fishing) เพื่อป้องกันการทำประมงผิดกฎหมาย การทำประมงที่ขาดการรายงาน และการทำประมงที่ขาดการควบคุม ซึ่งผู้ประกอบการประมงพาณิชย์และประมงพื้นบ้านจำเป็นต้องปรับปรุงเรือประมงและเครื่องมือทำการประมงให้ถูกต้องตามที่กฎหมายประมงกำหนด ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการมีภาระในการปรับปรุงเรือให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

                ด้าน นายโกมล ปานแจ่ม ผู้จัดการ ธ.ก.ส.สาขาอ่าวน้อย ซึ่งเป็นตัวแทน นายสามารถ เอี่ยมวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ธ.ก.ส.จังหวัดประจวบฯ ร่วมมอบเงินให้กับชาวประมงในวันนี้ กล่าวว่า ภาพรวมของสำนักงาน ธ.ก.ส.จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีชาวประมงสนใจเข้าร่วมโครงการและแจ้งความประสงค์กับกรมประมงแล้วทั้งสิ้นประมาณ 357 ราย วงเงินที่ขอสินเชื่อ 220 ล้านบาท และมีชาวประมงที่ผ่านการรับรองจากการมประมงมายื่นความประสงค์กับธนาคารแล้ว 198 ราย วงเงินกู้ 65 ล้านบาท โดยเฉพาะที่สาขาอ่าวน้อย มีจำนวนผู้ประกอบการประมงพื้นบ้านที่ผ่านการรับรองจำนวน 11 ราย ผู้ประกอบการเรือเชิงพาณิชย์ 1 ราย รวมทั้งหมด 12 ราย โดยในวันนี้ ธ.ก.ส.ได้ทำการเบิกจ่ายเงินให้กับ นายจิรศักดิ์ ชาวประมงพื้นบ้านคั่นกระได นำร่องเป็นรายแรกของจังหวัด และจะทยอยเบิกจ่ายให้กับรายที่เหลือที่ผ่านการรับรองจากกรมประมง ไม่เกินวันที่ 25 กันยายน 2563 นี้ สำหรับผู้ที่ผ่านการรับรองจากกรมประมงที่ยังไม่ได้มายื่นความประสงค์กับธนาคาร สามารถมายื่นเอกสารเพื่อขอรับการสนับสนุนสินเชื่อได้และรอธนาคารนัดหมายสนับสนุนสินเชื่อต่อไป

                  ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.)จึงมีมติเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2563 กำหนดให้กระทรวงเกษตร และสหกรณ์การเกษตร ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) และส่วนงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันจัดทำโครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อปรับปรุงสภาพเรือ ปรับปรุงอุปกรณ์การทำประมงให้ถูกต้องตามที่กฎหมายประมงกำหนด โดยรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้บางส่วนให้ธนาคารแทนลูกค้าผู้กู้ เพื่อให้สามารถพัฒนาการทำประมงให้ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นการยกระดับการประมงไทยให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล รักษาทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลให้อยู่อย่างยั่งยืน เพื่อความมั่งคงทางด้านอาหารและการประกอบอาชีพประมงให้คงอยู่อย่างถาวร โดยสามารถสรุปรายละเอียดโครงการได้ เป้าหมายสนับสนุนสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการประมงรายคนและผู้ประกอบการประมงนิติบุคคลทั้งประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ ที่มีเรือประมงขนาดต่ำกว่า 60 ตันกรอส ขาดสภาพคล่องในการประกอบอาชีพประมง วงเงินสินเชื่อรวม 5,300 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายหมุนเวียนและหรือเพื่อเป็นค่าลงทุนในการประกอบอาชีพประมง โดยใช้แหล่งเงินทุนของ ธ.ก.ส. พื้นที่ดำเนินโครงการ เฉพาะการทำประมงทะเลรวม 22 จังหวัด ติดชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้ ตามมติ ครม. ได้แก่ จังหวัดตราด จันทบุรี ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทราสมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี นราธิวาส สตูล ตรัง ภูเก็ต พังงา กระบี่ และระนอง
                 ทั้งนี้ระยะเวลาดำเนินโครงการตามกรอบที่กรมประมงเสนอต่อ ครม. กำหนดไว้ 8 ปี นับจากวันที่ ครม. มีมติอนุมัติโครงการ ตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2563 ถึงวันที่ 25 พฤษภาคม 2571 แต่ให้กำหนดชำระคืนเงินกู้แล้วเสร็จไม่เกินวันที่ 31 มีนาคม 2570 ระยะเวลาการยื่นความประสงค์เข้าร่วมโครงการกับกรมประมงภายในระยะเวลา 1 ปีนับจาก ครม.มีมติ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ถึงวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 สำหรับวัตถุประสงค์ในการให้กู้ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายหมุนเวียน เช่น ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าแรงงาน รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในการเตรียมเรือเพื่อทำการประมง หรือเพื่อเป็นค่าลงทุนเพื่อปรับปรุงเรือประมงให้ถูกต้องตามกฎหมายประมง รวมถึงเครื่องยนต์เรือ อุปกรณ์เดินเรือ อุปกรณ์แสดงพิกัดที่ตั้งเรือ หรือเครื่องมือทำประมงอื่นๆ ทั้งนี้ต้องไม่เป็นการจัดซื้อเรือประมง หรือต่อเรือประมงใหม่ วงเงินกู้ต่อราย สูงสุดได้ไม่เกิน 5 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ร้อยละ 7 ต่อปี เรียกเก็บจากผู้ประกอบการประมงในอัตราร้อยละ 4 และรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้แทนผู้ประกอบการในอัตราร้อยละ 3 และชดเชยไม่เกินกำหนดระยะเวลาชำระคืนเงินกู้ แต่ไม่เกิน 7 ปี  สำหรับกำหนดชำระคืนเงินกู้ กรณีกู้เงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายหมุนเวียน กำหนดชำระคืนเสร็จสิ้นไม่เกิน 12 เดือนนับแต่วันกู้ กรณีกู้เงินเพื่อเป็นค่าลงทุน กำหนดชำระคืนเสร็จสิ้นไม่เกิน 7 ปีนับแต่วันกู้ โดยหลักประกันเงินกู้ ใช้ที่ดินหรือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่เป็นที่อยู่อาศัย จำนองเป็นประกันหนี้ ใช้เรือประมงจำนองเป็นประกันหนี้ ใช้บุคคลรับรองรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกันค้าประกันหนี้เงินกู้ ให้กู้ได้สูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท

สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/

CATEGORIES
TAGS
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!