เพชรบุรี-แฝดสามเมืองเพชร สอบติดแพทย์ชนบทมหิดลทั้งสามคน

เพชรบุรี-แฝดสามเมืองเพชร สอบติดแพทย์ชนบทมหิดลทั้งสามคน

ภาพ/ข่าว:สุรพล นาคนคร

         ฮือฮา…มหัศจรรย์ หนึ่งเดียวในโลก แฝดสามเมืองเพชร สอบติดแพทย์ชนบทมหิดลทั้งสามคน พ่อแม่ปลื้มใจ รับลูกๆตัดสินใจเลือกเองทุกคน

             หลังมีการแชร์ข้อมูลแฝดสาม สร้างประวัติศาสตร์ กอดคอกันเข้าศึกษาต่อหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิต โครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท ปีการศึกษา 2564 ศูนย์แพทย์ศาสตร์ศึกษา โรงพยาบาลราชบุรี ในโครงการโควตา กลุ่มแพทย์เพื่อชุมชน และกลุ่มแพทย์ลดความเหลื่อมล้ำ จำนวน 32 คน สร้างความฮือฮาในโลกออนไลน์และความยินดีกับครอบครัวดังกล่าวจำนวนมาก ผสข.ได้เดินทางไปยังบ้านพักของครอบครัวดังกล่าว ซึ่งเปิดแมนชั่นชื่อ บลูแมนชั่น ท่ายาง ซึ่งอยู่ริมถนนเลียบคลองชลประทานสายสาม ต.ท่ายาง อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี โดยนัดหมายครอบครัวดังกล่าวเพื่อสอบถามรายละเอียดข้อมูลในเรื่องนี้
โดยได้พบกับครอบครัวนี้ มีนายไพโรจน์ เข็มกลัด หรือเฮียดำ อายุ 65 ปี ผู้เป็นพ่อและนางสาวน้อย เกียรติมาพรศักดิ์ อายุ 58 ปี ผู้เป็นแม่ และลูกๆทั้งสามคนประกอบด้วย นายธนรัตน์ (ปอนด์) เข็มกลัด อายุ 18 ปี พี่ชายคนโต นายธนารักษ์ (ดอลลาร์) เข็มกลัด อายุ 18 ปี น้องคนรอง และนายธนพัฒน์ (มาร์ค) เข็มกลัด อายุ 18 ปี น้องคนเล็ก ทั้งหมดเกิดวันเดียวกันเวลาไล่เลี่ยกันจากการผ่าคลอด เมื่อวันที่ 31ต.ค.2545 โดยยังมีพี่สาวอีกสองคน คนโตคือนางสาวลภัสรดา ฉัตรศิริคุณากร อายุ 41 ปี รับราชการ สำนักงาน สกสค.เพชรบุรี พี่สาวคนที่สอง นางสาวสราณี เข็มกลัด อายุ 34 ปี พนักงานธนาคารออมสิน เพชรบุรี
          โดยนายไพโรจน์ ผู้เป็นพ่อได้แนะนำตัวเด็กๆทั้งสามคนให้รู้จัก ซึ่งทั้งสามคนมีชื่อเล่นเป็นสกุลเงินของต่างประเทศ คือ ปอนด์ ดอลลาร์ และมาร์ค เนื่องจาก พ่อและแม่ อดีตเป็นพนักงานของธนาคารศรีนครอยู่ในอำเภอท่ายาง กระทั่งพบรักและครองคู่อยู่กินกันมากระทั่งมีลูก รวม 5 คน โดยน้องสามคนนี้ยังมีพี่สาวอีกสองคน ซึ่งก็ทำงานกันหมดแล้ว ส่วนวิธีการเลี้ยงลูกนั้น เลี้ยงอย่างไร นายไพโรจน์เล่าว่า ก็ตั้งใจ ดูแลและเอาใจใส่เขา ส่วนที่ลูกๆเลือกสอบเรียนแพทย์นั้นใครเป็นคน นายไพโรจน์เล่าว่า เด็กๆเขาตั้งใจเอง เลือกเอง แรกๆที่สังเกตลูกๆก็เป็นนักเรียนที่เรียนเหมือนกับคนทั่วๆไป ไม่ค่อยได้ตั้งใจอ่านหนังสือเท่าไร แต่เขาก็มีผลการเรียนดีมามาตลอดตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา พอในระดับมัธยมศึกษาเขาก็มีการเรียนเสริมหลังเลิกเรียนเหมือนกับนักเรียนคนอื่นๆ ส่วนที่ว่า จำลูกแต่ละคนได้หรือไม่ สังเกตอย่างไร นายไพโรจน์เล่าว่า จำได้ทุกคน ถ้าดูข้างหน้าน๊ะแต่ถ้าหันหลังก็ต้องเพ่งและสังเกตความแตกต่างนิดหน่อย พอเริ่มเข้าเรียนลูกเขาก็เรียนห้องเดียวกันมาโดยตลอด ขณะนี่นางสาวน้อยผู้เป็นแม่เล่าว่า ลูกๆทั้งสามคนเกิดจากการทำอิ๊กซี่ ICSI เพราะฝ่ายพ่อมีลูกยาก ซึ่งการทำอิ๊กซี่ คือการทำเด็กหลอดแก้ว และเป็นการกระตุ้นไข่ที่มีคุณภาพมากกว่า 1 ฟอง ซึ่งจำได้ว่า เขาเลือกไข่ 4 ฟอง เมื่อฉีดเชื้อที่คัดเลือกไว้แล้วปฏิสนธิเป็นตัวอ่อนก็จะสามารถเพราะเลี้ยงตัวอ่อนได้มากกว่า 1 ตัว ทำให้มีโอกาสที่เชื้อจะผสมกับไข่จนทำให้เกิดลูกแฝด ซึ่งรายของตนนั้นผสมติด 3 ฟอง จึงได้แฝดสามคน ซึ่งเกิดจากไข่คนละฟอง ทำให้เห็นได้ว่า แฝดทั้งสามคน หน้าตาและส่วนสูงแตกต่างกัน ไม่ใช่แฝดเหมือนหรือแฝดคล้ายเช่นรายอื่นๆ
        เมื่อถามแม่ว่า ทำไมลูกๆจึงเลือกเรียนหมอ แม่เล่าว่า พอเด็กๆเริ่มโตก็สอบถามพ่อและแม่เรื่องการเกิดของเขาว่า เกิดจากวิธีการผสมเทียมหรือการทำอิ๊กซี่ จึงทำให้เด็กๆเริ่มสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งแต่เดิมเนื่องจากพ่อและแม่ทำงานเป็นพนักงานของธนาคาร จึงแนะนำและอยากให้ลูกเรียนภาษาอังกฤษให้เก่ง จึงให้เด็กๆเรียนศิลป์ภาษา แต่ต่อมาเขาเริ่มสนใจทางการแพทย์จากกรณีการเกิดของเขา น่าจะเป็นเรื่องนี้ที่ทำให้ลูกๆทั้งสามคนหันมาเรียนสายนี้ เมื่อถามเด็กๆทั้งสามคนว่า แต่ละคนมีความคิดและอุปนิสัยอย่างไร แต่ละคนก็บอกว่า ก็คล้ายๆกัน ส่วนใหญ่ก็ต่างคนต่างคิด แต่จะคิดคล้ายๆกัน และเมื่อต้องตัดสินใจก็จะตัดสินใจไปในแนวทางเดียวกัน ไม่ต้องมีการลงมติใดๆ ข้อดีก็คือที่ทุกคนเรียนชั้นเรียนเดียวกัน ห้องเรียนเดียวกัน ทำให้สามารถปรึกษากันได้ เช่นบางคนจะไม่เข้าใจในบางเรื่องบางวิชา ก็จะถามอีกสองคนที่เข้าใจ ทำให้การเรียนรู้ไปเท่าๆกันเสริมกันและกันเป็นอย่างดี ซึ่งพี่ชายคนโตเล่าว่า การเรียนก็อ่านหนังสือเป็นหลักแต่ก็แบ่งเวลาพักผ่อนและออกกำลังกายให้เหมาะสม ส่วนความชอบ พี่ชายคนโตชอบเล่นบาสเก็ตบอล คนกลางและคนเล็กชอบเล่นปิงปอง ท้ายสุดนายไพโรจน์ผู้เป็นพ่อเล่าถึงการสอบเข้าเรียนแพทย์ในครั้งนี้ ตนเองมีความหนักใจและห่วงใยเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากผลการเรียนของลูกๆทั้งสามคนอยู่ในระดับดี จึงเชื่อมั่นว่า อย่างไรต้องมีคนใดคนหนึ่งสอบติดแน่นอน ที่หนักใจก็คือว่า หากสอบติดสองคนแล้วอีกคนสอบไม่ติด นี่แหละคือปัญหา จะทำให้เด็กมีความเสียใจและน้อยใจว่าหากคนใดคนหนึ่งเกิดสอบไม่ติดขึ้นมา หวั่นวิตกมาโดยตลอด แต่โชคดีว่า เขาทั้งสามคนสอบติดทุกคนและเลือกเรียนหมอหมดทุกคน ทำให้ทั้งพ่อและแม่โล่งอกในประเด็นนี้ไปได้ ส่วนทางด้านสถานะทางครอบครัวเราเองนั้น ไม่เดือดร้อน หลังจากออกจากการทำงานธนาคาร เราก็ลงทุนสร้างมินิมาร์ท และแมนชั่นในอำเภอท่ายาง ไม่เดือดร้อน ครอบครัวช่วยกันดูแลกิจการอยู่กันอย่างมีความสุข ทั้ง 7 คน

           นายธนรัตน์ เข็มกลัด หรือ ปอนด์ อายุ 18 ปี พี่ชายคนโต กล่าวว่า อาศัยอยู่กับคุณพ่อ (นายไพโรจน์ เข็มกลัด ประกอบอาชีพธุรกิจส่วนตัว) และคุณแม่ (น.ส.น้อย เกียรติมาพรศักดิ์) ที่อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.1 – ม.3) ห้องเรียนพิเศษภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ (EMS) รร.พรหมานุสรณ์ฯ และศึกษาต่อ ม.ปลาย ห้องเรียนโครงการ สสวท. สายวิทยาศาสตร์ – คณิตศาสตร์ โดยตนเองและน้องชายฝาแฝดอีก 2 คน ต่างสนใจที่จะศึกษาต่อในคณะแพทยศาสตร์ ทุนโครงการผลิตแพทย์เพื่อชนบทของมหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อเรียนจบชั้น ม.6 จึงสอบชิงทุนโครงการผลิตเพื่อชนบทตามความฝันของตนเอง นายธนรัตน์ กล่าวต่ออีกว่า ตนกับน้องชายรวมทั้งหมด 3 คน มีความตั้งที่จะเรียนเป็นหมอทำงานในโรงพยาบาลชนบท จึงได้สมัครสอบชิงทุนโครงการแพทย์เพื่อชนบท มีการยื่นเกรดเฉลี่ยรวม 5 เทอมในชั้น ม.ปลาย และทำการสอบข้อเขียน 7 วิชาสามัญ ได้แก่ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์ ภาษาไทย สังคมศึกษา และภาษาอังกฤษ สอบข้อเขียนไปช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ปรากฏว่าผลสอบข้อเขียนผ่านทั้ง 3 คน เข้ารับการสอบสัมภาษณ์เมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคม และทางมหาวิทยาลัยมหิดลได้ประกาศรายชื่อเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา ผ่านการคัดเลือกให้เข้าศึกษาต่อในคณะแพทยศาสตร์ โครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท โควตากลุ่มแพทย์เพื่อชุมชน “ตนและน้องชายได้ตอบยืนยันเข้าศึกษาต่อคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จะตั้งใจศึกษาเล่าเรียน เก็บเกี่ยวความรู้ประสบการณ์ต่าง ๆ เพื่อที่เรียนจบแล้วจะกลับมาทำงานเป็นหมอประจำโรงพยาบาลในจังหวัดเพชรบุรี รักษาคนไข้ในพื้นที่ชนบท เพราะเท่าที่ทราบว่าจำนวนแพทย์ในจังหวัดเพชรบุรียังไม่เพียงพอกับจำนวนผู้ป่วย จึงอยากใช้ความรู้ความสามารถเข้ามาทำงานตรงนี้ ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณทางโรงเรียนพรหมานุสรณ์ ทั้งครูแนะแนว ครูที่ปรึกษา ครูผู้สอนประจำรายวิชาได้ให้ความรู้ คำแนะนำและให้การสนับสนุนการสอบทุนโครงการแพทย์เพื่อชนบทจนประสบความสำเร็จ” นายธนรัตน์ หรือ “ปอนด์” กล่าว ด้าน นายอรุณ สรรพคุณ ผอ.รร.พรหมานุสรณ์ กล่าวว่า นับเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจที่นักเรียน รร.พรหมานุสรณ์ฯ สามารถสอบติดโควตาโครงการแพทย์เพื่อชนบทจำนวน 7 คน ในจำนวนนี้เป็นแฝดชายถึง 3 คนที่มีความประสงค์จะศึกษาต่อในคณะแพทยศาสตร์ ซึ่งที่ผ่านมาทางโรงเรียนได้ให้การสนับสนุนส่งเสริมให้นักเรียนได้ศึกษาต่อในสาขาหรือคณะที่ตนเองต้องการ นอกจากนี้การจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนที่เข้มข้นด้วยเนื้อสาระวิชาแล้ว ยังเสริมเทคนิคการทำข้อสอบ รวมถึงการแนะแนวให้ความรู้เกี่ยวกับการเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาตามความถนัด ความต้องการ และคะแนนสอบของผู้เรียนอย่างเหมาะสม.

สามารถติดตามข่าวสารอื่นๆได้ก่อนใครที่ https://www.siameagle.com
หรือ https://www.facebook.com/siameaglenews/

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!