อุบลราชธานี-วัดมงคลโกวิทาราม วัดพัฒนาตัวอย่าง หลายสมัย แห่งเมืองอุบลฯ

อุบลราชธานี-วัดมงคลโกวิทาราม วัดพัฒนาตัวอย่าง หลายสมัย แห่งเมืองอุบลฯ

ภาพ/ข่าว:กิตติภณ  เรืองแสน

“วัดมงคลโกวิทาราม” เดิมชื่อ วัดบ้านปากห้วยวังนอง ตั้งอยู่ริมฝั่งทางทิศตะวันออกของชลประทานห้วยวังนอง บ้านปทุม หมู่ ๑๒ ต.ปทุม อ.เมือง จ.อุบลราชธานี  จากเอกสารบันทึกด้วยลายมือของพระครูสังฆรักษ์บุญ จตฺตสลฺโล (เดชบุญ) เจ้าอาวาสรูปแรกที่ได้มาอยู่ประจำวัดนี้ เมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๐๐ ความว่า “แต่เดิมบริเวณนี้(วัดในปัจจุบัน) เป็นสวนวัดมหาวนาราม (วัดป่าใหญ่ ซึ่งอยู่ในตัวเมืองอุบลราชธานี) เริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๘-๒๔๘๙โดยหลวงพ่อพระครูนวกรรมโกวิท (หลวงปู่นาค) เจ้าอาวาสวัดมหาวนารามในสมัยนั้น  ท่านได้พาพระภิกษุสามเณรและเด็กวัดมาถากถางทำเป็นสวน ปลูกอ้อย ปลูกกล้วย ปลูกมะพร้าว อุทิศให้เป็นสวนวัดมหาวนาราม ได้เอาเงินของวัดมหาวนาราม จำนวน๕,๐๐๐ บาท เอามาซื้ออาหารเลี้ยงพระเณรและเด็กวัด เพราะในสมัยนั้นไม่มีญาติโยมมากเหมือนสมัยนี้ ในวัน ๗ ค่ำ ๑๕ ค่ำ มาฉันเพลที่วัดนี้  ส่วนที่ดินนั้น พ่อใหญ่จารย์ครูสิงห์ บุญประดับ ได้มีศรัทธามอบถวายให้สร้างวัด มีเนื้อที่ ๕๖ ไร่ ในปี พ.ศ. ๒๕๐๙ ได้แบ่งขายไป ๑๗ ไร่ คงเหลือ ๓๙ ไร่ ๘๐ วา ได้เงิน จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท เอามาสร้างศาลากว้าง ๑๖ เมตร ยาว ๓๒ เมตร โดยมีนายชม บุญสุข เป็นประธานการก่อสร้าง แต่ยังไม่เสร็จหมดเงินก่อน”
                ทั้งนี้ เดิมที พระครูสังฆรักษ์บุญ จตฺตสลฺโล (เดชบุญ) จำพรรษาอยู่ที่วัดมหาวนาราม ในเมืองอุบลราชธานี ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ หลวงพ่อพระครูนวกรรมโกวิท เจ้าอาวาสวัดมหาวนารามได้ส่งพระครูสังฆรักษ์บุญ จตฺตสลฺโล (เดชบุญ) ให้ไปจำพรรษา ที่วัดบ้านปากห้วยวังนอง โดยมีพ่อใหญ่สิงห์ บุญประดับ เป็นผู้ไปนิมนต์ พรรษาแรกมีพระ ๒ รูป สามเณร ๒ รูป และเมื่อพระครูสังฆรักษ์บุญ  จตฺตสลฺโล (เดชบุญ)มาอยู่  ก็เริ่มลงมือสร้างวัดด้วยกำลังศรัทธา ด้วยกำลังทรัพย์ส่วนตัว ด้วยความเพียรหมั่นขยัน ขุดหลักขุดตอดายหญ้า เวลานั้นอายุเพียง ๓๖ ปี พรรษา ๑๕ ได้สร้างวัดนี้มาจนตลอด  โดยมีโยมพ่อใหญ่สิงห์ บุญประดับ พ่อใหญ่อ่อนสา บุญสุข สองตระกูลนี้ได้อุปถัมภ์วัดโดยมีหลวงพ่อพระครูนวกรรมโกวิทเป็นประธานสร้างวัดนี้มา

ต่อมา  พ.ศ. ๒๕๑๐ ได้อนุญาตให้สร้างวัด โดยนายพัฒน์ บุณยรัตพันธุ์  ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีในสมัยนั้น  พ.ศ. ๒๕๑๖ ได้รับอนุญาตให้ตั้งชื่อวัดว่า “วัดมงคลโกวิทาราม” ตามชื่อของพระครูนวกรรมโกวิท ผู้ตั้งวัดคนแรก  พ.ศ. ๒๕๑๗ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา สมัยนายกรัฐมนตรี นายสัญญา ธรรมศักดิ์  พ.ศ. ๒๕๑๗ พระอธิการบุญ จตฺตสลฺโล ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก  พ.ศ. ๒๕๒๘ พระอธิการบุญ จตฺตสลฺโล ได้รับแต่งตั้งเป็น “พระครูสังฆรักษ์บุญ จตฺตสลฺโล” ฐานานุกรมในพระราชรัตโนบล เจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี  พ.ศ. ๒๕๓๖ พระอธิการบุญ จตฺตสลฺโล ได้ลาสิกขาบท ท่านเจ้าคุณพระเทพกิตติมุนี เจ้าอาวาสวัดมหาวนาราม จึงได้มารักษาการเจ้าอาวาสวัดมงคลโกวิทารามแทนชั่วคราว
                  ต่อมา  พ.ศ. ๒๕๓๗ พระมหาสมคิด เทวธมฺโม ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดมงคลโกวิทาราม จนถึงปัจจุบัน และใน พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรเทียบผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นเอก ในราชทินนามที่ “พระครูสิริสุตวิมล”  และ พ.ศ. ๒๕๕๑ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรเทียบผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นพิเศษ ในราชทินนามที่ “พระครูสิริสุตวิมล” จนถึงปัจจุบัน(พ.ศ. ๒๕๖๕)   ส่วนพระอธิการบุญ จตฺตสลฺโล เมื่อได้ลาสิกขาบทแล้ว ได้ครองตนเป็นฆราวาส ประกอบสัมมาชีพมีชีวิตอย่างสมถะ อยู่ในศีลธรรมอันดี ณ บ้านปากห้วยวังนอง ต.ปทุม อ.เมือง จ.อุบลฯและได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ สิริอายุได้ ๘๓ ปี และ ในปัจจุบันนี้วัดมงคลโกวิทารามมี พระครูสิริสุตวิมล ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส

ภายในวัดมงคลโกวิทาราม มีพระพุทธรูปขนาดใหญ่ให้กราบไหว้ นั่นคือ พระพุทธศรีสัตตนาคา อริยะวิสุทธาธิบดี ตรีโลกนาถ (พระเจ้าใหญ่สามภพ) ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางนาคปรกขนาดใหญ่ คอนกรีตเสริมเหล็ก ความสูง ๓๙ เมตร หน้าตักกว้าง ๙.๙ เมตร และมีการประกอบพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุพร้อมมวลสารเข้าประดิษฐานในองค์พระ และฉลองสมโภชขึ้นในวันที่ ๑๗ – ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ เพื่อให้ก่อเกิดพลานุภาพ เป็นสิริมงคลแก่สาธุชนที่ศรัทธาเลื่อมใสสืบไป
              และนอกจากนี้ ภายในวัดยังประกอบด้วยเสนาสนะและกิจกรรมต่างๆ ได้แก่  กุฏิเทวธรรมานุสรณ์ เป็นอาคาร ๒ ชั้น ขนาดกว้าง ๑๘ เมตร ยาว ๒๑ เมตร ใช้เป็นที่อยู่ของพระภิกษุสามเณร ที่จำพรรษาซึ่งอำนวยความสะดวกได้เป็นอย่างดี , กุฏิและสำนักงานเจ้าอาวาส เป็นอาคารคอนกรีต ๒ ชั้นครึ่ง ใช้เป็นที่อยู่ของเจ้าอาวาส และสำนักงาน ประกอบด้วย ห้องสมุด ห้องบันทึกเสียง เพื่อเผยแผ่ธรรมะ ,  สำนักงานส่งเสริมจริยธรรมและศูนย์การเรียนรู้ชุมชนตำบลปทุม ใช้เป็นห้องหนังสือห้องเทปธรรมะ และซีดีธรรมะ และ ศาลาการเปรียญ ใช้เป็นสถานที่บำเพ็ญกุศลสำหรับพุทธศาสนิกชนผู้มาร่วมทำบุญ ในวันสำคัญต่างๆ ซึ่งภายในศาลาประกอบด้วย พระพุทธรูปและภาพวาดเกี่ยวกับมหาเวสสันดรชาดก เพื่อใช้ประกอบการศึกษำหรับนักเรียน นักศึกษาและประชาชนทั่วไป

นอกจากนี้ ภายในวัดยังมี ลานธรรมลานใจ ที่ระลึก ๙๕ ปี พระพรหมมังคลาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ) เป็นลานหินโค้งกลางแจ้ง มีพระพุทธรูปอยู่ตรงกลาง รอบๆ เป็นที่นั่งของพระสงฆ์ สำหรับ ฉันภัตตาหารเช้าและเพล ซึ่งเป็นที่นั่งรองรับได้ประมาณ ๘๐-๙๐ รูป และใช้เป็นที่ทำวัตรสวดมนต์เช้า-เย็นของพระภิกษุสามเณร และใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของพุทธศาสนิกชนในวันธัมมัสสวนะและวันอาทิตย์ และใช้เป็นสถานที่บวชเนกขัมมบารมีประจำทุกเดือน ซึ่งใช้ปฏิบัติธรรมมาแล้ว ๑๐ รุ่น

และมี  ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ซึ่งใช้เป็นสถานที่เรียนหนังสือสำหรับเยาวชนที่เข้ามาเรียนธรรมะในวันอาทิตย์โดยเรียนวิชาพุทธประวัติ ธรรมะ ศาสนพิธี มารยาทไทยซึ่งมีนักเรียนมาเรียนเป็นจำนวนมาก ,  ฌาปนสถาน หรือ เมรุ ใช้เป็นสถานที่บริการชุมชนเมื่อมีการตายเกิดขึ้นโดยจะจัดงานศพแบบ ๓ ป. คือ ประหยัด ประโยชน์ และปัญญา ซึ่งก่อนมีการฌาปนกิจศพทุกครั้งจะมีการแสดงปาฐกถาธรรม ซึ่งแสดงธรรมโดยพระครูสิริสุตวิมล เจ้าอาวาสวัดมงคลโกวิทาราม ,  ศาลาอเนกประสงค์และโรงครัว เป็นอาคาร ๒ ชั้น ใช้สำหรับต้อนรับพุทธบริษัททั่วไปในคราวที่มีกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา

ภายในวัดยังมี เรือนรับรอง ใช้เป็นสถานที่รับรองพระเถรานุเถระที่เดินทางมาเยี่ยมวัด ซึ่งเป็นเรือนรับรองชั้นเดียวโดยมีห้องนอน ๕ ห้อง ,  หอระฆัง เป็นหอระฆัง หอกลอง เพื่อเป็นสัญญาณบอกเวลาในการทำกิจวัตรของพระภิกษุสามเณร ,  พิพิธภัณฑ์พระครูนวกรรมโกวิท หลวงปู่นาคเป็นอาคารชั้นเดียว ใช้เป็นที่ตั้งรูปเหมือนของ พระครูนวกรรมโกวิท อดีตผู้ก่อตั้งวัดมงคลโกวิทาราม ตั้งอยู่ริมห้วยวังนอง  ตำบลปทุม  ,  ห้องสมุดเด็กและครอบครัวตำบลปทุม เป็นอาคารชั้นเดียว ใช้เป็นห้องสมุดสำหรับเด็กและครอบครัวในตำบลปทุมและใกล้เคียง

สำหรับอุโบสถ ภายในวัด สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๐ และได้บูรณปฏิสังขรณ์เพื่อให้เป็นอุโบสถในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ ,  ศาลาปทุมธรรมธารา เป็นศาลาทรงไทยจัตุรมุขตั้งยื่นออกไปในน้ำ ใช้เป็นสถานที่ประชุมจัดกิจกรรมต่างๆ ของชุมชนตำบลปทุม  เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของพี่น้องชาวจังหวัดอุบลราชธานี และ เป็นที่เลี้ยงปลา ปัจจุบันนี้มีปลาเป็นจำนวนมากหลายแสนตัว
                นอกจากนี้ วัดมงคลโกวิทาราม ยังมีกิจกรรมของวัดอีกมากหลายกิจกรรม อาทิเช่น  มีการทำวัตร เวลา ๐๔.๐๐ น.  ทำวัตรเย็น เวลา ๑๙.๐๐ น. สำหรับพระภิกษุสามเณรใช้ลานธรรมลานใจ เป็นประจำทุกวัน และทุกวันธัมมัสสวนะ หรือวันพระ ๘ ค่ำ  ๑๕ ค่ำ  จะมีพุทธศาสนิกชนมาร่วมทำบุญกัน เป็นจำนวนมาก และ จะมีกิจกรรมทำวัตรสวดมนต์ในตอนเช้า เวลา ๐๙.๓๐ น. และสมาทานศีล ,  อุโบสถปฏิบัติธรรม ฟังธรรม ทำวัตรแปล ตอนเย็น แล้วพักนอนในศาลา ๑ คืนทุกวันอาทิตย์ มีพุทธศาสนิกชนมาร่วมทำบุญตั้งแต่เช้า เวลา ๐๙.๓๐ น. จะมีการทำวัตรสวดมนต์แปล ฟังปาฐกถาธรรม ตักบาตรสาธิต ทำบุญสังฆทาน ถวายภัตตาหารเพลแด่พระภิกษุ สามเณร และร่วมรับประทานอาหารแบบเรียบง่าย เป็นการร่วมใจสามัคคีคนในชุมชนเป็นอย่างดี และ ทุกวันอาทิตย์มีนักเรียนในชุมชนมาเรียนวิชาพระพุทธศาสนา โดยใช้ลานธรรมลานใจ ,  ศาลาการเปรียญ และศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ซึ่งเป็นห้องเรียนที่พอจะใช้ได้ในวัด

และ ในทุกๆ เดือนจะมีการปฏิบัติธรรมบวชเนกขัมมบารมีใช้เวลา ๒ คืน ๓ วัน เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษาโดยจะมีพุทธศาสนิกชนทั่วไปมาร่วมปฏิบัติธรรมครั้งละ ๕๐-๗๐ คน ปัจจุบันได้ดำเนินการมาแล้ว ๑๐ รุ่น ซึ่งได้รับเกียรติจาก นางจุฬารัตน์ บุณยากร ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มอบเกียรติบัตรแก่ผู้เข้าบวชเนกขัมมบารมี รุ่นที่ ๑๐ นับว่าเป็นกิจกรรมที่ทางวัดภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง และ ทุกวันอาทิตย์จะมีโครงการครอบครัวคุณธรรมนำสังคมเข้มแข็ง เทิดไท้องค์ราชัน(พาลูกจูงหลานไปวัด) ซึ่งจัดโดยสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดอุบลราชธานีได้ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลปทุม(ปัจจุบันยกฐานะเป็นเทศบาล) ได้นำเด็ก และผู้ปกครองมาวัดเพื่อศึกษาธรรมะ

กิจกรรมทำความดีบูชาในหลวง  ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๘.๓๐-๑๙.๓๐ น. จะมีญาติโยมจากชุมชนจำนวนมาก มาร่วมสวดมนต์แปล ในโครงการทำความดีถวายในหลวง เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสที่ทรงมีพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา นอกจากนี้วัดมงคลโกวิทาราม ยังมีการจัดงานบุญประจำปี คือ งานบุญมหาชาติ มีการแห่พระเวสสันดรเข้าเมือง มีการแห่กัณฑ์หลอนเพื่อนำเงินสมทบทุนวัด และมีการแสดงธรรมเรื่องมหาเวสสันดรชาดก เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้ฟัง และร่วมทำบุญกันอย่างมีความสุข และยังมีงานงานบุญประเพณีอีกอย่างหนึ่ง คือ  คืองานทำบุญลอยกระทงซึ่งจัดเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ จัดทุกปี  มีประชาชนมาร่วมงานเป็นจำนวนมากเพราะสถานที่ของวัดที่ใช้ลอยกระทงนั้นสวยงามและเป็นที่สนใจของประชาชนเป็นจำนวนมาก

จากการพัฒนาและการจัดกิจกรรมของวัดมงคลโกวิทารามมาโดยตลอดนั้น  พุทธศาสนิกชนมีส่วนร่วม ทั้งพุทธศาสนิกชนในตำบลปทุม และ ชุมชนอื่นๆ ได้เข้ามาร่วมกิจกรรม และสัมพันธ์กับวัดช่วยดูแลรักษาและอุปถัมภ์คุ้มครองวัดและพระ ส่งเสริมกิจกรรมให้เป็นไปตามวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม ซึ่งทางวัดได้รับความร่วมมือร่วมแรงร่วมใจเป็นอย่างดีจากทุกฝ่ายเพื่อพัฒนาวัดให้เจริญรุ่งเรืองและเป็นที่พึ่งทางด้านจิตใจ ตามความคาดหวังของประชาชน  ซึ่งสอดคล้องกับหลักการ ๔ ประการคือ ๑. สะอาด หมายถึง ศีล มีความประพฤติดีทั้งกายและวาจา ๒. สงบ หมายถึง สมาธิ ความตั้งมั่นแห่งจิต การสำรวมใจให้แน่วแน่ เพื่อให้เกิดปัญญา  ๓. สว่าง หมายถึง ปัญญา ความรอบรู้ ความรู้ทัน ความฉลาดเกิดแก่เรียนและคิด ๔. สร้างสุข หมายถึง วิมุตติ ความหลุดพ้นจากทุกข์

จากกิจกรรมดังกล่าวแล้วทำให้วัดมงคลโกวิทาราม ได้รับรางวัล “วัดพัฒนาตัวอย่าง” ในพ.ศ. ๒๕๕๐ และ พ.ศ. ๒๕๕๕ ได้รับรางวัล “วัดพัฒนาตัวอย่างที่มีผลงานดีเด่น” จากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ   และยังได้รับรางวัลอื่นๆอีกมากมาย ได้แก่ พ.ศ. ๒๕๕๒ ได้รับรางวัล “วัดวิถีพุทธเฉลิมพระเกียรติ” จากพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ  พ.ศ. ๒๕๕๒ ได้รับการคัดเลือกเป็นวัดต้นแบบความดี ของจังหวัดอุบลราชธานี  พ.ศ. ๒๕๕๒ ได้รับการคัดเลือกเป็นวัดที่มีอาคารสถานที่เป็นมิตรสำหรับผู้สูงอายุจากคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ   พ.ศ. ๒๕๕๓ ได้รับรางวัล “เสมาธรรมจักรทองคำ สาขาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  พ.ศ. ๒๕๕๓ ได้รับรางวัลสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดดีเด่น จากสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ   พ.ศ. ๒๕๕๓ ได้รับรางวัลเป็นองค์กรดีเด่น สาขาพัฒนาเยาวชน บำเพ็ญประโยชน์ของศูนย์พัฒนาคุณธรรมจังหวัดอุบลราชธานี  พ.ศ. ๒๕๕๕ พระครูสิริสุตวิมล ได้รับคัดเลือกเป็นบุคคลดีเด่นที่บำเพ็ญงานด้านศาสนาศิลปวัฒนธรรมของสภาวัฒนธรรมอำเภอเมืองอุบลราชธานี   พ.ศ. ๒๕๕๗ ได้รับรางวัล “เมรุปลอดมลพิษ” ประจำจังหวัดอุบลราชธานี   พ.ศ. ๒๕๖๑ ได้รับรางวัล วัดส่งเสริมสุขภาพระดับยั่งยืน จากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข  และได้รับการคัดเลือกให้เป็นวัด ที่จัดอุทยานการศึกษาในวัดประจำปี ๒๕๔๘ จากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กรมการศาสนา และได้เป็นวัดที่เข้าร่วมโครงการ “คนรักษ์วัด” เพื่อพัฒนาวัดให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยดีงามต่อไป

ขอบคุณข้อมูลจาก วัดมงคลโกวิทาราม

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!