น่าน-ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน เรื่อง การรับฟังความคิดเห็นในเวทีประชาคม การปรับปรุงศาลากลางจังหวัด

น่าน-ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน เรื่อง การรับฟังความคิดเห็นในเวทีประชาคม การปรับปรุงศาลากลางจังหวัด

ภาพ/ข่าว:บุญยงค์ สดสอาด/เอนก ธรรมใจ

            จังหวัดน่าน ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน เรื่อง การรับฟังความคิดเห็นในเวทีประชาคม การปรับปรุงศาลากลางจังหวัดน่าน (หลังเก่า)

              เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2565 ที่ห้องประชุมวิทยาลัยสงฆ์นครน่าน ชั้น 2 อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน นายวิบูรณ์ แววบัณฑิต ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน พร้อมด้วยนายชัยนรงค์ วงศ์ใหญ่ รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน เรื่อง การรับฟังความคิดเห็นในเวทีประชาคม การปรับปรุงศาลากลางจังหวัดน่าน (หลังเก่า) โดยมีทีมจาก มทร.ล้านนาเชียงใหม่ จะเข้ามาทำกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ซึ่งจะดำเนินให้แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2565 ทั้งนี้จะดำเนินการจัดประชาคม จำนวน 5 ครั้ง จัดระดับย่อยอำเภอ จำนวน 3 ครั้ง โดยแบ่งเป็นโซน อำเภอโซนเหนือ ประกอบด้วย อ.ปัว อ.บ่อเกลือ อ.ท่าวังผา อ.สองแคว อ.ทุ่งช้าง อ.เชียงกลาง อ.เฉลิมพระเกียรติ อำเภอโซนใต้ ประกอบด้วย อ.เวียงสา อ.นาน้อย อ.นาหมื่น และอำเภอโซนกลาง ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 25 ก.ค. 2565 ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านน่าน ประกอบด้วย อ.เมืองน่าน อ.ภูเพียง อ.บ้านหลวง อ.แม่จริม อ.สันติสุข นอกจากนี้จะดำเนินการจัดรับฟังความคิดเห็นเวทีประชาคมน่าน ระดับจังหวัดอีก จำนวน 2 ครั้ง โดยจะคลอบคลุมกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ อาทิ ตัวแทนนักเรียนนักศึกษา เกษตรกร อาชีพต่างๆ พระสงฆ์ ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สตรี เด็ก คนพิการ ผู้สูงอายุ เป็นต้น นอกจากนี้ยังเปิดรับฟังความคิดเห็นออนไลน์ผ่านระบบ WEBEX ไปยังพื้นที่ให้ประชาชน หน่วยงานต่าง ๆ สถานศึกษา และกลุ่มเป้าหมายครอบคลุมมากขึ้น โดยจะเป็นการนำเสนอ ที่มาของงการออกแบบ รูปลักษณ์ สถาปัตยกรรม ฟังก์ชั่นการใช้งานของอาคาร การใช้ประโยชน์พื้นที่ กิจกรรมที่จะเกิดขึ้น

              สำหรับการดำเนินการก่อสร้างศาลากลางจังหวัดน่าน (หลังเก่า) ที่เตรียมเสนอ และรับฟังความคิดเห็นประชาคมน่านนั้น จะดำเนินการก่อสร้างโดยมูลนิธิรักษ์ป่าน่าน กว่า 700 ล้านบาท ซึ่งไม่ใช้งบประมาณของรัฐบาล ในการปรับปรุงศาลากลางหลังเก่าให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของพลเมืองน่าน ออกแบบโดยใช้หลักอาคารเขียว คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรพลังงานและสภาพแวดล้อมให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เป็นแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมล้านนาตะวันออก เป็นศูนย์ส่งเสริมทางปัญญา เป็นพื้นที่แสดงผลงานพัฒนาทักษะ นำวัฒนธรรมมาสร้างอาชีพ รวมไปถึงภูมิปัญญาด้านเกษตรศาสตร์และธรรมชาติวิทยา ให้เยาวชนได้มีพื้นที่สร้างสรรค์ผลงาน เป็นพื้นที่แสดงพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศ์ศานุวงศ์ ถ่ายทอดวิถีชีวิต สังคมชาติพันธุ์และชาวพื้นเมือง สืบสานภูมิปัญญา วัฒนธรรม ประเพณี ศาสนา ความเชื่อ วรรณกรรมและกิจกรรม ศิลปะการช่าง ถักทอผ้า แกะสลัก สถาปัตยกรรมและประวัติศาสตร์อันยาวนาน อีกทั้งแสดงผลิตผลทางการเกษตรของชาวเมืองน่าน และเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ที่สมบูรณ์แบบต่อไปในอนาคต โดยจะไม่มีการจัดสรรพื้นที่ในการให้ประโยชน์กับหน่วยงานหรือคณะใดแบบถาวร และไม่เรียกเก็บค่าใช้จ่ายใดๆจากผู้มาขอใช้ประโยชน์ หรือผู้มาเข้าเยี่ยมชม

 

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!