กลุ่มชาวประมงทะเลค้านรัฐออกประกาศห้ามนำสัตว์น้ำขนาดเล็กขึ้นเรือตามมาตรา 57

กลุ่มชาวประมงทะเลค้านรัฐออกประกาศห้ามนำสัตว์น้ำขนาดเล็กขึ้นเรือตามมาตรา 57

ภาพ/ข่าว:ณัฐพัชญ์ วงษ์ประเสริฐ 

            สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย สมาคมการประมงจังหวัดประจวบฯ พร้อมด้วยตัวแทนจาก 8 อำเภอ ค้านรัฐออกประกาศห้ามนำสัตว์น้ำขนาดเล็กกว่ากำหนดขึ้นเรือตามมาตรา 57

             วันที่ 22 มิถุนายน 65 ที่ห้องประชุมชั้น 2 สำนักงานองค์การบริหารส่วนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้แทนนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินทางลงพื้นที่รับฟังปัญหาจากกลุ่มเกษตรกรพี่น้องชาวประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ทั้ง 8 อำเภอ และใกล้เคียง รวมกว่า 300 คน นำโดยนายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับพระราชกำหนดการประมงมาตรา 57 พ.ศ.2558 ที่จะนำมาบังคับใช้กับชาวประมง โดยมี นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง พร้อมด้วย สำนักงานประมงจังหวัดประจวบฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมรับฟังปัญหา นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ตามที่ได้มีการนำเสนอข่าวว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะมีนโยบายการออกประกาศห้ามนำสัตว์น้ำขนาดเล็กกว่ากำหนดขึ้นเรือประมงตามมาตรา57แห่งพระราชกำหนดการประมง พศ.2558 มาบังคับใช้กับชาวประมงนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการสมาคมในวันนี้ได้ลงมติว่า อาจทำให้เรือประมงพื้นบ้านและเรือประมงพาณิชย์มีความเสี่ยงที่จะกระทำผิดได้โดยง่ายเหมือนกัน เพราะเครื่องมือประมงพื้นบ้านและเรือประมงพาณิชย์ต่างก็สามารถจับสัตว์น้ำขนาดเล็กได้เช่นกัน ซึ่งประเด็นดังกล่าวนี้เป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบกับชาวประมงในภาพรวม และอาจเป็นการเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ของรัฐมีการทุจริตเรียกร้องผลประโยชน์โดยมิชอบจากชาวประมงในการไม่ให้ถูกตรวจจับ หากกระทำผิดโดยตั้งใจหรือมิได้ตั้งใจก็ตาม ก็จะถูกดำเนินคดีอย่างรุนแรง เนื่องจากเป็นความผิดร้ายแรงตามมาตรา114(8)โดยจะมีโทษปรับตามมาตรา139ปรับตั้งแต่1แสนบาทถึง30ล้านบาท

             ส่วนในเรือประมงพาณิชย์ หากมีการนำคดีขึ้นสู่ศาล จะมีโอกาสถูกสั่งยึดเรือตามมาตรา169และจะต้องถูกคำสั่งทางปกครองยึดสัตว์น้ำทั้งหมดที่มีอยู่ในเรือประมงตามมาตรา113(1)และถูกเพิกถอนใบอนุญาตตามมาตรา113(4)ซึ่งจะทำให้เจ้าของเรือประมงที่มีเรือประมงอยู่หลายลำไม่สามารถขอใบอนุญาตประมงพาณิชย์กับลำอื่นๆตามมาตรา39ได้ ดังนั้นกฎหมายมาตรา57 แห่ง พรก.การประมง จึงเป็นกฎหมายที่ในทางปฎิบัติไม่สามารถจะกระทำได้โดยง่าย สมาคมจึงขอคัดค้านการนำมาตรา57แห่ง พรก.การประมงมาบังคับใช้และเสนอให้เลิกมาตรา57 ออกจากพรก.การประมงด้วย เนื่องจากส่งผลกระทบต่อชาวประมงทั้งประเทศ นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง ชี้แจงว่า การดำเนินการแก้ไขปัญหาการจับสัตว์น้ำวัยอ่อนในช่วงที่ผ่านมานั้น กรมประมง ได้ดำเนินการในหลายวิธี เช่น การประกาศปิดอ่าว ในช่วงฤดูกาลสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัววัยอ่อน การกำหนดห้ามมิให้อวนล้อมจับที่มีขนาดตาอวนเล็กกว่า 2.5 เซนติเมตร ทำการประมงในเวลากลางคืน การกำหนดขนาดตาอวนก้นถุงของเรืออวนลาก ไม่น้อยกว่า 4 เซนติเมตร การกำหนดขนาดตาอวนครอบหมึก ไม่น้อยกว่า 3.2 เซนติเมตร การกำหนดขนาดตาอวนครอบปลากะตัก ไม่น้อยกว่า 0.6 เซนติเมตร และการกำหนดตาอวนของลอบปู ไม่น้อยกว่า 2.5 นิ้ว เป็นต้น เพื่อให้สอดคล้องกับการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ ภายใต้การมีส่วนร่วมของพี่น้องชาวประมง ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่มีการบังคับใช้ พ.ร.ก. การประมง พ.ศ. 2558

            สำหรับการประกาศตามมาตรา 57 ห้ามมิให้ผู้ใดจับสัตว์น้ำหรือนำสัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กกว่าที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดขึ้นเรือประมงนั้น ต้องคำนึงถึงสภาพธรรมชาติและความหลากหลายของสัตว์น้ำ เพราะในประเทศไทยเครื่องมือประมงที่ใช้ไม่สามารถเลือกจับสัตว์น้ำเป็นรายชนิดได้อย่างชัดเจน เนื่องจากตั้งอยู่ในเขตร้อน มีความหลากหลายของชนิดสัตว์น้ำมาก ส่งผลให้การทำประมงในแต่ละครั้งสามารถจับสัตว์น้ำได้มีความหลากหลายทั้งชนิดและขนาด ซึ่งแตกต่างจากการทำประมงในเขตอบอุ่นที่มีความหลากหลายของสัตว์น้ำน้อยกว่า จึงสามารถเลือกจับสัตว์น้ำเป็นรายชนิดในการทำประมงแต่ละครั้งได้ ขณะที่ข้อกำหนดของมาตรา 57 หากพบสัตว์น้ำขนาดเล็กบนเรือประมงแม้เพียงตัวเดียวหรือชนิดเดียวก็มีความผิด จึงต้องใช้บทบัญญัติตามมาตรา 71(2) ประกอบด้วย เพื่อให้สามารถออกข้อกำหนดที่ต้องปฏิบัติเกี่ยวกับสัตว์น้ำที่ถูกจับได้โดยบังเอิญ จึงจะสามารถนำไปสู่การควบคุมตามกฎหมายได้ ในปี พ.ศ.2563 กรมประมงจึงได้แต่งตั้งคณะทำงานศึกษาการกำหนดมาตรการควบคุมการจับสัตว์น้ำขนาดเล็ก เพื่อกำหนดให้ชนิดและขนาดที่เหมาะสมของสัตว์น้ำเศรษฐกิจ ที่จะใช้กำหนดมาตรการอนุรักษ์และบริหารจัดการ ตามมาตรา 57 และ 71(2) พร้อมทั้งเสนอหลักเกณฑ์ในการกำหนดร้อยละของสัตว์น้ำขนาดเล็กสำหรับเป็นแนวทางในการประกาศกำหนดการจับหรือการนำสัตว์น้ำขนาดเล็กขึ้นเรือประมง ซึ่งได้ผลการศึกษาที่นำมากำหนดได้ คือ
1.กำหนดชนิดสัตว์น้ำเพื่อนำร่องกำหนดมาตรการได้แก่ ปลาทู – ลัง และปูม้า 2. กำหนดความยาวขนาดเล็กที่ห้ามจับปลาทู – ลัง เท่ากับ 15 เซนติเมตร ปูม้า 8.5 เซนติเมตร 3. กำหนดร้อยละสัตว์น้ำขนาดเล็กที่ห้ามจับ ทั้งนี้ กรมประมงได้เคยจัดประชุมนำเสนอผลการศึกษาและรับฟังความคิดเห็น การกำหนดมาตรการควบคุมการจับสัตว์น้ำขนาดเล็ก ต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงพาณิชย์และการประมงนอกน่านน้ำไทย คณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงพื้นบ้าน ซึ่งที่ประชุมประกอบด้วยผู้แทนจากสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย สมาคมการประมงระดับท้องถิ่นต่าง ๆ อาจารย์คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!