นครปฐม-เปลี่ยนผ้าครอง ย้ายสังขาร หลวงพ่อพูล สู่ศาลาหลังใหม่

นครปฐม-เปลี่ยนผ้าครอง ย้ายสังขาร หลวงพ่อพูล สู่ศาลาหลังใหม่

ภาพ/ข่าว:คัคเนศวร์ พรอัศวโยธิน

 เปลี่ยนผ้าครอง ย้ายสังขาร หลวงพ่อพูล สู่ศาลาหลังใหม่

         วันที่ 12 ตุลาคม 64 ที่วิหารพระพุทธเมตตาประทานพร วัดไผ่ล้อม ต.พระปฐมเจดีย์ อ.เมือง จ.นครปฐม พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ (หลวงพี่น้ำฝน) เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม เป็นประธานในการจัดพิธีเปลี่ยนผ้าครอง ย้ายสังขาร หลวงพ่อพูล เข้าสู่ศาลาหลวงพ่อพูลหลังใหม่ ที่งดงามด้วยกระเบื้องโมเสคสีทองอร่ามทั่วทั้งศาลา เป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของจังหวัดนครปฐม โดยเป็นพิธีการเปิดศาลาหลวงพ่อพูล(หลังใหม่) อย่างเป็นทางการหลังก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์ โดยมีเพียงคณะสงฆ์ ศิษยานุศิษย์ที่ใกล้ชิด รวมถึงเจ้าหน้าที่ของวัดไผ่ล้อมเข้าร่วมในพิธี ด้วยมาตราการป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 โดยผู้ร่วมพิธีนั้นได้ผ่านการฉีดวัคซีนโควิด-19 จำนวน2เข็ม มาแล้วทุกคน

         ซึ่งศาลาหลวงพ่อพูลหลังใหม่แห่งนี้ภายใน จะประดิษฐาน ด้วย รูปเหมือน หลวงพ่อพูล นั่งบนหนุมาน อุ้มโลงแก้วหีบทอง บรรจุสังขารของท่านเองที่ไม่เน่าเปื่อยเป็นเวลากว่า 16 ปี หน้าตักกว้าง 3 เมตร สูง 5 เมตร องค์ใหญ่ที่สุดในโลก ประติมากรรมอันวิจิตร หนึ่งเดียว ที่ พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ (หลวงพี่น้ำฝน) เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม ได้รังสรรค์จัดสร้าง กตัญญุตาต่อ อาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชา อบรมสั่งสอนศิษย์ ให้ปฎิบัติในหลักพระพุทธศาสนา เพื่อรำลึกถึงคุณ งามความดีที่ท่านได้สร้างไว้ คุณูปการ พร้อมเปิดให้ศิษยานุศิษย์ ประชาชนเข้ากราบไหว้ขอพร รวมทั้งยังมี เนสเซอรี่กุมารทองสมบัติวัดไผ่ล้อม กุมารคู่บุญบารมีของหลวงพ่อพูล ตั้งอยู่ข้าง รูปเหมือน หลวงพ่อพูล นั่งบนหนุมาน อุ้มโลงแก้วหีบทอง
         ทางด้าน พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ (หลวงพี่น้ำฝน) เจ้าอาวาวัดไผ่ล้อม กล่าวว่า ในการจัดพิธีการเปลี่ยนผ้าครอง สังขารหลวงพ่อพูล และการเคลื่อนย้ายสังขาร จากวิหารหลวงพ่อพระพุทธประทานพร ไปตั้งในศาลาหลวงพ่อพูลในครั้งนี้ ได้มีการวางแผนมานาน ซึ่งที่ตั้งของศาลาหลวงพ่อพูลที่ได้นำสังขารท่านไปประดิษฐานตรงจุดเดิมที่เคยเป็นที่ตั้งของกุฏิของหลวงพ่อพูล ท่านเอง ในการออกแบบอาตมาก็ได้ทำตามนิมิตที่เป็นภาพ คือการที่มีรูปหล่อหลวงพ่อพูลที่สร้างขึ้นมาเป็นงานที่ละเอียดมีความเหมือนกับท่านยังคงมีชีวิต และนั่งอยู่บนหนุมาน ถือว่าหนุมานเป็นตัวแทนของความกตัญญู ก็เปรียบเสมือนอาตมาที่ตลอดระยะเวลาที่หลวงพ่อพูลท่านยังมีชีวิติอยู่ อาตมาก็ได้มีการสนองงานของหลวงพ่อพูลในวัดไผ่ล้อมด้วยความตั้งใจมาโดยตลอดและแม้หลวงพ่อพูลท่านได้ละสังขารแล้ว 16 ปี อาตมาก็ยังคงสานต่อภารกิจในวัดไผ่ล้อมอย่างต่อเนื่องเสมอมา ส่วนโลงกระจกที่รูปหล่อท่านอุ้มไว้เป็นการที่แสดงให้เห็นถึงบารมีของท่านที่สังขารไม่มีการเน่าเปื่อย และเนื้อผิวก็ยังคงออกเป็นสีทองอร่ามมากขึ้นทุกปี โดยยังมีเส้นผมที่งอกออกมาด้วย จึงได้ตั้งใจนำมาประดิษฐาน เพื่อให้ประชาชนได้มาเห็นถึงบารมีของหลวงพ่อพูลที่ท่านเป็นครูบาอาจารย์ที่สร้างแต่ความดีมาตลอดการครองชีวิตในร่มกาสาวพัสตร์ และเปิดให้ประชาชนได้เข้ามากราบไหว้ขอพร เพื่อเป็นมงคลชีวิตตลอดไป
         สำหรับ หลวงพ่อพูล เกิดเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2455 ปีชวด ที่บ้านเลขที่ 75 หมู่ที่ 3 ตำบลดอนยายหอม อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม เป็นบุตรคนที่ 6 จากพี่น้อง 10 คน บิดาชื่อ นายจู มารดาชื่อนางสำเนียง นามสกุลปิ่นทอง ในวัยศึกษา ได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนวัดห้วยจระเข้ สำเร็จการศึกษาชั้นประถมปีที่ 4 เมื่อปีพ.ศ.2471 ครูจันทร์ หัวหน้าคณะลิเกคณะแสงทอง ในสมัยนั้น ได้เห็นหน่วยก้านดีจึงได้มาขอนายจูบิดาให้เด็กชายเริ่มมาฝึกฝนวิชาลิเก และแสดงให้เห้นถึงความสามารถเพราะเป็นคนมีความจำดีเยี่ยม แต่ก็ได้มาฝึกวิชาในเวลาไม่นานก็มาพบว่าชอบที่จะเรียนรู้วิชาการต่อสู้แบบลูกผู้ชายและไปฝึกซ้อมเป็นนักมวยไทยจนกลายมาเป็นนักมวยที่มีฝีมือดีคนหนึ่ง ในจังหวัดนครปฐมในช่วงนั้น
          เมื่อเข้าสู่วัยหนุ่มเต็มตัว นายพูลก็ได้จุดประกายใคร่เรียนรู้ ในการเขียนอักขระภาษาขอมและวิชาการแพทย์แผนโบราณ จึงได้เข้าไปฝากตัวเป็นศิษย์ของหลวงปู่แย้ม ปิ่นทอง ผู้เป็นปู่ซึ่งได้รับวิชาจากหลวงปู่จ้อย วัดบางช้างเหนือ หลวงพ่อแช่มวัดตาก้อง และหลวงปู่กลั่น วัดพระประโทนเจดีย์ ซึ่งล้วนเป็นอดีตพระเกจิชื่อดังแห่งเมืองนครปฐม ซึ่งหลวงปู่แย้มยังมีเพื่อนรักอีกคนหนึ่งที่เป็นศิษย์ร่วมสำนักเดียวกัน นั่นคือ นายพรม ด้วงพลู หรือ พ่อพรม จอมขมังเวทย์ แห่งดอนยายหอม ผู้ที่เป็นบิดาของหลวงพ่อเงิน แห่งวัดดอนยายหอม นายพูลจึงได้รับการฝึกฝนวิชาต่างๆมาจากครูบาอาจารย์หลายท่าน
           ในปี พ.ศ.2477 นายพูล อายุครบสู่วัยเกณฑ์ทหาร จึงสมัครเข้ารับราชการในสังกัดทหารม้ารักษาพระองค์ ทันทีที่เสร็จสิ้นเรื่องการรับใช้ชาติ ท่านได้เข้าบรรพชาอุปสมบททดแทนคุณบุพการี เมื่อวันอาทิตย์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ.2480 ขึ้น 12 ค่ำ ปีฉลู ณ พัทธมีมา วัดพระงาม ได้รับฉายา อัตตะรักโข หมายความว่า ผู้รักษาตน ซึ่งท่านได้ไปเข้าฝากตัวเป็นศิษย์เอกของหลวงพ่อพร้อม แห่งวัดพระงาม ซึ่งเลื่องชื่อในการสร้างพระปิดตาเนื้อทองผสม ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในวงการพระเครื่อง คือ พระปิดตา วัดพระงาม และท่านยังได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์ของหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม ซึ่งได้เรียนรู้และศึกษาทางธรรมจนมีจิตใจที่นิ่งสงบ

            ต่อมาในปี พ.ศ.2490 วัดไผ่ล้อมได้ ซึ่งเป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นช่วงที่พระองค์ทรงเกณฑ์ชาวมอญมาเป็นแรงงานในการบูรณะองค์พระปฐมเจดีย์ และมีสถานที่เงียบสงบในการปฏิบัติธรรม จึงได้จัดให้เป็นธรณีสงฆ์ในและมาเป็นวัดไผ่ล้อม ได้ขาดเจ้าอาวาส หลวงพ่อเงิน ท่านได้บอกกับชาวบ้านว่ามีพระอาจารย์รูปหนึ่ง มีการปฏิบัติที่งดงามจำพรรษาอยู่ที่วัดพระงาม ชาวบ้านจึงได้พร้อมใจกันไปกราบนมัสกาลอาราธนาพระอาจารย์พูล ให้ย้ายมาจำพรรษาที่วัดไผ่ล้อม พร้อมกับให้รับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม โดยมีหลวงพ่อเงินคอยเป็นพี่เลี้ยงคอยแนะนำให้การช่วยเหลือ ประสิทธิประสาทวิชาให้จนครบถ้วน หลวงพ่อพูลจึงถือได้ว่าเป็นศิษย์สายตรงของหลวงพ่อเงิน ที่ท่านรักและเมตตาเป็นอย่างยิ่ง

           กระทั่งวันอาทิตย์ ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2548 เวลา 14.55 น. หลวงพ่อพูลได้ละสังขารอย่างสงบ ขณะอายุ 93 ปี ซึ่งเป็นเกิดปรากฏการณ์ 3 มงคล คือตรงกับวันวิสาขบูชาพิธีไหว้ครูบูรพาจารย์และเป็นวันที่ท่านละสังขาร ซึ่งหลังจากมีการจัดพิธีการทางศาสนาได้ครบ 100 วัน พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ (หลวงพี่น้ำฝน) ได้มีการเปิดโลงหีบทอง และเกิดเรื่องอัศจรรย์เมื่อพบว่า ร่างสังขารของหลวงพ่อพูล ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ใบหน้าผิวพรรณของท่านยังเหมือนปกติไม่เน่าเปื่อย หลวงพี่น้ำฝนจึงได้อัญเชิญสังขารของหลวงพ่อพูลบรรจุไว้ในโลงแก้ว ซึ่งทำให้ศิษยานุศิษย์และประชาชนได้กราบไหว้บูชาด้วยความอัศจรรย์จนจวบถึงทุกวันนี้ นับเวลามาถึงตอนนี้ เป็นเวลา 16 ปีเต็ม

             หลวงพ่อพูล ท่านเป็นเกจิอาจารย์ที่มีญาณหยั่งรู้ แต่พูดน้อยและเป็นพระที่มีความเมตตาสูงโดยเฉพาะในกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าที่ทำการค้าขายจะมาให้ท่านจัดทำพิธีเพื่อความเป็นมงคลในการประกอบกิจการ และจะเป็นที่รู้กันว่าหากจะตั้งศาลพระภูมิหลวงพ่อพูลท่านมักจะมีการหยดเทียนน้ำมนต์ลงในอ่างน้ำมนต์ ผู้ที่จัดงานมักจะมาขอดูลายหยดน้ำตาเทียนและนำไปตีเลขได้โชคลาภกันเป็นประจำ หลวงพ่อพูลท่านจึงได้รับมาขนานนามว่า พระผู้เมตตากับพ่อค้าแม่ค้า ตั้งแต่ยุคก่อนถึงจนถึงยุคปัจจุบัน

CATEGORIES
TAGS
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!