ราชบุรี-ผู้บริหารขยะครบวงจร ชี้แจงขอความเป็นธรรม

ราชบุรี-ผู้บริหารขยะครบวงจร ชี้แจงขอความเป็นธรรม

ภาพ/ข่าว:สุจินต์ นฤภัย

ผู้บริหารขยะครบวงจร ชี้แจงขอความเป็นธรรมหลังทำประชาวิจารณ์ผ่าน

   วันที่ 12 มี.ค.63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวิชัย เอี่ยมอ่ำ ผู้บริหาร บจก.ท่าฉาง เอนเนอร์ยี่ โซลูชั่น (ราชบุรี) ผู้ดำเนินโครงการบริหารจัดการขยะมูลฝอยแบบครบวงจร ได้ร้องขอให้ทางผู้สื่อข่าวตรวจสอบข้อเท็จริงกรณี เมื่อวันที่ 8 มี.ค.63 ได้มีการทำประชาวิจารณ์และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่หอประชุม หมู่ที่ 5 บ้านเขาถ่าน อ.ปากท่อ เรื่องโครงการบริหารจัดการขยะมูลฝอยแบบครบวงจร โดยมี นายลือชา วงค์เปลี่ยม ปลัดฝ่ายป้องกัน อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี ซึ่งได้รับมอบจากนายอำเภอปากท่อ ให้เป็นประธานในการทำประชาวิจารณ์ มีประชาชนในพื้นที่เกี่ยวข้องที่อยู่รอบบริเวณโครงการก่อสร้างโรงงานกำจัดขยะ 4 ตำบล ได้แก่ ตำบลดอนทราย, ตำบลหนองกระทุ่ม, ตำบลห้วยยางโทน และตำบลวังมะนาว รวม 13 หมู่บ้าน จำนวน 937 คนที่มาเข้าร่วมในการทำประชาวิจารณ์ในครั้งนี้
  โดยหลังจากการทำประชาวิจารณ์ในการทำความเข้าใจถึงผลประโยชน์ในการสร้างโรงงานกำจัดขยะมูลฝอยและผลิตกระแสไฟฟ้าขนาด 8.00 MW/จำหน่าย 6.0MW ลักษณะโครงการเป็นการแปรรูปขยะมูลฝอยชุมชนเป็นพลังงานไฟฟ้า พื้นที่ตั้งโครงการประมาณ 43 ไร่ ในชุมชนหมู่บ้าน ม.5 ต.ดอนทราย อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี ระยะดำเนินโครงการ พ.ศ.2563-2565 ด้วยงบประมาณดำเนินโครงการ 1,080 ล้านบาท จากการทำประชาวิจารณ์ และได้ขอมติในที่ประชุมด้วยการยกมือเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งเห็นด้วยให้มีการก่อสร้างจำนวน 879 คน ไม่เห็นด้วยจำนวน 47 คน และไม่แสดงความคิดเห็นจำนวน 11 คน แต่หลังมีการลงประชามติในที่ประชุม โดยมีการบันทึกด้วยวีดีโอ/ภาพ และเอกสาร ไว้เป็นหลักฐานทุกขั้นตอน แต่กลับมีรายงานข่าวว่าประชาชนในพื้นที่ มีประชามติไม่เห็นด้วยในการให้ก่อสร้างโครงการดังกล่าว ซึ่งทางบจก.ท่าฉาง เอนเนอร์ยี่ โซลูชัน (ราชบุรี) ผู้ดำเนินโครงการบริหารจัดการขยะมูลฝอยแบบครบวงจร ได้รับความเสียหายจากการเสนอข่าวดังกล่าว จึงร้องขอให้ทางผู้สื่อข่าวร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง เพราะทางบริษัทฯเล็งเห็นว่าอาจมีการเสนอข่าวคลาดเคลื่อนในเรื่องข้อมูลดังกล่าว จึงอยากออกมาชี้แจง เพื่อให้โครงการดังกล่าวไม่เกิดความเสียหาย
    น.ส.วรรณา นะสีโต อายุ 35 ปี ชาวบ้านหมู่ที่ 5 ต.ดอนทราย และชาวบ้านในพื้นที่ที่จะก่อสร้างโครงการจัดการขยะมูลฝอยแบบครบวงจร กล่าวว่า เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าวฯ เพราะสร้างประโยชน์ โดยส่วนตัวอยู่ ม.5 ได้รับข้อมูลว่าจะมีโครงการสร้างโรงงานไฟฟ้าจากขยะ จากที่รับฟังประชาวิจารณ์วันนั้น ฟังแล้วเห็นว่า ถ้าบริษัททำแล้ว และสามารถทำได้ตามที่บริษัทชี้แจงและพูดไว้กับชาวบ้าน เชื่อว่าโครงการนี้จะเป็นประโยชน์มาก เพราะว่าขยะมันเยอะมาก เราอยู่ใกล้ๆอยู่แล้ว และขยะเหมือนยังได้รับการทำลายที่ถูกต้อง ถ้าขยะสามารถนำมาให้เกิดประโยชน์เกิดพลังงาน โดยที่ไม่ต้องมาทิ้งให้สูญเปล่ามาผลิตเป็นพลังงาน น่าจะสร้างประโยชน์ได้มาก แล้วถ้าไม่มีผลกระทบอะไรกับชาวบ้านพื้นที่ในละแวกใกล้เคียง ทำได้ดีจริงๆมันน่าจะเกิดประโยชน์มากกว่า ก็อยากจะฝากถึงบริษัทอยากให้ดูแลชุมชน ทำในสิ่งที่พูดให้ได้จริงๆ และอยากให้ทุกคนเคารพสิทธิ์ในการลงมติในโครงการฯ ถ้าคนไหนเห็นต่างก็ไม่อยากให้ไปว่าอีกฝ่ายที่เห็นด้วย อยากให้เคารพสิทธิ์ซึ่งกันและกัน
    นายวิชัย เอี่ยมอ่ำ ผู้บริหารฯ และ ดร.ปรียาภัทร์ สมใจ ที่ปรึกษาโครงการฯ ได้เปิดเผยว่า เรายังมั่นใจและแน่ใจในรายงานการประชุม เราได้มีการชี้แจงชาวบ้านไปแล้วที่ทำประชาวิจารณ์ทุกครั้ง คือเรามองว่าทุกที่มันมีทั้งข้อดีและโทษ เรารู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น แต่เราสามารถป้องกันได้  เรื่องกลิ่นเรื่องแมลงวันมันมีแน่ แต่เราสามารถจำกัดได้หมด ก่อนที่เราจะปล่อยออก ซึ่งทุกอย่างเราแจ้งไว้ในเอกสารในการทำประชาวิจารณ์ทุกครั้งกับชาวบ้าน ก่อนที่เราจะทำประชาคม เรามีการติดประกาศก่อน 15 วัน รายละเอียดในนั้นเรามีหมดสามารถเข้าไปอ่านดูได้ เชื่อว่าเอกสารตัวนั้นก็ยังอยู่ มั่นใจว่าเราก็ชี้แจงครบถ้วน แล้ววันนั้นก็มีเจ้าหน้าที่ทางราชการกับหน่วยงานที่รับฟังทุกอย่างมา ก็น่าจะยืนยันได้ระดับหนึ่งว่าเราทำถูกต้องทุกอย่าง ตามกฎหมาย และตามระเบียบ กกพ. มีคนยกมือเห็นด้วย 879 ท่าน จาก 937 ท่าน ไม่เห็นด้วย 47 ท่าน งดออกเสียง 11 ท่าน คิดเป็นเปอร์เซนต์ได้ 93.81% และในช่วงระหว่างการลงมติมีการบันทึกด้วยกล้องวีดีโอ 3 ตัว ภาพนิ่ง ไฟล์เสียง ครบทุกอย่าง คือเราทำตามระเบียบของ อบจ. ซึ่งบอกว่าเราต้องทำอะไรบ้าง หลังจากรับฟังร่างประชาพิจารณ์ คือ 1 เลยเหตุผลที่เราต้องยื่นต่อ อบจ. เราก็ทำตามทุกอย่างตามระเบียบ คือการทำเวทีประชาวิจารณ์ครั้งนี้ เราทำเพื่อเสนอตัวเข้าร่วมประมูลโครงการฯ ที่ อบจ. เปิดประมูลอยู่ในระบบ EGP หนึ่งในข้อกำหนดคุณสมบัติผู้ประมูล คือต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามระเบียบของสำนักนายกรัฐมนตรี และ กกพ. ซึ่งมี 2 ระเบียบ ในการทำประฃาพิจารณ์ครั้งนี้ ในระเบียบของ กกพ. คือจะต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ที่ตั้งของโครงการฯใน 3 กิโลเมตร ฉะนั้นประชาชนในระยะ 3 กิโลเมตร มีเสียงมีสิทธิ์เท่าเทียมกันหมดทุกคนว่า จะให้ดำเนินโครงการฯหรือไม่ ซึ่งเมื่อทำเสร็จเราจะรวบรวมเอกสาร ในการประมูลมันจะมีส่วนอื่นๆอีก ก็จะเข้ายื่นเสนอ อบจ. ต่อไป
    นายวิชัย ยังกล่าวอีกว่า วันนี้เราเป็นหนึ่งในผู้ร่วมแข่งขันในระบบ EGP ซึ่งวันนี้ยังไม่ได้ตัดสินว่าเราจะได้หรือไม่ได้ ก็คืออยากขอโอกาสให้เราก่อน ถ้าเกิดเราทำแล้วไม่ดีเราไม่มีปัญหาในการร้องเรียน กฎหมายมันควบคุมอยู่ แต่ตอนนี้เรายังไม่ได้ทำอะไรเลย ให้โอกาสเราได้เริ่ม ได้ชี้แจงก่อนไหม อนาคตถ้ามีโรงงานเกิดขึ้นนโยบายของบริษัท 70% คนงานต้องเป็นคนในพื้นที่มาทำงาน โดยปกติ 3 กะ แรงงานก็จะประมาณ 90 กว่าคน แรงงานคนในพื้นที่ต้องมากกว่า 60 คนอยู่แล้ว และมันมีสัญญาประชาคมบางอย่างว่า เราจะตอบแทนชุมชนอย่างไร เราจะดูแลชาวบ้านอย่างไรในระเบียบมีการชี้แจงไว้ทุกอย่างแล้ว 3 กิโลเมตรได้อะไร 1 กิโลเมตรได้อะไร ในส่วนของกลุ่มคนซึ่งจะมีอยู่ 2 ส่วน ที่ยกมือไม่เห็นด้วย 47 ท่าน และงดออกเสียง 11 ท่าน เราก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ กลุ่มคนเรานี้ บริษัทเราก็ได้เข้าชี้แจง เผื่อเขายังมีข้อสงสัยอะไรเกี่ยวกับการดำเนินโครงการฯ ซึ่งเป็นหน้าที่ของโครงการและบริษัที่จะต้องเข้าไปทำความเข้าใจเพิ่มเติม ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นไปได้ด้วยดีเพราะเราเป็นมิตรกับประชาชนพื้นที่อยู่แล้ว ส่วนชาวบ้านที่อยากรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม ก็สามารถติดต่อมาสอบถามเราได้ที่เบอร์ 081-5504783 หรือที่เบอร์ 083-8979559 ซึ่งเป็นเบอร์ของ ดร.ปรียาภัทร์?  สมใจ ที่ปรึกษาโครงการฯ เรายินดีที่จะตอบข้อสงสัยทุกคำถาม

CATEGORIES
TAGS
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!