ประจวบคีรีขันธ์ – สมาชิกวุฒิสภา ลงพื้นที่ประจวบฯรับฟังความคิดเห็นของประชาชน

ประจวบคีรีขันธ์ – สมาชิกวุฒิสภา ลงพื้นที่ประจวบฯรับฟังความคิดเห็นของประชาชน

ภาพ/ข่าว:กูลเสวก เสวกวรรณกร

เมื่อวันที่ 15 ก.ย. ที่ห้องประชุมชั้น 3 อาคารสถานีวิทยุโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ คณะกรรมการโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนในพื้นที่จังหวัดภาคกลาง นำโดย พลเอก สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง ประธานกรรมการ นายวิทยา ผิวผ่อง พร้อมด้วยคณะสมาชิกวุฒิสภาและคณะอนุกรรมการด้านกิจกรรมและประชาสัมพันธ์ ลงพื้นที่พบปะส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนชุมชน และประชาชนในพื้นที่ จ.ประจวบฯ โดยมี นายคมกริช เจริญพัฒนสมบัติ รองผู้ว่าราชการ จ.ประจวบฯ นายพลกฤต พวงวลัยสิน นายอำเภอหัวหิน นายประธาน สังวรณ์ ผอ.ส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี ให้การต้อนรับ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับภารกิจของวุฒิสภา ตลอดจนนำเสนอกฎหมาย มติคณะรัฐมนตรี หรือประเด็นที่น่าสนใจ พร้อมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาช้างป่า โครงการส่งเสริมพลังงานทดแทน การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน และแนวทางการเสริมสร้างให้ประชาชนตระหนักในหน้าที่ในการพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ โดย กอ.รมน.จังหวัดประจวบฯ ทั้งนี้คณะสมาชิกวุฒิสภาจะนำข้อมูล ข้อเสนอแนะต่างๆที่ได้รับจากการลงพื้นที่ไปสู่การดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจของวุฒิสภาต่อไป โอกาสนี้ คณะกรรมการโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนในพื้นที่จังหวัดภาคกลาง ร่วมกับ คณะอนุกรรมการด้านกิจกรรมและประชาสัมพันธ์ ได้มอบถุงยังชีพเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ผู้แทนประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาช้างป่าบุกรุกพื้นที่การเกษตรในพื้นที่ จ.ประจวบฯ จำนวน 30 ครัวเรือน
จากนั้น คณะสมาชิกวุฒิสภาลงพื้นที่ติดตามและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพประมงพื้นบ้าน ณ บริเวณศาลเจ้าแม่ทับทิม เขตเทศบาลเมืองหัวหิน พร้อมมอบถุงยังชีพให้แก่กลุ่มชาวบ้านชุมชนประมงพื้นบ้านในเขตพื้นที่อำเภอหัวหิน เพื่อลดภาระค่าครองชีพในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จำนวน 20 ครัวเรือน

            โครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชน มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำข้อมูลไปใช้ประกอบการติดตาม เสนอแนะและเร่งรัดการปฏิรูปประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ รวมทั้งการพิจารณากลั่นกรองกฎหมาย ประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พัฒนากฎหมายให้สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทต่างๆที่เปลี่ยนแปลงไป ตลอดจนรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะของประชาชนในพื้นที่ และสะท้อนข้อคิดเห็น หรือข้อเสนอแนะไปสู่การแก้ไขด้วยกลไกของวุฒิสภา โดยมีกลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วยประชาชนในพื้นที่ระดับหมู่บ้าน ตำบล และอำเภอ กลุ่มการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ องค์กรภาคเอกชน รวมถึงสื่อมวลชน ในพื้นที่ 7 ภูมิภาค รวม 76 จังหวัด โดยในส่วนของภาคกลางมีพื้นที่ดำเนินการ 17 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรปราการ กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร.

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!