ลพบุรี-สืบสานประเพณีลงแขกดำนา ท่ามกลางเสียงกลองรำโทนดังก้องท้องทุ่ง

ลพบุรี-สืบสานประเพณีลงแขกดำนา ท่ามกลางเสียงกลองรำโทนดังก้องท้องทุ่ง

ภาพ/ข่าว:กฤษณ์ สนใจ 

            ชาวบ้านร่วมแรงร่วมใจกันสืบสานประเพณีลงแขก ดำนา ปลูกข้าว ในบรรยากาศความสนุกสนาน ด้วยเสียงกลองฉิ่งฉาบบรรเลงเพลงรำวงจากคณะรำโทนมาบรรเลงถึงคันนา สร้างความสุข สนุกสนาน เบิกบาน รอยยิ้มและรักความสามัคคีได้ดีเยี่ยม

            วันที่ 15 สิงหาคม 2565 ชาวบ้านบัวชุม ต.บัวชุม อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี กว่า 50 คนแต่งกายด้วยชุดม่อฮ่อม ชุดทำนา เดินทางไปรวมตัวกันที่ทุ่งนาของวัดสิงหาราม เพื่อร่วมในกิจกรรมการลงแขก ดำนา ปลุกข้าว ซึ่งชาวบ้านทุกคนที่เดินทางไปร่วมกิจกรรมทุกคนล้วนมาด้วยความเต็มใจ และดีใจที่ได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ สืบสาน ประเพณีอันดีงามของไทยให้คงอยู่ ให้ลูกหลานเยาวชนได้เห็นคุณค่าของประเพณี ชาวบ้านทุกคนที่มาต่างหิ้วปิ่นโตใส่ข้าวปลาอาหารมาร่วมรับประทานกันอย่างเอร็ดอร่อย แม้เนื้อตัวใบหน้าจะเปื้อนด้วยดินโคลนแต่เต็มเปี่ยมไปด้วยรอยยิ้ม หลังจากนั้นชาวบ้านเดินลงนา หน้ากระดาน บรรจงปลูกข้าวลงดินอย่างสวยงาม ท่ามกลางเสียงกลอง เสียง ฉิ่งฉาบ สลับเสียงเพลงรำวงชายหญิงบนคันนา ทำให้ชาวบ้านที่ก้มๆเงยๆ ดำนาอยู่ต้องหยุดชั่วครู่ ต่างอดใจไม่ไหว หันมาร่วมร้องเพลง และออกลีลาโยกย้ายส่ายสะโพกกันอย่างสนุกสนานทั่วผืนนา ที่ทางคณะรำโทนประจำหมู่บ้านซึ่งได้ยกวงมาบรรเลงให้ถึงคันนา สร้างสีสันรอยยิ้มเต็มเปี่ยมไปด้วยความสุข

             พระมานะ ปัญญาธโร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสิงหารามวัดเก่าแก่มาแต่โบราณคู่เมืองบัวชุมมาช้านานกล่าวว่า ในกิจกรรมลงแขก ดำนา ปลูกข้าวนั้นเป็นโครงการอารยเกษตร สืบสาน รักษา ต่อยอด ตามแนวพระราชดำหริเศรษฐกิจพอเพียงในพื้นที่ขนาดเล็ก “โคก หนอง นา” ตามศาสตร์พระราชา โดยมีพระครูสุนทร ธรรมทิน เจ้าอาวาสวัดสิงหาราม รองเจ้าคณะอำเภอชัยบาดาล เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ร่วมกับผู้นำชุมชนเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ ชาวบ้าน ตำบลบัวชุม ร่วมกันจัดกิจกรรมนี้ขึ้นมาเป็นปีที่ 2 โดยใช้พื้นที่ดินของวัดสิงหาราม ประมาณ 10 ไร่เศษ ปรับเป็น โคก หนอง นา โมเดล ตามศาสตร์พระราชาตั้งแต่รัชกาลที่ 9 ต่อมาจนถึงรัชกาลที่ 10 ในปัจจุบัน โดยแบ่งพื้นที่เป็นโคกเนินดินปลูกไม้ยืนต้น ขุดหนองเพื่อกักเก็บน้ำ และพื้นที่นาเพื่อทำเกษตรกรรมปลุกข้าว เพื่อเป็นการอนุรักษ์ประเพณีอันเก่าแก่ของหมู่บ้านบัวชุมในการลงแขกดำนา ปลูกข้าว เกี่ยวข้าวไม่ให้สูญหายไป และช่วยกันอนุรักษ์ประเพณีไว้ให้เยาวชนรุ่นหลังๆได้มีโอกาศศึกษาเรียนรู้การทำนาในอดีตที่ผ่านมา ให้เกิดผลในทุกมิติ ทางด้านการพึ่งพาตนเอง กตัญญู พัฒนาจิตใจ พัฒนาทางปัญญาเพื่อเป็นที่พึ่งของชุมชนได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนสืบไป

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!