ศรชล.สายด่วน 1465 จับมือ สพฉ.สายด่วน 1669 เพิ่มประสิทธิภาพ ในการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินในทะเล

ศรชล.สายด่วน 1465 จับมือ สพฉ.สายด่วน 1669 เพิ่มประสิทธิภาพ ในการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินในทะเล

ภาพ/ข่าว:นิราช/นันทพล ทิพย์ศรี 

            ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ลงนามบันทึกความร่วมมือการคุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงระบบการแพทย์ฉุกเฉินทางทะเล เพื่อพัฒนาการแพทย์ฉุกเฉินในทะเล โดยผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินทางทะเล จะได้รับการช่วยเหลือในเบื้องต้น อย่างทันท่วงทีและเป็นไปตามมาตรฐานทางการแพทย์ที่กฎหมายกำหนด สอดคล้องกับหน้าที่ อำนาจ และความรับผิดชอบของ ศรชล.

             วันนี้ (1 สิงหาคม 2565) เวลา 14.30 น. พลเรือเอก เถลิงศักดิ์ ศิริสวัสดิ์ เสนาธิการทหารเรือ ในฐานะเลขาธิการ ศรชล. และเรืออากาศเอก อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการ สพฉ. ได้ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือการคุ้มครองสิทธิ ในการเข้าถึงระบบการแพทย์ฉุกเฉินทางทะเล ณ ห้องรับรอง ชั้น 2 อาคารกองบัญชาการกองทัพเรือ พื้นที่วังนันทอุทยาน โดยมี พลเรือโท ประวิณ จิตตินันทน์ รอง เลขาธิการ ศรชล. พลอากาศตรี เฉลิมพร บุญสิริ กรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน นายไพรฑูรย์ รัตนพรวารีสกุล กรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน นาวาเอก พิสิทธิ์ เจริญยิ่ง รอง เลขาธิการ สพฉ. นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยา รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พลเรือโท สุพพัต ยุทธวงศ์ เจ้ากรมยุทธการทหารเรือ เป็นผู้แทนกองทัพเรือ และผู้แทนต่าง ๆ จากหน่วยงานหลักของ ศรชล. รวมทั้งผู้บริหารระดับสูงของ สพฉ. เข้าร่วมพิธีการลงนามบันทึกความร่วมมือฯ ในวันนี้ พลเรือตรี อิทธิพัทธ์ กวินเฟื่องฟูกุล โฆษก ศรชล. กล่าวว่า ศรชล. เป็นหน่วยงานรูปแบบเฉพาะถูกจัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติ การรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล พ.ศ.2562 ได้บูรณาการหน่วยงานหลัก 7 หน่วยงาน ประกอบด้วย กองทัพเรือ กรมเจ้าท่า กรมประมง กรมศุลกากร กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กองบังคับการตำรวจน้ำ และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ซึ่งเกิดจากกิจกรรมทางทะเลต่าง ๆ อาทิ การพาณิชยนาวี การประมง การท่องเที่ยว การแสวงประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเล การวางสายเคเบิลหรือท่อใต้ทะเล การอนุรักษ์ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางทะเลบริเวณชายฝั่ง การสำรวจและวิจัยวิทยาศาสตร์ทางทะเล รวมถึงการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทางทะเล

              โดยกิจกรรมทางทะเล ดังกล่าว อาจมีเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง เช่น ผู้ปฎิบัติงานกลางทะเลประสบอุบัติเหตุ นักท่องเที่ยวเกิดอาการเจ็บป่วยกำเริบ หรือการเกิดภัยธรรมชาติขึ้น อย่างปัจจุบันทันด่วนในทะเล ซึ่ง ศรชล. จะต้องเป็นหน่วยงานหนึ่งที่เข้าไปช่วยเหลือ ผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินในทะเล เพื่อให้การช่วยเหลือทางการแพทย์ ในเบื้องต้น รวมถึงการส่งต่อทางการแพทย์อย่างทันท่วงที จนเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล การลงนามความร่วมมือการคุ้มครองสิทธิ ในการเข้าถึงระบบการแพทย์ฉุกเฉินทางทะเล จึงมีวัตถุประสงค์ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการฉุกเฉิน และบูรณาการความร่วมมือระหว่าง ศรชล. และ สพฉ. ซึ่งจะร่วมมือกันดำเนินการเกี่ยวกับการปฏิบัติการฉุกเฉิน การคุ้มครองสิทธิ ในการเข้าถึงระบบการแพทย์ฉุกเฉินอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม มีคุณภาพมาตรฐาน รวมทั้งให้เกิดความพร้อม ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล ผู้ปฏิบัติงาน ผู้โดยสารในยานพาหนะ ผู้ป่วยฉุกเฉินที่เจ็บป่วย หรือได้รับอุบัติเหตุทางทะเล หรือจำเป็นต้องใช้ระบบการลำเลียงหรือขนส่งทางทะเล ให้ได้รับการบริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินที่ดีมีคุณภาพ อีกทั้งเป็นการส่งเสริมการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินให้มีประสิทธิภาพและได้มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งกำหนดขั้นตอนสนับสนุนการปฏิบัติการแพทย์ การปฏิบัติการอำนวยการความร่วมมือตามอำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบในการดำเนินการ ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด และสอดคล้องกับหน้าที่ อำนาจ ความรับผิดชอบของ ศรชล.
“ศรชล.ทุกนายมุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถ ด้วยความรัก ความสามัคคี ความวิริยะอุตสาหะ ด้วยสติรู้ตัว ปัญญารู้คิด เพื่อผลประโยชน์ทางทะเลแก่ประชาชน และประเทศชาติอย่างเต็มเปี่ยม”

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!