ศรีสะเกษ-ผอ.รพ.ศรีสะเกษห่วงใยผู้ป่วยโรคกระดูกและข้อจัดประชุมวิชาการ

ศรีสะเกษ-ผอ.รพ.ศรีสะเกษห่วงใยผู้ป่วยโรคกระดูกและข้อจัดประชุมวิชาการ

ภาพ / ข่าว ศิริเกษ หมายสุข ผู้สื่อข่าวประจำ จ. ศรีสะเกษ

             ผอ.รพ.ศรีสะเกษห่วงใยผู้ป่วยโรคกระดูกและข้อจัดประชุมวิชาการเพื่อให้กลุ่มประชาชนมีความรู้เพื่อป้องกันดูแลตนเองได้ถูกต้อง และบุคลากรด้านสาธารณสุข ได้รับการพัฒนาด้านความรู้อย่างต่อเนื่องเพื่อจะสามารถดูแลผู้ป่วยได้ถูกต้องและก่อให้เกิดประโยชน์กับผู้ป่วยให้มากที่สุด

               เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ รพ.ศรีสะเกษ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ นพ.ชลวิทย์ หลาวทอง ผอ.รพ.ศรีสะเกษ เปิดเผยว่า รพ.ศรีสะเกษ ร่วมกับสมาคมออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทยได้เล็งเห็นความสำคัญในการสูญเสียทางเศรษฐกิจ สังคม และการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยที่เป็นโรคกระดูกพรุนและโรคข้อเสื่อม หรือผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดโรค โดยผู้ป่วยที่มีกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุนพบว่ามีคุณภาพชีวิตที่ลดลง และมีอายุสั้นกว่าผู้สูงอายุที่อายุเท่ากัน และจากข้อมูลภาวะแทรกซ้อนภายหลังกระดูกสะโพกหักจากโรคกระดูกพรุน พบว่าร้อยละ 14.7 ของผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักจากโรคกระดูกพรุนเสียชีวิตภายใน 6 เดือน และพบว่าภายหลังรักษา 6 เดือน ประมาณครึ่งหนึ่งสามารถเดินได้เอง นอกนั้นต้องใช้เครื่องช่วยเดินหรือนอนติดเตียง ส่วนโรคข้อเสื่อม เป็นภาวะที่พบได้บ่อย พบมากในข้อใหญ่ๆ และข้อที่รองรับน้ำหนัก ส่วนมากมักเกิดในข้อเข่า เกิดจากการที่ข้อต่อต้องเคลื่อนไหวและรับน้ำหนักต่อเนื่องสะสมเป็นระยะเวลานาน ทำให้เกิดการสึกหรอของกระดูกอ่อนผิวข้อ มีอาการข้ออักเสบ บวม แดง ร้อน เจ็บข้อ และเคลื่อนไหวติดขัด ตามระดับความรุนแรงของโรค แต่ปัจจุบันพบโรคข้อเข่าเสื่อมในคนที่อายุน้อยลง ซึ่งคนกลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมก่อนวัยได้

            นพ.ชลวิทย์ หลาวทอง ผอ.รพ.ศรีสะเกษ เปิดเผยต่อไปว่า ตนมีความห่วงใยประชาชนที่ป่วยเป็นโรคกระดูกพรุนและโรคข้อเสื่อมหรือผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดโรคเป็นอย่างมาก ดังนั้น เมื่อเร็ว ๆ นี้ รพ.ศรีสะเกษจึงได้ร่วมกับสมาคมออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย ได้จัดการอบรมวิชาการ“โครงการพ้อกันวันกระดูกและข้อโรงพยาบาลศรีสะเกษ ปี 2565” ขึ้นที่ห้องประชุมปีบทอง คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎ ศรีสะเกษ จ.ศรีสะเกษ โดยได้รับเกียรติจาก นายนพ พงศ์ผลาดิสัย รอง ผวจ.ศรีสะเกษ เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรม โดยคณะวิทยากรนำโดย พล.ต.ศ.นพ.ทิพชาติ บุณยรัตพันธุ์ ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ ประกอบด้วยแพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจากโรงพยาบาล ศรีสะเกษ โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล รวมทั้งภาคประชาชน รวมทั้งสิ้น 200 คน ทั้งนี้ เพื่อให้กลุ่มประชาชนมีความรู้เพื่อป้องกันดูแลตนเองได้ถูกต้อง และบุคลากรด้านสาธารณสุข ได้รับการพัฒนาด้านความรู้อย่างต่อเนื่องเพื่อจะสามารถดูแลผู้ป่วยได้ถูกต้องและก่อให้เกิดประโยชน์กับผู้ป่วยให้มากที่สุด ส่งเสริมให้เกิดมาตรฐานทางด้านการรักษาพยาบาล และเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องการเกิดโรคตลอดจนวิธีป้องกันไม่ให้เกิดโรคแก่ประชาชนทั่วไป อันจะทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ของภารกิจหลักที่จะสร้างองค์กรเป็นโรงพยาบาลตติยภูมิขั้นสูงที่ได้มาตรฐาน เพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชน สมดังวิสัยทัศน์ของโรงพยาบาลที่ได้ตั้งไว้

            นายนพ พงศ์ผลาดิสัย รอง ผวจ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า ตนขอชื่นชมโรงพยาบาลศรีสะเกษที่ได้ร่วมกับสมาคมออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทยได้มีความตั้งใจที่จะพัฒนาการบริการให้ได้มาตรฐาน มีความทันสมัย และเท่าทันเทคโนโลยีที่ก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า สัดส่วนของประชากรเด็ก ประชากรวัยทำงาน และผู้สูงอายุ มีการเปลี่ยนแปลง ในปี พ.ศ. 2564 สัดส่วนของประชากรวัยเด็กจะลดลงเหลือเพียงร้อยละ 18.4 วัยทำงานคิดเป็นร้อยละ 64.12 และวัยชราจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 18.24 ของประชากรทั้งหมด โดยภายในเวลา 10 ปี สัดส่วนของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 12.68 เป็นร้อยละ 18.24 และแนวโน้มนี้จะเพิ่มขึ้นตามลำดับในอนาคตจากอายุที่ยืนขึ้น สิ่งที่ตามมาคือโรคภัยไข้เจ็บ โดยเฉพาะโรคกระดูกพรุนและข้อเสื่อมซึ่งเป็นภัยเงียบและพบมากในผู้สูงอายุ ทำให้โรคกระดูกพรุนและข้อเสื่อมจะเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทยในอนาคต เนื่องจากผู้สูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากบริการทางสาธารณสุขที่ดีขึ้น และเชื่อว่าในอีก 50 ปีข้างหน้า อุบัติการณ์ของกระดูกหักจากโรคกระดูกพรุนจะเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าของปัจจุบัน ซึ่งวิธีการรักษาในปัจจุบันมีผลเพียงแค่หยุดยั้งการสูญเสียมวลกระดูก รักษาอาการกระดูกหัก และรักษาอาการข้อเสื่อมเท่านั้น หากประชาชนสามารถรู้วิธีในการป้องกันและชะลอภาวะกระดูกพรุนและภาวะข้อเสื่อม รวมทั้งบุคลากรสาธารณสุขมีความรู้ในการดูผู้ป่วยกลุ่มนี้จะทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนที่ดีขึ้น ตนหวังว่า เมื่อสิ้นสุดการอบรมในครั้งนี้ ผู้ที่เข้ารับการอบรมคงจะได้รับประโยชน์จากการฟังบรรยาย สามารถนำความรู้ไปใช้ในการดูแลและเผยแพร่ความรู้แก่ผู้ป่วยและประชาชนได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งภาคประชาชนสามารถนำความรู้ที่ได้ไปใช้ประโยชน์ในการดูแลสุขภาพตนเอง ครอบครัว เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดโรคและปฏิบัติตัวได้เหมาะสมหากเป็นโรคแล้ว สมดังที่ผู้จัดการประชุมได้ตั้งเป้าหมายไว้ทุกประการ

 

CATEGORIES
Share This

COMMENTS

error: Content is protected !!